อินโดนีเซีย-มาเลเซียเล็งอาเซียนหารือสถานการณ์เมียนมา

จาการ์ตา 5 ก.พ. – ผู้นำอินโดนีเซียและมาเลเซียระบุว่า ทั้งสองประเทศกำลังหาโอกาสจัดการประชุมวาระพิเศษของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมา ซึ่งเกิดเหตุรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ของอินโดนีเซีย หรือเป็นที่รู้จักกันในชื่อ โจโกวี กล่าวภายหลังจากพบปะหารือกับนายกรัฐมนตรีมูห์ยิดดิน ยัสซิน ของมาเลเซียว่า จะขอให้กระทรวงต่างประเทศของทั้งสองประเทศติดต่อขอคุยกับบรูไน ซึ่งขณะนี้เป็นประธานหมุนเวียนของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน เพื่อจัดการประชุมวาระพิเศษเพื่อหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเมียนมา ขณะที่ผู้นำมาเลเซียระบุว่า การก่อเหตุรัฐประหารของกองทัพเมียนมาทำให้กระบวนการประชาธิปไตยถอยหลังไปหนึ่งก้าว การจัดประชุมในลักษณะดังกล่าวถือเป็นเรื่องที่ไม่เกิดบ่อยนักและท้าทาย อย่างไรก็ดี อาเซียนมีนโยบายไม่แทรกแซงปัญหาภายในของประเทศสมาชิกและไม่แสดงท่าทีขัดแย้งกับการยึดอำนาจของกองทัพ แต่ระบุว่าจะคอยติดตามสถานการณ์ในเมียนมาอย่างใกล้ชิด ประธานาธิบดีโจโกวียังได้กล่าวถึงปัญหามาตรการกีดกันน้ำมันปาล์มที่อินโดนีเซียและมาเลเซียกำลังเผชิญอยู่ว่า ทั้งสองประเทศ ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันปาล์มในอันดับต้น ๆ ของโลกมีความเหมาะสมที่จะทำงานร่วมกันเพื่อต่อสู้กับมาตรการกีดกันน้ำมันปาล์ม ขณะที่นายกรัฐมนตรีมูห์ยิดดินระบุว่า มาตรการระงับนำเข้าน้ำมันปาล์มในทวีปยุโรปเป็นการให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับอุตสาหกรรมนี้ นอกจากนี้ ผู้นำของทั้งสองประเทศยังกล่าวว่า จะหารือเกี่ยวกับข้อตกลงเพิ่มเติมในการเดินทางอย่างเป็นทางการและการเดินทางเพื่อธุรกิจระหว่างทั้งสองประเทศในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 และเน้นย้ำถึงความสำคัญของกฎหมายระหว่างประเทศในทะเลจีนใต้ ตลอดจนประเด็นเกี่ยวกับชาวโรฮิงญาที่อพยพเข้ามาอยู่ในอินโดนีเซียและมาเลเซีย.-สำนักข่าวไทย

มาเลเซียประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินสกัดโควิด

กัวลาลัมเปอร์ 12 ม.ค. –  สมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลเลาะห์ ชาห์ กษัตริย์แห่งมาเลเซียทรงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศเพื่อควบคุมการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 หลังจากที่ทรงเห็นด้วยกับคำร้องของนายกรัฐมนตรีมูห์ยิดดิน ยัสซิน ของมาเลเซีย แถลงการณ์ของสำนักพระราชวังมาเลเซียระบุว่า ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวมีผลบังคับใช้ไปจนถึงวันที่ 1 สิงหาคมนี้ หรืออาจจะสิ้นสุดเร็วกว่านั้นโดยขึ้นอยู่กับว่ามาเลเซียจะสามารถควบคุมการระบาดของโรคโควิดได้หรือไม่ นายกรัฐมนตรีมูห์ยิดดินเป็นผู้ถวายคำร้องให้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อควบคุมยอดผู้ป่วยติดเชื้อ และสมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลเลาะห์ ชาห์ทรงเห็นว่าสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 ในมาเลเซียเข้าขั้นรุนแรง จึงจำเป็นที่จะต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ขณะนี้ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของชาวมาเลเซียอย่างไร แต่รัฐธรรมนูญได้อนุญาตให้เลื่อนการเปิดสมัยประชุมรัฐสภาในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งจะทำให้สถานะความไม่แน่นอนทางการเมืองของนายกรัฐมนตรีมูห์ยิดดินยุติลงไปอย่างน้อยระยะหนึ่ง ทั้งนี้ อำนาจของผู้นำมาเลเซียตกอยู่ในภาวะสั่นคลอนนับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเดือนมีนาคมปีก่อน เนื่องจากเป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ และพรรคร่วมรัฐบาลเรียกร้องให้เขาลาออกและจัดการเลือกตั้งก่อนกำหนด มาเลเซียทำสถิติผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่สูงสุดเมื่อสัปดาห์ก่อน โดยพบผู้ป่วยติดเชื้อรายวันทะลุ 3,000 คนเป็นครั้งแรก ขณะนี้มาเลเซียมียอดผู้ป่วยติดเชื้อสะสมกว่า 138,000 คน และผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 555 คน.-สำนักข่าวไทย

1 2
...