คาดไซโคลน “โมคา” จะขึ้นฝั่งบังกลาเทศ-เมียนมา 13:30 น.วันนี้

ค็อกซ์บาซาร์ 14 พ.ค.- เจ้าหน้าที่พยากรณ์ว่า ไซโคลนโมคา (Mocha) จะขึ้นฝั่งพื้นที่ที่อยู่ระหว่างเมืองค็อกซ์บาซาร์ของบังกลาเทศกับเมืองซิตตเว รัฐยะไข่ของเมียนมาราวเวลา 13:30 น.วันนี้ตามเวลาไทย เว็บไซต์ซูมเอิร์ธ (Zoom Earth) รายงานว่า ไซโคลนโมคามีความเร็วลมสูงสุด 240 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จัดเป็นซูเปอร์ไซโคลน ทางการบังกลาเทศอพยพคน 190,000 คนในเมืองค็อกซ์บาซาร์และอีก 100,000 คนในเมืองจิตตะกองไปยังพื้นที่ปลอดภัย เมืองค็อกซ์บาซาร์เป็นที่ตั้งของค่ายผู้ลี้ภัยจำนวนมากที่มีชาวโรฮีนจาลี้ภัยอยู่ร่วมล้านคน ค่ายเหล่านี้ตั้งอยู่ตามเชิงเขาที่เสี่ยงเกิดดินถล่ม และสร้างขึ้นอย่างลวก ๆ ด้วยผ้าใบกันน้ำและไม้ไผ่ เพราะทางการเกรงว่าหากสร้างถาวรผู้ลี้ภัยจะไม่เดินทางกลับเมียนมา หลังจากหนีมาตั้งแต่ 5 ปีก่อน ด้านชาวโรฮีนจาที่อาศัยอยู่ในค่ายผู้พลัดถิ่นในเมืองซิตตเว รัฐยะไข่ ทางตะวันตกสุดของเมียนมาก็เสี่ยงภัยจากไซโคลนโมคาเช่นกัน แกนนำในค่ายเผยว่า ทางการไม่ได้อพยพพวกเขาไปยังสถานที่ปลอดภัย โดยจัดหาให้เพียงอาหารและสิ่งจำเป็นเท่านั้น พวกเขากังวลว่าจะตกอยู่ในอันตรายหากระดับน้ำในแม่น้ำเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ชาวเมืองซิตตเวพากันอพยพขึ้นสู่ที่สูงตั้งแต่วันเสาร์ เพราะมีคำพยากรณ์เตือนว่า อาจเกิดคลื่นพายุซัดฝั่งหรือสตอร์มเซิร์จสูงถึง 3.5 เมตร ด้านนครย่างกุ้งที่อยู่ห่างออกไป 500 กิโลเมตรมีฝนตกและลมแรงแล้วในวันนี้ ไซโคลนเป็นพายุหมุนเขตร้อนที่เกิดขึ้นในมหาสมุทรอินเดียด้านทะเลอันดามันและอ่าวเบงกอล เทียบเท่ากับไต้ฝุ่นที่เกิดขึ้นทางตะวันตกเฉียงเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิก และเฮอริเคนที่เกิดขึ้นทางเหนือของมหาสมุทรแอตแลนติก.-สำนักข่าวไทย

ยูเอ็นเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติจากไซโคลน “โมคา”

นิวยอร์ก 13 พ.ค.- หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของสหประชาชาติหรือยูเอ็น (UN) กำลังเตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นจากการที่ไซโคลนโมคา (Mocha) จะพัดถล่มบังกลาเทศและเมียนมาราวเที่ยงวันอาทิตย์นี้ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐานหรือไอโอเอ็ม (IOM) แจ้งว่า ไซโคลนโมคากำลังมุ่งหน้าตรงไปยังค่ายผู้ลี้ภัยในบังกลาเทศ เจ้าหน้าที่ไอโอเอ็มเผยจากเมืองค็อกบาซาร์ที่มีผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาเกือบล้านคนอาศัยตามค่ายต่าง ๆ เผยว่า บังกลาเทศมีแผนความเตรียมพร้อมขนานใหญ่ไว้แล้ว โดยมีไอโอเอ็มเข้าร่วมด้วย ค่ายผู้ลี้ภัยแต่ละค่ายจะมีอาสาสมัครที่ผ่านการฝึกอบรมแล้วคอยดูแล 100 คน และมีการใช้ระบบเตือนภัยด้วยธงในค่ายผู้ลี้ภัย 17 แห่งที่ไอโอเอ็มดูแลอยู่ อาสาสมัครทุกคนมีชุดอุปกรณ์ป้องกันตัวส่วนบุคคล และมีการจัดเตรียมชุดสุขอนามัยและอุปกรณ์ที่พักฉุกเฉินไว้พร้อม ด้านองค์การอนามัยโลกแจ้งว่า ได้เตรียมพร้อมรถฉุกเฉิน 40 คัน และทีมแพทย์เคลื่อนที่ 33 ทีมไว้ที่ค็อกซ์บาซาร์แล้ว เช่นเดียวกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งยูเอ็นหรือยูเอ็นเอชซีอาร์ (UNHCR) ที่ได้จัดเตรียมอาหารแห้ง 230 ตัน และบิสกิตเสริมสารอาหาร 24.5 ตัน รวมทั้งเตรียมพร้อมจัดส่งอาหารร้อนวันละ 50,000 ชุดในกรณีที่จำเป็น ด้านสำนักงานมนุษยธรรมยูเอ็นแจ้งว่า ชุมชนในเมียนมาได้รับแจ้งให้เตรียมตัวรับมือไซโคลนโมคา และมีการประกาศใช้แผนเตรียมพร้อมรับมือเหตุฉุกเฉินด้านมนุษยธรรมทั่วทั้งเมียนมาแล้วตั้งแต่ต้นสัปดาห์ องค์กรมนุษยธรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัฐยะไข่ได้ตระเตรียมบุคลากรและสิ่งจำเป็นเท่าที่สามารถหาได้ ปัจจุบันมีคนในรัฐยะไข่และภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเมียนมาต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมมากถึง 6 ล้านคน และมีคนพลัดถิ่นประมาณ 1 ล้าน […]

บังกลาเทศอพยพหนี “โมคา” ไซโคลนรุนแรงที่สุดในรอบ 20 ปี

บังกลาเทศเตรียมอพยพผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาออกจากพื้นที่เสี่ยงภัย เนื่องจากไซโคลนโมคา (Mocha) ที่มีความรุนแรงที่สุดในรอบเกือบ 2 ทศวรรษกำลังมุ่งหน้ามายังบังกลาเทศและเมียนมา

ผู้นำอินโดฯ ยอมรับแผนสันติภาพเมียนมาไม่คืบหน้า

ลาบวน บาโจ 11 พ.ค.- ประธานาธิบดีโจโก วิโดโดของอินโดนีเซียยอมรับว่า อาเซียนไม่มีความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญเรื่องการปฏิบัติตามแผนสันติภาพเพื่อยุติเหตุนองเลือดในเมียนมา ประธานาธิบดีวิโดโดกล่าวในวันนี้ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการประชุมสุดยอดสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนที่เมืองลาบวน บาโจบนเกาะฟลอเรสเป็นเวลา 3 วันว่า อาเซียนจำเป็นต้องมีความเป็นเอกภาพเพื่อเดินหน้าในเรื่องนี้ แหล่งข่าวทางการทูตเผยกับเอเอฟพีเมื่อวันพุธว่า สมาชิกบางประเทศในที่ประชุมสุดยอดเสนอแนะให้อาเซียนเชิญตัวแทนเมียนมาเข้าร่วมการประชุมระดับสูงอีกครั้ง หลังจากห้ามเข้าร่วมเพราะเมียนมาไม่ปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ประการที่เมียนมาเห็นพ้องกับอาเซียนตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 สองเดือนหลังจากกองทัพเมียนมารัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือน อีกทั้งรัฐบาลทหารเมียนมายังไม่ยอมเจรจากับฝ่ายต่อต้าน แม้อาเซียนดำเนินความพยายามหลายครั้ง เอเอฟพีรายงานว่า ร่างแถลงการณ์ปิดการประชุมฉบับล่าสุดยังคงเว้นว่างย่อหน้าที่เกี่ยวกับเมียนมา สะท้อนว่าที่ประชุมยังไม่ได้ข้อสรุปในเรื่องนี้.-สำนักข่าวไทย

ผู้นำอินโดฯ ขอให้อาเซียนเป็นเอกภาพ

ลาบวน บาโจ 10 พ.ค.- ประธานาธิบดีโจโก วิโดโดของอินโดนีเซียเรียกร้องให้สมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนมีความเป็นเอกภาพ ในขณะที่อาเซียนเผชิญกระแสกดดันหนักขึ้นให้ยุติความรุนแรงในเมียนมา ประธานาธิบดีวิโดโดกล่าวเปิดการประชุมสุดยอดอาเซียนที่เมืองลาบวน ลาโจ บนเกาะฟลอเรส ทางตะวันออกของประเทศในวันนี้ว่า เขามั่นใจว่าอาเซียนจะสามารถรับมือกับความท้าทายระดับโลกที่เพิ่มมากขึ้น และจะสามารถแสดงบทบาทสำคัญในการสร้างสันติภาพและการเติบโต หากสมาชิกทั้ง 10 ประเทศมีความเป็นเอกภาพ ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศและผู้นำอาเซียนที่อินโดนีเซียระหว่างวันที่ 9-11 พฤษภาคมจะหาทางทำให้เกิดการปฏิบัติตามแผนฉันทามติ 5 ประการที่อาเซียนและเมียนมาเห็นพ้องกันตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 หลังจากความพยายามทำให้รัฐบาลทหารเมียนมาและฝ่ายต่อต้านเปิดการเจรจาเพื่อยุติความรุนแรง ล้มเหลวมาแล้วหลายครั้ง เมียนมาไม่ได้เข้าร่วมการประชุมแต่ยังคงเป็นสมาชิกอยู่ หลายฝ่ายคาดหวังว่า การที่อินโดนีเซียเป็นประธานอาเซียนปีนี้จะช่วยผลักดันให้เกิดทางออกที่สันติ เนื่องจากอินโดนีเซียมีอิทธิพลทางเศรษฐกิจและมีประสบการณ์ทางการทูต นางเรตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซียกล่าวเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคมว่า จะใช้ “การทูตแบบเงียบ” ในการพูดคุยกับทุกฝ่ายในเมียนมา และกระตุ้นให้เกิดความพยายามสร้างสันติภาพครั้งใหม่ อย่างไรก็ดี รัฐมนตรีอาวุโสคนหนึ่งของอินโดนีเซียกล่าวเมื่อวานนี้ว่า อาเซียนกำลังยืนอยู่บนทางแยก และเสี่ยงที่จะกลายเป็นกลุ่มที่ไร้ความสำคัญ หากไม่สามารถจัดการกับสถานการณ์ในเมียนมาและประเด็นฉุกเฉินอื่น ๆ ในระดับภูมิภาค.-สำนักข่าวไทย

กลุ่มสิทธิอ้างทหารเมียนมาใช้ “ระเบิดสุญญากาศ” ถล่มหมู่บ้าน

ฮิวแมนไรท์วอทช์อ้างว่า กองทัพเมียนมาใช้ระเบิดสุญญากาศในปฏิบัติการโจมตีทางอากาศกับหมู่บ้านแห่งหนึ่ง เมื่อเดือนเมษายน ที่มีข่าวว่ามีคนเสียชีวิตราว 170 คน จึงเข้าข่ายก่ออาชญากรรมสงคราม

ประชุมสุดยอดอาเซียนจะเน้นเรื่องเมียนมา

ลาบวน บาโจ 9 พ.ค.- การประชุมสุดยอดสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนที่อินโดนีเซียในสัปดาห์นี้จะเน้นเรื่องเมียนมาเป็นหลัก หลังจากมีข่าวกองทัพเมียนมาสังหารคนในหมู่บ้านกว่าร้อยคน และเกิดเหตุโจมตีขบวนรถนักการทูตอาเซียน การประชุมสุดยอดอาเซียน 9-11 พฤษภาคมจะมีขึ้นที่เมืองลาบวน บาโจ บนเกาะฟลอเรส รัฐมนตรีต่างประเทศและผู้นำอาเซียนจะเดินหน้าความพยายามทำให้เกิดการปฏิบัติตามแผนฉันทามติ 5 ประการที่อาเซียนและเมียนมาเห็นพ้องกันตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 เนื่องจากความพยายามทำให้รัฐบาลทหารเมียนมาเจรจากับฝ่ายต่อต้านเพื่อยุติความรุนแรงที่เกิดขึ้นตั้งแต่กองทัพรัฐประหารในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ล้มเหลวมาแล้วหลายครั้ง อาเซียนเผชิญกระแสเรียกร้องให้ดำเนินการอย่างจริงจังมากยิ่งขึ้น หลังจากกองทัพเมียนมาใช้ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศกับหมู่บ้านแห่งหนึ่งในฐานที่มั่นของกลุ่มกบฏชาติพันธุ์เมื่อเดือนเมษายน มีรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 170 คน ล่าสุดเกิดเหตุขบวนรถนักการทูตและเจ้าหน้าที่ประสานงานด้านบรรเทาทุกข์ในเมียนมาถูกโจมตีในรัฐฉาน ทางตะวันออกของเมียนมาเมื่อวันอาทิตย์ มีรายงานว่ามีนักการทูตอินโดนีเซียและสิงคโปร์รวมอยู่ในขบวนนี้ด้วย แต่ยังไม่มีรายละเอียดเพิ่มเติม.-สำนักข่าวไทย

คาดวิกฤติเมียนมาจะเป็นประเด็นหลักในการประชุมผู้นำอาเซียน

วิกฤตการณ์ทางการเมืองในเมียนมาน่าจะบดบังประเด็นอื่น ๆ ที่อยู่ในวาระการประชุมสุดยอดของผู้นำอาเซียนที่อินโดนีเซียในสัปดาห์นี้ ในขณะที่สมาชิกอาเซียนออกมาเรียกร้องใหม่ให้ยุติการใช้ความรุนแรงในเมียนมา

อินโดนีเซียใช้การทูตเงียบในการแก้วิกฤติในเมียนมา

รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซียกล่าววันนี้ว่า อินโดนีเซียกำลังใช้ ‘นโยบายการทูตเงียบ’ (Quiet Diplomacy) ในการพูดคุยกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในเมียนมาและกระตุ้นให้เกิดความพยายามในการสร้างสันติภาพครั้งใหม่ในเมียนมา ที่ถูกรุมเร้าด้วยเหตุรุนแรง

เมียนมาอภัยโทษนักโทษที่ต่อต้านกองทัพกว่า 2 พันราย

รัฐบาลทหารเมียนมาประกาศวันนี้ว่า จะให้อภัยโทษนักโทษ 2,153 ราย ที่ถูกคุมขังภายใต้กฎหมายที่เอาผิดกับผู้ที่มาความเห็นต่างและต่อต้านกองทัพเมียนมา

ยูเอ็นชี้ญี่ปุ่นควรคว่ำบาตรเมียนมา

โตเกียว 28 เม.ย.- ผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติหรือยูเอ็น (UN) ชี้ว่า ญี่ปุ่นควรคว่ำบาตรเมียนมาเช่นเดียวกับที่คว่ำบาตรรัสเซียเรื่องรุกรานยูเครน และได้ประณามเมียนมาว่าป่าเถื่อนและกดขี่ประชาชน นายโทมัส แอนดรูว์ส ผู้รายงานพิเศษยูเอ็นเรื่องสิทธิมนุษยชนในเมียนมากล่าวกับผู้สื่อข่าว หลังจากเสร็จสิ้นการตระเวนพบกับเจ้าหน้าที่ภาครัฐและเอกชนของญี่ปุ่นว่า สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเมียนมาน่ากลัวและเลวร้ายลง ขอเรียกร้องให้ญี่ปุ่นพิจารณาเรื่องร่วมกับประเทศอื่น ๆ ในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศหรือจี 7 (G7) ใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจอย่างเจาะจงกับกองทัพเมียนมาและแหล่งรายได้หลักของเมียนมา ดังที่ญี่ปุ่นกำลังใช้กับรัสเซียในวิกฤตยูเครน เพราะการคว่ำบาตรจะทำให้รัฐบาลทหารเมียนมาถูกลดทอดศักยภาพในการทำร้ายประชาชน ญี่ปุ่นได้ระงับโครงการความช่วยเหลือโครงการใหม่ ๆ หลังจากกองทัพเมียนมารัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลนางออง ซาน ซู จี ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 แต่ไม่มีผลต่อโครงการที่ยังดำเนินอยู่ กระทรวงกลาโหมญี่ปุ่นแถลงเมื่อเดือนกันยายน 2565 ว่า ได้ยุติการรับสมัครคนเข้าโครงการฝึกฝนทหารเมียนมาแล้ว แต่นายแอนดรูว์สได้ขอให้ญี่ปุ่นยุติโครงการโดยทันที ไม่เช่นนั้นกองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่นจะถูกโยงกับระบอบทหารที่โหดร้าย เพราะทหารเมียนมาที่รับการฝึกสู้รบและเรียนรู้การเป็นทหารและผู้บังคับบัญชาที่มีประสิทธิภาพจะกลับไปรับใช้กองทัพที่ก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติและอาชญากรรมสงคราม ผู้รายงานพิเศษยูเอ็นฯ ขอให้ญี่ปุ่นนำงบประมาณสำหรับโครงการช่วยเหลือโครงการใหม่ ๆ ที่ถูกระงับไปแล้ว ไปใช้สนับสนุนโครงการปันส่วนอาหารให้แก่ผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาที่อาศัยอยู่ในบังกลาเทศราว 1 ล้านคน ผู้ลี้ภัยเหล่านี้ส่วนใหญ่อพยพมาหลังจากกองทัพเมียนมายกกำลังไปปราบปรามในปี 2560 โครงการปันส่วนอาหารถูกตัดลดงบประมาณไปแล้วร้อยละ 17 ในเดือนมีนาคม และกำลังจะถูกลดลงอีกร้อยละ 20 ซึ่งจะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อเด็ก ๆ […]

1 26 27 28 29 30 127
...