รัฐสภา 25 เม.ย.-กมธ.มั่นคง ถกสถานการณ์เมียนมา “โรม” ขอ รัฐบาลดำเนิน 3 ขั้นตอน สร้างสันติภาพ ประชาธิปไตยในเมียนมา ให้ความช่วยด้านมนุษยธรรม
นายรังสิมันต์ โรม สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการทหารและความมั่นคงของรัฐ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวก่อนการประชุม คณะกมธ.เพื่อหารือถึงสถานการณ์การสู้รบในเมียนมาว่า วันนี้ข้อห่วงใย คือ เราต้องติดตามความคืบหน้า เนื่องจากหน่วยงานที่เชิญมาหารือ เป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการหามาตรการรองรับ กรณีมีผู้ภัยสงครามข้ามมายังประเทศไทย เพื่อเตรียมรับมือกับความขัดแย้งที่อาจเกิดการบานปลาย
นายรังสิมันต์กล่าวว่า ต้องไปดูว่าประเทศไทยจะมีบทบาทอย่างไร ทั้งทางตรง และทางอ้อม กับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในเมียนมา ซึ่งอาจมีการพูดคุยว่าในอนาคตจะมีหนทางอย่างไร ที่ประเทศไทยจะเป็นตัวกลางสำคัญนำมาซึ่งสันติภาพของประเทศเมียนมาได้ ขณะเดียวกัน เรื่องดังกล่าว เรามีการดำเนินการมานานแล้ว ซึ่งประชุมกันตั้งแต่การจัดสัมมนา เชิญกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ไปพูดคุย เพื่อมีมุมมองที่มากกกว่ากระทรวงการต่างประเทศ ดังนั้น ตนจะรับฟังปัญหาอย่างรอบด้าน และจะมีความเห็นต่อไป ว่าประเทศไทยควรวางตัวอย่างไร
ส่วนปัญหาหากมีความขัดแย้งเกิดขึ้น ตัวเลขที่คาดว่าจะมีผู้หนีภัย เป็นไปได้ อาจมีตัวเลขถึงหลักล้าน และประเทศไทยจะรองรับอย่างไร ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นในเมียนมานั้น เป็นปัญหาของไทยด้วย เนื่องจากมีการผสมโรงของแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์ ทุนจีนสีเทา และสเกมเมอร์ทั้งหลาย ที่ประเทศไทยต้องเร่งจัดการ
เมื่อถามว่า มีข้อเสนอแนะให้จัดการปัญหาในช่วงนี้หรือไม่ นายรังสิมันต์ กล่าวว่า แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ 1.การสนับสนุนด้านสิทธิมนุษยชนต่างๆ ซึ่งจำเป็นต้องเก็บข้อมูลบุคคลต่างๆ ที่เข้ามา เพื่อแยกข้อมูลว่าใครคือจีนเทา และใครคือเหยื่อการสู้รบจริงๆ รวมถึงการทำให้ชายแดนไทยมั่นคง ปลอดภัย เพราะการข้ามชายแดนไทย-เมียนมา สามารถทำได้ง่าย และแทบไม่ได้มีการป้องกันอย่างมีประสิทธิภาพในห้วงเวลาที่ผ่านมา
2.ต้องดำเนินการพูดคุยกับทุกฝ่าย เพื่อประชาธิปไตยหรือสันติภาพในประเทศเมียนมา และปราบปรามสิ่งผิดกฎหมายในที่เกิดเหตุตามแนวชายแดนอย่างเป็นรูปธรรม
3.ต้องหารือกันซึ่งใช้ระยะเวลายาวนานพอสมควร เพื่อให้เกิดสันติภาพในประเทศเมียนมาร์ให้มีความมั่นคง รวมทั้งมีประชาธิปไตยและสันติสุขที่จะเกิดขึ้นในประเทศ
ส่วนเมื่อถามว่า การที่ไทยเข้าไปพูดคุย ทางการไทยจะวางตัวอย่างไรไม่ให้เข้าไปแทรกแซงกิจการภายในของอาเซียน นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ที่ตนพูดมาดังกล่าวข้างต้น ไม่ได้ผิดหลักอะไร และอยู่ในกรอบที่อาเซียนเคยมีมติไป ในลักษณะดังกล่าวเชื่อว่าสามารถทำได้ และเป็นบทบาทที่ประเทศไทยต้องทำ หากต้องการให้วิกฤตในประเทศเมียนมายุติลง พร้อมทั้งยังเชื่อว่าประเทศไทยน่าจะได้รับไว้วางใจมากกว่าประเทศอื่นๆ ต่อการเป็นตัวกลางกาาเจรจา และทำได้โดยไม่ได้ละเมิดกติกาสากลใดๆ
นายรังสิมันต์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม กมธ.ต้องให้ความสำคัญว่าธุรกิจของประเทศไทย มีหลายธุรกิจที่เกี่ยวพันกับประเทศเมียนมา ซึ่งต้องจับตามอง 2 ประเด็นคือ มีธุรกิจใดของประเทศไทยที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการสนับสนุนละเมิดสิทธิมนุษยชนในเมียนมา อาทิ ซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ทางการทหาร ซึ่งต้องไปพิจารณาว่ามีหรือไม่ รวมทั้งต้องจัดการกับบุคคลหรือธุรกิจที่นำทรัพยากรของไทย ไปเกื้อหนุน ขบวนการเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องเร่งจัดการเช่นเดียวกัน
นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ตนสนับสนุนบทบาทกระทรวงการต่างประเทศ ในการดำเนินการหาวิธีแก้ปัญหาสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในเมียนมา และอยากให้รัฐบาลเพิ่มบทบาท และเร่งประชาสัมพันธ์ว่าประเทศไทยจะมีบทบาทอย่างไร เพื่อให้สังคมเห็นว่า ประเทศไทยจะวางตัว และมีวิธีการให้เป็นรูปธรรม ในสถานการณ์สู้รบในเมียนมา ที่มีผลกระทบต่อประเทศไทยนั้น คลี่คลายลงและดีกว่าเดิม ทั้งนี้ ตนห่วงว่าบริษัทหรือธุรกิจใหญ่ๆ ในประเทศไทย อาจเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว ซึ่งรัฐบาลสามารถตรวจสอบได้โดยเฉพาะเส้นทางการเงิน หรือการทำธุรกรรมต่างๆ.-317-สำนักข่าวไทย