เตือนโลกเสี่ยงเกิดภาวะ stagflation

วอชิงตัน 8 มิ.ย.- ธนาคารโลกเตือนว่า เศรษฐกิจโลกเสี่ยงเข้าสู่ภาวะสแตกเฟลชัน (stagflation) ที่การเติบโตหยุดชะงักแต่เงินเฟ้อสูง คล้ายกับช่วงคริสต์ทศวรรษหลังปี 1970 สาเหตุหลักมาจากสงครามยูเครน นายเดวิด มัลพาสส์ ประธานธนาคารโลกเผยกับสื่อว่า มีโอกาสค่อนข้างมากที่จะเกิดภาวะดังกล่าว และจะเกิดผลที่สร้างความสั่นคลอนต่อเศรษฐกิจรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง หลายประเทศจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ และหากเศรษฐกิจโลกไม่ขยายตัวเลย ก็จะเท่ากับเกิดเศรษฐกิจโลกถดถอย เขาย้ำว่า จำเป็นต้องเพิ่มการผลิตเพื่อแก้ปัญหาราคาสินค้าโดยเฉพาะพลังงานปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากการขาดแคลนก๊าซธรรมชาติและปุ๋ยในขณะนี้กำลังกระทบการผลิตอาหาร ขณะเดียวกันต้องหลีกเลี่ยงการใช้มาตรการจำกัดการส่งออกและอุดหนุนราคาที่จะทำให้ราคาสินค้ายิ่งสูงขึ้นไปอีกและทำให้ตลาดบิดเบือน รายงานการคาดการณ์เศรษฐกิจโลกของธนาคารโลกที่เผยแพร่เมื่อวันอังคารปรับลดประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ลงเหลือร้อยละ 2.9 ลดลงร้อยละ 1.2 จากการประมาณการเมื่อเดือนมกราคม เพราะสงครามยูเครนซ้ำเติมความเสียหายที่เกิดจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 และทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวมากยิ่งขึ้นไปอีก จากปัจจุบันที่เสี่ยงเข้าสู่ภาวะสแตกเฟลชัน ทั้งที่ปีที่แล้วเพิ่งฟื้นตัวมาขยายตัวที่ร้อยละ 5.7 เพราะโควิดดีขึ้น สถานการณ์ดังกล่าวจะคล้ายกับช่วงคริสต์ทศวรรษหลังปี 1970 ที่เศรษฐกิจโลกไม่เติบโตและเงินเฟ้อพุ่งทะยาน เพราะมีปัญหาเรื่องอุปทานและการคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับต่ำมายาวนาน ต่างกันตรงที่ว่าปัจจุบันดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า และสถาบันการเงินหลักยังมีสถานะการเงินแข็งแกร่ง รายงานปรับลดประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐในปีนี้ลงร้อยละ 1.2 เหลือร้อยละ 2.5 ปรับลดจีนลงร้อยละ 0.8 เหลือร้อยละ 4.3 ปรับลดยูโรโซนลงเหลือร้อยละ 2.5 ปรับลดญี่ปุ่นลงเหลือร้อยละ 1.7 และคาดว่ารัสเซียจะหดตัวมากถึงร้อยละ 11.3.-สำนักข่าวไทย

ส่งออกจีนเดือน เม.ย.โตต่ำที่สุดในรอบ 2 ปี

ปักกิ่ง 9 พ.ค.- การส่งออกของจีนในเดือนเมษายนปีนี้ขยายตัวต่ำที่สุดในรอบ 2 ปี เพราะโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ที่กลับมาระบาดใหม่ทำให้ต้องปิดโรงงาน จำกัดการขนส่ง และเกิดความแออัดตามท่าเรือหลัก สำนักงานศุลกากรจีนแจ้งวันนี้ว่า การส่งออกในเดือนเมษายนขยายตัวร้อยละ 3.9 ต่อปี เอเอฟพีระบุว่า ต่ำที่สุดนับจากเดือนมิถุนายน 2563 แม้ว่าสูงกว่าที่บลูมเบิร์กสำรวจว่าจะขยายตัวเพียงร้อยละ 2.7 ก็ตาม ขณะที่การนำเข้าในเดือนเมษายนไม่ขยายตัว เทียบกับเดือนมีนาคมที่หดตัวร้อยละ 0.1 โฆษกสำนักงานศุลกากรจีนกล่าวว่า เศรษฐกิจจีนยังคงมีโอกาสที่จะฟื้นตัว และปัจจัยพื้นฐานเชิงบวกยังคงไม่เปลี่ยนแปลง นักวิเคราะห์ของโนมูนะคาดว่า การส่งออกของจีนจะขยายตัวลดลงในช่วงหลายเดือนข้างหน้า เพราะหลายปัจจัยประกอบกัน มีตั้งแต่โควิดระบาด มาตรการจำกัดของจีนที่เคร่งครัด ความต้องการในต่างประเทศลดลง และการสูญเสียคำสั่งซื้อไปให้แก่ประเทศอื่น ขณะที่นักวิเคราะห์ของเอเอ็นซีรีเสิร์ชชี้ว่า การล็อกดาวน์เมืองใหญ่ เช่น เซี่ยงไฮ้ และต้นทุนที่สูงขึ้น เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้การส่งออกของจีนในเดือนเมษายนขยายตัวลดลง.-สำนักข่าวไทย

เศรษฐกิจจีนไตรมาสแรกขยายตัว 4.8%

ปักกิ่ง 18 เม.ย.- เศรษฐกิจจีนไตรมาสเดือนมกราคม-มีนาคมปีนี้ ขยายตัวร้อยละ 4.8 จากไตรมาสแรกของปีก่อน แต่ขยายตัวลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสสุดท้ายของปีก่อน เนื่องจากเมืองอุตสาหกรรมหลายแห่งล็อกดาวน์เพราะโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ไตรมาสแรกของปี 2565 เศรษฐกิจจีนที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกขยายตัวร้อยละ 1.3 จากไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 ซึ่งขยายตัวร้อยละ 1.4 จากไตรมาส 3 ของปีก่อน และร้อยละ 4 จากไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 นักวิเคราะห์คาดว่า เศรษฐกิจจีนไตรมาสนี้น่าจะได้รับผลกระทบมากยิ่งขึ้นเพราะมาตรการล็อกดาวน์จะทำให้กิจกรรมทางธุรกิจในเดือนเมษายนและพฤษภาคมสะดุด และจะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานโลกด้วย สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วคือ การขนส่งสินค้าอุตสาหกรรมที่สะดุดเพราะมาตรการล็อกดาวน์นครเซี่ยงไฮ้ ศูนย์กลางธุรกิจของจีนที่มีประชากรมากกว่า 25 ล้านคน และอีกหลายเมือง ทำให้ผู้ผลิตยานยนต์และสินค้าอุตสาหกรรมระดับโลกต้องลดหรือระงับการผลิต พรรคคอมมิวนิสต์จีนรับปากใช้มาตรการทางภาษีและอื่น ๆ ช่วยเหลือภาคธุรกิจ นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียงของจีนย้ำเมื่อสัปดาห์ที่แล้วให้เจ้าหน้าที่เร่งดำเนินการในเรื่องนี้ ขณะที่นักสังเกตการณ์คาดว่า รัฐบาลจีนจะดำเนินการอย่างระมัดระวังและใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเจาะจง มากกว่าใช้จ่ายอย่างเหวี่ยงแห เพราะกังวลว่าจะไปเพิ่มราคาที่อยู่อาศัยซึ่งเป็นประเด็นอ่อนไหวทางการเมือง และหนี้ภาคธุรกิจที่สูงจนเป็นอันตรายอยู่แล้ว.-สำนักข่าวไทย

เศรษฐกิจจีนไตรมาส 3 โตลดลงจากไตรมาสก่อน

ปักกิ่ง 18 ต.ค.- เศรษฐกิจจีนไตรมาส 3 ขยายตัวลดลงจากไตรมาส 2 เนื่องจากภาคการก่อสร้างชะลอตัวและทางการควบคุมการใช้พลังงาน กระทบต่อการฟื้นตัวหลังโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ระบาด สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนแถลงวันนี้ว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศยังคงไม่มีเสถียรภาพและไม่ทั่วถึง ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือจีดีพี (GDP) เดือนกรกฎาคม-กันยายนขยายตัวร้อยละ 4.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนเมษายน-มิถุนายนที่ขยายตัวร้อยละ 7.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ผลผลิตโรงงาน ยอดค้าปลีก และการลงทุนในภาคการก่อสร้างและสินทรัพย์ถาวรอื่น ๆ ล้วนอ่อนแอลง ตัวเลขดังกล่าวต่ำกว่าที่รอยเตอร์คาดว่า เศรษฐกิจจีนไตรมาส 3 จะขยายตัวร้อยละ 5.2 ภาคการก่อสร้างของจีนที่จ้างงานคนจำนวนมากชะลอตัวลง นับจากทางการควบคุมการขอสินเชื่อของบริษัทอสังหาริมทรัพย์อย่างเข้มงวดตั้งแต่ปีก่อน ปัญหาของเอเวอร์แกรนด์กรุ๊ป กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ใหญ่ในจีนที่เสี่ยงผิดนัดชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้จำนวนมากทำให้ตลาดวิตกว่า อาจลุกลามไปยังบริษัทอสังหาริมทรัพย์อื่น ๆ แม้ว่าแวดวงนักเศรษฐศาสตร์มองว่า มีความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลกไม่มากก็ตาม ส่วนภาคการผลิตชะลอตัวในเดือนกันยายนเพราะมณฑลใหญ่หลายแห่งลดการจ่ายกระแสไฟฟ้า เพื่อไม่ให้เกินเป้าหมายการประหยัดไฟฟ้าตามที่รัฐบาลกลางกำหนดไว้.-สำนักข่าวไทย

เศรษฐกิจอังกฤษกำลังเดินหน้าสู่ภาวะฟื้นตัว

เศรษฐกิจของอังกฤษขยายตัวในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม ร้อยละ 2.1 ซึ่งสูงกว่าที่คาดหมายไว้ ซึ่งเป็นอีกหนี่งก้าวที่ทำให้คาดหมายว่า เศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้ดีในปีนี้ หลังจากประสบภาวะซบเซาอย่างมากในปี 2020 เนื่องจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

จีนตั้งเป้าเศรษฐกิจขยายตัวมากกว่าร้อยละ 6 ในปีนี้

จีนกำหนดเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2021 ไว้ที่ “สูงกว่าร้อยละ 6” ในขณะที่จีน ซึ่งมีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก ผ่านพ้นปีที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

ไอเอ็มเอฟปรับลดการขยายตัวเศรษฐกิจจีนเหลือ 7.9%

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ ปรับลดการคาดหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนในปี 2021 ไปอยู่ที่ร้อยละ 7.9 หลังจากเมื่อปีที่แล้วเกิดค่าใช้จ่ายในด้านทรัพยากรมนุษย์และเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเป็นผลมาจากวิกฤติการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

โออีซีดีชี้เศรษฐกิจโลกจะฟื้นเร็วกว่าคาด

ปารีส 16 ก.ย.- องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจหรือโออีซีดี (OECD) ระบุว่า เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวเร็วกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้เมื่อไม่กี่เดือนก่อน เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจจีนและสหรัฐดีขึ้น โออีซีดีคาดการณ์ในวันนี้ว่า เศรษฐกิจโลกน่าจะหดตัวร้อยละ 4.5 ในปีนี้ ดีขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนมิถุนายนว่าจะหดตัวร้อยละ 6 และการที่เชื้อไวรัสที่ทำให้เป็นโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ถูกจำกัดไม่ให้แพร่กระจายจนอยู่เหนือการควบคุม จึงคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะกลับมาขยายตัวไม่เกินร้อยละ 5 ในปีหน้า ลดลงเล็กน้อยจากที่คาดการณ์ว่าจะขยายตัวร้อยละ 5.2 อย่างไรก็ตาม หากเชื้อไวรัสกลับมาระบาดรุนแรงขึ้นหรือต้องใช้มาตรการจำกัดที่เข้มงวดขึ้น อาจทำให้แนวโน้มการขยายตัวในปีหน้าลดลงไปราวร้อยละ 2-3 ได้ โออีซีดีอธิบายว่า ตัวเลขคาดการณ์เหล่านี้มาจากสมมติฐานที่ว่าการระบาดในท้องถิ่นจะดำเนินต่อไป และจะต้องใช้มาตรการจำกัดในระดับท้องถิ่นมากกว่าทั้งประเทศ รวมถึงสมมติฐานที่ว่าจะยังไม่มีวัคซีนป้องกันใช้อย่างกว้างขวางก่อนปลายปีหน้า โออีซีดีชี้ว่า มาตรการของรัฐบาลและธนาคารกลางประเทศต่าง ๆ ที่อุดหนุนรายได้ครัวเรือนและธุรกิจช่วยให้เศรษฐกิจไม่ชะลอตัวร้ายแรงไปกว่านี้ จึงควรใช้ต่อไปเพราะดูเหมือนว่ายังคงมีการระบาดเกิดขึ้นประปรายอยู่ ตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจโลกในปีนี้ที่ดีขึ้นสะท้อนถึงความแตกต่างอย่างมากระหว่างเศรษฐกิจสหรัฐ จีนและยุโรปที่ดีขึ้นกว่าที่คาด ขณะที่เศรษฐกิจอินเดีย เม็กซิโกและแอฟริกาใต้อาจแย่ลงเพราะต้องหาทางควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โออีซีดีคาดว่า จีนซึ่งเกิดการระบาดเป็นแห่งแรกของโลกและใช้มาตรการจำกัดอย่างรวดเร็ว จะเป็นประเทศเดียวในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่หรือจี 20 (G20) ที่เศรษฐกิจในปีนี้จะขยายตัวร้อยละ 1.8 จากที่คาดการณ์ว่าจะหดตัวร้อยละ 2.6 ส่วนสหรัฐจะหดตัวร้อยละ 3.8 ดีกว่าเดิมที่คาดว่าจะหดตัวร้อยละ 7.3.-สำนักข่าวไทย

นักวิเคราะห์คาดเศรษฐกิจจีนปีนี้ขยายตัวร้อยละ 2.2

นักวิเคราะห์คาดว่า เศรษฐกิจจีนปีนี้จะขยายตัวร้อยละ 2.2 ดีขึ้นจากเดือนเมษายนที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.8 แต่ยังเผชิญความเสี่ยงหลักจากความต้องการโลกซบเซาและความสัมพันธ์กับสหรัฐตึงครียดขึ้น

เศรษฐกิจเวียดนามโตสวนกระแสโลก

เศรษฐกิจเวียดนามไตรมาสสองของปีนี้ขยายตัวในขณะที่ทั้งโลกหดตัวเพราะผลกระทบจากโรคโควิด-19 แต่ก็ขยายตัวต่ำที่สุดในรอบเกือบ 3 ทศวรรษ

เศรษฐกิจอินโดนีเซียไตรมาสแรกขยายตัวน้อยที่สุดตั้งแต่ปี 2544

เศรษฐกิจอินโดนีเซียไตรมาสแรกของปีนี้ขยายตัวน้อยที่สุดในรอบเกือบ 20 ปี นักเศรษฐศาสตร์เตือนว่า โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 อาจทำให้เศรษฐกิจไตรมาสสองเลวร้ายลงอีก

1 2 3 4 5 6
...