30 มีนาคม 2564
ตรวจสอบข้อเท็จจริง / เรียบเรียง โดย : พีรพล อนุตรโสตถิ์, กลาง ณัฐนที
บนสังคมออนไลน์ แชร์ข้อความ “ห้ามพ่นหรือทาแอลกอฮอลล์ที่กุญแจรถ” พร้อมกับคลิปวิดีโอ ที่ทำให้เข้าใจว่า อาจเป็นเหตุให้รถยนต์ระเบิดได้ ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ ตรวจสอบกับผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัย ยืนยันว่า “ไม่เป็นความเป็นจริง”
บทสรุป : ไม่จริง และ ไม่ควรแชร์ต่อ
• พ่นแอลกอฮอล์ใส่กุญแจแล้วสตาร์ทรถ ไม่ทำให้รถระเบิด
• คลิปวิดีโอที่มีการระเบิดไม่ใช่เหตุการณ์จริง แต่เป็นฉากหนึ่งในภาพยนตร์เรื่อง “Narcos Season 3”
• แต่แอลกอฮอล์เป็นสารไวไฟที่ต้องใช้และจัดเก็บอย่างถูกต้อง
สืบหาต้นตอ ข้อมูลที่ถูกแชร์
คลิปวิดีโอความยาว 1 นาที ถูกแชร์มาพร้อมข้อความระบุว่า “ห้ามพ่นหรือทาแอลกอฮอลล์ที่กุญแจรถ” โดยในคลิปวิดีโอมีภาพชายคนหนึ่งพ่นสเปรย์แอลกอฮอล์ปริมาณมากใส่กุญแจรถและภายในรถ เมื่อสตาร์ทรถ ภาพเปลี่ยนเป็นเหตุการณ์รถระเบิดอย่างรุนแรง ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สืบหาต้นตอคลิปวิดีโอดังกล่าว พบคลิปต้นฉบับ บนแอปพลิเคชัน TikTok อัปโหลดตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน 2563 โดยผู้ใช้ที่ชื่อว่า @suleymanics ซึ่งอาศัยอยู่ที่สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน
โดย ณ เดือนมีนาคม 2564 มียอดการรับชมมากกว่า 3.6 ล้านครั้ง มีผู้กดถูกใจมากกว่า 1.3 แสนคน และมีการแชร์คลิปวิดีโอมากกว่า 1.2 หมื่นครั้ง นอกจากนี้ ยังมีการนำวิดีโอออกมาเผยแพร่ใน Line อย่างกว้างขวาง รวมทั้งมีผู้ส่งเรื่องเข้ามาสอบถามข้อเท็จจริงกับศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์
FACT CHECK : ตรวจสอบข้อเท็จจริง
ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย อสมท ตรวจสอบกับ ดร.ภุชงค์ ศรีอ่วม วิศวกรความปลอดภัยในการทำงาน ศูนย์ความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (SHE CU) ได้รับการยืนยันว่า “การพ่นแอลกอฮอล์ใส่กุญแจแล้วสตาร์ทรถ ไม่ทำให้รถระเบิด แต่แอลกอฮอล์เป็นสารไวไฟ สามารถติดไฟได้จริง ควรใช้อย่างพอดี และจัดเก็บอย่างระมัดระวัง”
ดร.ภุชงค์ กล่าวว่า สาเหตุที่พ่นแอลกอฮอล์ใส่กุญแจแล้วสตาร์ทรถ ไม่ทำให้เกิดการระเบิด เพราะโดยปกติแล้ว ส่วนที่จะเกิดประกายไฟคือส่วนที่เชื่อมต่อระหว่างขั้วแบตเตอรี่ซึ่งอยู่ใต้กระโปรงรถ ซึ่งถ้าเชื่อมต่ออย่างหนาแน่นก็จะไม่เกิดประกายไฟ ดังนั้นการใช้กุญแจสตาร์ทรถจึงไม่ทำให้เกิดการระเบิด เพราะอยู่ภายในรถไม่เกี่ยวข้องกัน
แอลกอฮอล์เป็นสารไวไฟ สามารถติดไฟได้จริง
อย่างไรก็ตาม แอลกอฮอล์เป็นสารไวไฟ สามารถติดไฟได้จริง สเปรย์แอลกอฮอล์โดยทั่วไปจะมีความเข้มข้นประมาณ 70% ผสมกับน้ำอีก 30% ถ้าพ่นสเปรย์แอลกอฮอล์ในรถถึงอัตราส่วนที่จะเกิดการระเบิดได้ แล้วปิดกระจกมิดชิดทุกด้าน เมื่อมีความร้อนเกิดขึ้น เช่น จอดรถตากแดดทิ้งไว้ หรือจุดบุหรี่ แอลกอฮอล์ภายในรถก็มีโอกาสที่จะติดไฟและระเบิดได้
ขอบเขตของการจุดติดไฟ (Explosive Limits)
ดร.ภุชงค์ อธิบายเพิ่มเติมว่า การจุดติดไฟหรือการระเบิด จำเป็นต้องมีองค์ประกอบ 3 อย่างคือ สารไวไฟ ก๊าซออกซิเจน และแหล่งจุดไฟ เมื่อมีองค์ประกอบครบทั้ง 3 อย่างแล้ว ก็ไม่จำเป็นว่าจะเกิดการติดไฟหรือเกิดระเบิดเสมอไป ยังต้องคำนึงถึงคุณสมบัติของสารไวไฟชนิดนั้น ๆ ด้วย โดยสารไวไฟแต่ละชนิดจะมีขอบเขตของการจุดติดไฟ (Explosive Limits) ดังนี้
1. Lower Explosive Limit (LEL) : อัตราส่วนผสมที่ต่ำที่สุดระหว่างสารไวไฟกับอากาศที่ทำให้เกิดการติดไฟ ถ้าอัตราส่วนผสมต่ำกว่าค่านี้ จะไม่สามารถติดไฟได้
2. Upper Explosive Limit (UEL) : อัตราส่วนผสมที่จะทำให้สารไวไฟไม่ติดไฟ ถ้าอัตราส่วนผสมมากกว่าค่านี้ จะไม่สามารถติดไฟได้เช่นเดียวกัน
แอลกอฮอล์เป็นสารไวไฟที่มีค่า LEL ประมาณ 3% และมีค่า UEL ประมาณ 19% ดังนั้น ต้องตรวจสอบปริมาณแอลกอฮอล์ที่พ่นในรถที่ปรากฏตามคลิปวิดีโอที่ถูกแชร์นั้น ว่าถึงค่านี้หรือไม่ ถ้าพ่นน้อยไม่ถึงค่า LEL เอาไฟไปจุดก็ไม่ติด ในทางกลับกันถ้าพ่นเยอะมากจนถึงค่า UEL เอาไฟไปจุดก็ไม่ติดเช่นเดียวกัน
ควรทำความสะอาดกุญแจรถด้วยแอลกอฮอล์หรือไม่ ?
ดร.ภุชงค์ ให้ความคิดเห็นว่า กุญแจรถเป็นส่วนที่มีการสัมผัสร่วมกันน้อย จึงอาจไม่จำเป็นต้องทำความสะอาดด้วยแอลกอฮอล์อยู่บ่อยครั้ง ทั้งนี้ การป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ด้วยการสวมหน้ากากอนามัย และหมั่นทำความสะอาดมือ ยังคงเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพซึ่งหน่วยงานสาธารณสุขแนะนำเป็นมาตรฐาน
แม้ว่าแอลกอฮอล์ช่วยฆ่าเชื้อและป้องกันเชื้อโรคได้ดี แต่แอลกอฮอล์เป็นสารไวไฟ ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อดวงตาได้ จึงควรใช้อย่างพอดี จัดเก็บอย่างระมัดระวัง ควรเก็บในที่ร่มระบายอากาศได้ดี ไม่โดนแสงแดด ประกายไฟ และความร้อน หากใช้แอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือ ต้องรอให้แห้งก่อนเข้าไปใกล้ความร้อน มิฉะนั้นอาจทำให้ไฟไหม้ได้
ตรวจสอบข้อเท็จจริงของวิดีโอที่ถูกแชร์
ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ ตรวจสอบ วิดีโอและข้อความดังกล่าว พบว่า เป็นการจัดฉากถ่ายทำ และตัดต่อร่วมกับวิดีโอจากภาพยนตร์ โดยในนาทีที่ 0.00 – 0.52 เป็นภาพชายพ่นแอลกอฮอล์ในรถ ซึ่งถูกจัดฉากถ่ายทำขึ้น และในนาทีที่ 0.53 – 1.00 ไม่ใช่การระเบิดหลังพ่นแอลกอฮอล์ใส่กุญแจรถ แต่เป็นฉากหนึ่งในภาพยนตร์เรื่อง “Narcos Season 3” ดังนั้น วิดีโอที่ตัดต่ออย่างบิดเบือนความจริงนี้ จึงไม่มีความน่าเชื่อถืออย่างยิ่ง
วิธีตรวจสอบวิดีโอเท็จด้วยตนเอง
ในปัจจุบันมีคลิปวิดีโอจำนวนมากที่ถูกแชร์ต่อโดยไม่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง หากได้รับการแชร์มาประชาชนสามารถตรวจสอบวิดีโอได้ ตามขั้นตอนดังนี้
1. บันทึกภาพหน้าจอวิดีโอขณะที่มีการระเบิด ให้เห็นภาพอาคารด้านหลังอย่างชัดเจน
2. นำภาพที่ได้ไปค้นหาในเว็บไซต์ https://www.google.co.th/imghp?hl=th หรือ https://yandex.com/images/
3. ตรวจสอบเว็บไซต์ที่มีวิดีโอต้นฉบับ
บทสรุป : ไม่จริง และ ไม่ควรแชร์ต่อ
ดร.ภุชงค์ ศรีอ่วม ยืนยันว่า การพ่นแอลกอฮอล์ใส่กุญแจแล้วสตาร์ทรถ ไม่ทำให้รถระเบิด แต่แอลกอฮอล์เป็นสารไวไฟ สามารถติดไฟได้จริง ควรใช้อย่างพอดี และจัดเก็บอย่างระมัดระวัง ส่วนคลิปวิดีโอที่มีการระเบิดนั้น ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ ตรวจสอบพบว่า ไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง แต่เป็นฉากหนึ่งในภาพยนตร์เรื่อง “Narcos Season 3” ดังนั้นจึงไม่ควรแชร์คลิปต่อ เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดในสังคม
🎯 หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์” 🎯
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: https://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter