จากกรณีพบผู้เสียชีวิตด้วยโรคแอนแทรกซ์ 1 ราย ในจังหวัดมุกดาหาร ปัจจัยเสี่ยงมาจากการชําแหละโคในงานบุญผ้าป่า และนำแจกจ่ายกินกันภายในหมู่บ้าน พบผู้สัมผัสเนื้อโคที่ชําแหละจำนวน 247 คน (ผู้ที่ชำแหละโค 28 คน และผู้ที่กินเนื้อโคดิบ 219 คน)
“แอนแทรกซ์” ไม่ใช่โรคใหม่ ติดต่อได้จากสัตว์สู่คน
ชาวบ้านรู้จัก “โรคกาลี” ที่มีกันมาแต่โบราณกาล
ทางการแพทย์เรียกว่า โรคแอนแทรกซ์ (Anthrax) ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Bacillus anthracis และสามารถพบเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ได้ทั่วไปตามธรรมชาติ โดยเฉพาะในดิน น้ำ และวัสดุจากพืช สัตว์ เชื้อทนความร้อนและเย็นได้ดี และสปอร์ของเชื้อสามารถอยู่ในดินได้นานกว่า 10 ปี
ในพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2499 ระบุไว้ว่า “แอนแทรกซ์” เป็นโรคติดต่อระบาดสำคัญอันตรายร้ายแรงที่เกิดขึ้นได้ใน “สัตว์กินหญ้าแทบทุกชนิด” ทั้งสัตว์ป่า เช่น ช้าง เก้ง กวาง และสัตว์เลี้ยง เช่น โค กระบือ แพะ แกะ แล้วก็ติดต่อไปยังคนและสัตว์อื่น เช่น เสือ สุนัข แมว สุกร
โรคแอนแทรกซ์มักจะเกิดในท้องที่เคยมีประวัติว่ามีโรคนี้ระบาดมาก่อน แต่ด้วยการคมนาคมสะดวกและรวดเร็ว พ่อค้าสัตว์มักจะนำสัตว์ป่วย และ/หรือ สัตว์ที่อยู่ในระยะฟักตัวของโรคไปขายในท้องถิ่นอื่น ทำให้โรคมีการกระจายไปได้ไกล ๆ
โดยเชื้อโรคแอนแทรกซ์นี้ก่อให้เกิดโรคในคน 3 รูปแบบ คือที่ผิวหนัง ที่ปอดจากการสูดดม ที่ทางเดินอาหารและ oro-pharynx จากการกินเชื้อนี้เข้าไป
โรคแอนแทรกซ์ ติดต่อสู่คนได้อย่างไร
การติดต่อโรคแอนแทรกซ์สู่คน ส่วนใหญ่จะติดทางผิวหนังจากการสัมผัสสัตว์ป่วย หรือสัมผัสกับผลิตภัณฑ์สัตว์ที่ได้มาจากสัตว์ป่วย
นอกจากพบโรคแอนแทรกซ์มากในกลุ่มอาชีพเกษตรกรรมแล้ว ยังพบได้ในคนชำแหละเนื้อ สัตวแพทย์ หรือผู้ที่ใกล้ชิดกับสัตว์ป่วย โรคติดมาสู่คนเนื่องจากการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือขาดความระมัดระวัง หรืออาจเป็นเพราะความยากจนเมื่อสัตว์ตายจึงชำแหละเนื้อมากิน
อย่างไรก็ตาม อุบัติการณ์ของโรคที่เกิดขึ้นเกือบทุกครั้งมักจะเกิดขึ้นในสัตว์ก่อน แล้วคนไปติดเชื้อเข้ามา
โรคแอนแทรกซ์ “ผิวหนัง” จะเกิดจากเชื้อเข้าสู่ผิวหนังบริเวณรอยถลอกหรือบาดแผล
โรคแอนแทรกซ์ “ทางเดินหายใจ” เกิดจากการสูดหายใจเอาสปอร์ซึ่งติดมากับขนสัตว์ที่ส่งมาจากท้องถิ่นมีโรค (endemic area) แต่การติดต่อทางระบบหายใจยังไม่เคยมีรายงานในประเทศไทย
แอนแทรกซ์ “ระบบทางเดินอาหารและออโรฟาริง” มีสาเหตุจากการกินเนื้อสัตว์ที่ป่วยตายด้วยโรคนี้ แล้วไม่ปรุงให้สุกเพียงพอ
ส่วนมากสัตว์จะติดโรคจากการกินและหายใจโดยได้รับสปอร์ซึ่งอยู่ตามทุ่งหญ้าที่เคยมีสัตว์ตายด้วยโรคนี้มาก่อน แต่ในช่วงต้น ๆ ของการระบาดของโรค (ปลายฤดูร้อนต่อต้นฤดูฝน) สัตว์จะติดโรคจากการกินและจากการหายใจพร้อม ๆ กัน โดยเกิดจากขณะที่สัตว์แทะเล็มกินหญ้าก็จะดึงเอารากที่ติดดินขึ้นมาด้วย สปอร์ของแอนแทรกซ์ที่ติดอยู่ตามใบหญ้าและในดินก็จะเข้าทางปากและฝุ่นที่ปลิวฟุ้ง ขณะดึงหญ้าสปอร์ก็จะเข้าทางจมูกโดยการหายใจเข้าไป
สำหรับระยะฟักตัวของโรคแอนแทรกซ์ ในคนและในสัตว์ มีความแตกต่างกัน ดังนี้
ใน “คน” ตั้งแต่รับเชื้อจนถึงขั้นแสดงอาการ อยู่ระหว่าง 12 ชั่วโมง ถึง 7 วัน แต่ถ้าเป็นกรณีสูดหายใจเอาสปอร์ของเชื้อจากการใช้เป็นอาวุธชีวภาพ ระยะฟักตัวอาจยาวนานถึง 60 วัน
ใน “สัตว์” ส่วนมากระยะฟักตัวจะเร็ว โดยเฉพาะในรายที่รับเชื้อทั้งจากการกินและการหายใจเอาเชื้อเข้าไป
ลักษณะอาการแสดงโรคแอนแทรกซ์ “ในคน”
แอนแทรกซ์ผิวหนัง (cutaneous anthrax) อาการที่พบ เริ่มมีตุ่มแดง ๆ ตรงบริเวณที่รับเชื้อ ซึ่งส่วนมากจะอยู่นอกร่มผ้า เช่น มือ แขน ขา แต่อาจพบที่ลำตัวหรือกลางหลังได้ (กรณีถอดเสื้อตอนผ่าซากสัตว์) ตุ่มที่พบตอนแรกนี้จะเปลี่ยนเป็นตุ่มน้ำใส แล้วเข้มขึ้นเรื่อย ๆ จนเป็นตุ่มหนองแล้วแตกออกเป็นแผลยกขอบตรงกลางบุ๋มมีสีดำ (black escalate) ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรคแอนแทรกซ์
ถ้ายังไม่ได้รับการรักษาก็จะมีตุ่มใหม่เกิดขึ้นรอบ ๆ แผลเดิมขยายวงกว้างไปเรื่อย ๆ บางครั้งรอบ ๆ แผลจะบวมแดง แต่ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกเจ็บ ยกเว้นที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณข้างเคียง ปกติแผลที่เกิดจากเชื้อแอนแทรกซ์จะหายยาก ถ้าได้รับการรักษาช้า เพราะเป็นแผลเนื้อตายซึ่งเชื่อกันว่าน่าจะเกิดจากพิษ (toxin) ของตัวเชื้อ (อัตราป่วยตายอยู่ระหว่างร้อยละ 5-20)
แอนแทรกซ์ระบบทางเดินอาหาร (intestinal anthrax) ผู้ป่วยที่กินเนื้อหรือเครื่องในสัตว์ที่ป่วยตายด้วยโรคแอนแทรกซ์ แล้วไม่ปรุงให้สุกเพียงพอ ภายใน 12-24 ชั่วโมง จะรู้สึกมีไข้ ไม่สบายท้อง คลื่นไส้ อาเจียน คล้ายกับอาการอาหารเป็นพิษ ถ้าไม่ได้รับการรักษาโดยเร็ว จะทำให้เกิดการอักเสบเป็นแผลที่ต่อมน้ำเหลืองของขั้วไส้และลำไส้ส่วนต่าง ๆ มีน้ำในช่องท้อง และปวดท้องอย่างรุนแรง บางครั้งผู้ให้การรักษาอาจเข้าใจผิดคิดว่าเป็นไส้ติ่งอักเสบก็ได้
ดังนั้น แพทย์ผู้ทำการรักษาควรเน้นการซักประวัติการกินอาหารจากผู้ป่วย เมื่อพบผู้ป่วยที่มีลักษณะดังกล่าว ในรายที่มีอาการอุจจาระร่วงมักจะพบว่ามีเลือดปนออกมาด้วย ถ้าผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาเชื้อจะเข้าในกระแสเลือด เกิดอาการเลือดเป็นพิษ ทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ (อัตราการป่วยตายถึงร้อยละ 50-60)
มีกรณีผู้ป่วยบางรายกินเนื้อที่ติดเชื้อแล้วเคี้ยวอยู่ในช่องปากนาน ทำให้เกิดแผลในช่องปากและหลอดคอได้ (oropharyngcal anthrax) ต่อมน้ำเหลืองที่บริเวณลำคอจะบวม และลามไปถึงใบหน้า
แอนแทรกซ์ระบบทางเดินหายใจ (pulmonary anthrax) กรณีนี้พบผู้ป่วยที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมเกี่ยวกับขนสัตว์ กระดูกป่น ที่มีฝุ่นฟุ้งกระจาย แล้วหายใจสปอร์ของแอนแทรกซ์เข้าไป อาการที่พบในช่วงแรกๆ จะคล้ายกับผู้ป่วยทางเดินหายใจตอนบน มีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว จากนั้นจะหายใจขัด หายใจลำบาก หน้าเขียวคล้ำ และตายจากอาการของระบบหายใจล้มเหลวในช่วงเวลาเพียง 3-5 วันหลังรับเชื้อ (อัตราการป่วยตายสูงมากถึงร้อยละ 80-90)
ลักษณะอาการแสดงโรคแอนแทรกซ์ “ในสัตว์”
โรคแอนแทรกซ์ในสัตว์มักพบว่ามีไข้สูง (107 องศาฟาเรนไฮต์ หรือประมาณ 42 องศาเซลเซียส) ไม่กินหญ้า แต่ยืนเคี้ยวเอื้อง มีเลือดปนน้ำลายไหลออกมา ยืนโซเซ หายใจลำบาก กล้ามเนื้อกระตุก ชัก แล้วตายในที่สุด บางตัวอาจมีอาการบวมน้ำ ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด หรือบางตัวอาจไม่แสดงอาการให้เห็น เพราะตายเร็วมาก
เมื่อสัตว์ตายจะพบว่ามีเลือดออกทางปาก จมูก ทวารหนัก อวัยวะเพศ เป็นเลือดสีดำ ๆ ไม่แข็งตัว กลิ่นคาวจัด ซากนิ่ม และเน่าเร็ว ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของสัตว์ที่ตายด้วยโรคนี้
ป้องกัน “โรคแอทร็อกซ์” ได้อย่างไร
เมื่อพบว่ามีสัตว์ตายโดยกะทันหัน และไม่ทราบสาเหตุการตาย โดยถ้ามีเลือดเป็นสีดำคล้ำไม่แข็งตัวไหลออกตามทวารต่าง ๆ
1.ห้ามชำแหละซากเอาเนื้อไปกินเป็นอาหาร และห้ามผ่าซากสัตว์ที่สงสัยว่าเป็นโรคแอนแทรกซ์ เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อจากบริเวณที่มีสัตว์ตาย หลายประเทศมีกฎหมายห้ามการผ่าซาก เนื่องจากเมื่อผ่าออก เชื้อ vegetative form ในร่างกายสัตว์จะได้รับออกซิเจนจากอากาศ ทำให้มีการสร้างสปอร์ซึ่งมีความคงทนต่อสิ่งแวดล้อม แต่หากไม่ผ่าซากเชื้อที่อยู่ภายในซากจะตายจนหมดหลังสัตว์ตาย 2-3 วัน โดยกระบวนการเน่าสลายตามธรรมชาติ
2.ให้ขุดหลุมฝัง ลึกต่ำกว่าผิวดินประมาณ 1 เมตร หากมีปูนขาวหรือขี้เถ้าให้โรยบนซากหนาประมาณ 2-3 เซนติเมตร แล้วจึงกลบ เชื้อที่อยู่ในซากก็จะตายเองโดยความร้อนที่เกิดจากการสลายเน่าเปื่อยในธรรมชาติ และควรเลือกฝังในบริเวณที่ใกล้ที่สุดกับที่สัตว์ตาย ให้มีการเคลื่อนย้ายซากสัตว์ให้น้อยที่สุด
3.อาจเผาซากให้ไหม้มากที่สุด แล้วจึงขุดหลุมฝังกลบอีกชั้นหนึ่งก็ได้
4.ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจถึงอันตรายของโรคนี้ จะสามารถลดอัตราป่วยตายของโรค และลดการระบาดของโรคได้ด้วย
5.การป้องกันโรคนี้จะต้องประสานงานกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปศุสัตว์ด้วย เพราะมีวัคซีนป้องกันโรคล่วงหน้าในสัตว์ได้ โดยปกติจะทำวัคซีนในโค กระบือ และ/หรือ สุกร ปีละ 2 ครั้ง ในท้องที่ซึ่งมีการระบาดของโรคนี้
สำหรับมาตรการควบคุมผู้ป่วย ผู้สัมผัส และสิ่งแวดล้อม
- พยายามหลีกเลี่ยงมิให้คนสัมผัสกับสัตว์ป่วย หรือผลิตภัณฑ์สัตว์ป่วย
- การกำจัดหรือทำลายสัตว์ที่เป็นโรคแอนแทรกซ์เป็นวิธีการที่ดีที่สุดสำหรับการป้องกันมิให้โรคในสัตว์ติดต่อมาสู่คน โดยเฉพาะการให้วัคซีนสัตว์ในแหล่งที่มีโรคนี้ระบาด การวินิจฉัยโรคในสัตว์ที่กระทำโดยทันทีทันใดและการรักษาโรคในสัตว์ป่วย ตลอดจนการทำลายซากสัตว์ที่ตายโดยการฝังลึกๆ หรือโดยการเผา เป็นวิธีการควบคุมมิให้โรคแพร่กระจาย ซากสัตว์ที่ตายด้วยโรคนี้ไม่ควรผ่าซาก ควรให้ความรู้ด้านสุขศึกษาแก่เจ้าของฟาร์มสัตว์เกี่ยวกับโรคโดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับอันตรายของโรค
- การกำจัดซากสัตว์ป่วยอย่างปลอดภัยและการติดโรค ในพื้นที่ที่มีโรคแอนแทรกซ์ระบาดควรกักสัตว์ ที่อยู่ในบริเวณนั้นอย่างน้อย 2 สัปดาห์ โดยนับวันแรกหลังจากพบโรคในสัตว์ตัวสุดท้ายที่เป็น
- ในฝูงสัตว์ที่รีดนมควรมีการเฝ้าระวังโรคอย่างใกล้ชิด และถ้าสัตว์ตัวใดแสดงอาการไข้เกิดขึ้นควรจับแยก และน้ำนมที่รีดมาควรทำลายทันที
- ในแหล่งที่พบว่าโรคนี้ระบาดทั่วไปในสัตว์ มักจะพบว่าสภาพแวดล้อมแปดเปื้อนด้วยสปอร์ ดังนั้นในแหล่งที่สงสัยมีโรคควรใช้ ammonium quaternary compound ใส่ไปในโพรงน้ำ หรือแอ่งน้ำจะช่วยลดอัตราการเกิดโรค การควบคุมโรคในผลิตภัณฑ์สัตว์กระทำได้ยากมาก ทั้งนี้สปอร์ของเชื้อที่ทนทานต่อสารเคมีที่ฆ่าเชื้อต่าง ๆ
ถึงแม้ว่า “แอนแทรกซ์” เป็นโรคติดต่อร้ายแรง แต่ป้องกันได้ด้วย “วัคซีน” และรักษาด้วย “ยาปฏิชีวนะ”
ขอขอบคุณข้อมูลจาก กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย
3 พฤษภาคม 2568
ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย อสมท
เขียนและเรียบเรียงโดย คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter