สมองเมาแผ่นดินไหว อาการเป็นอย่างไร ทำไมแผ่นดินไหวผ่านไปแล้วยังวิงเวียนอยู่ได้ จะเป็นอีกนานไหม รักษาอย่างไร ?
🎯 ตรวจสอบข้อเท็จจริงและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ พญ.นวรัตน์ อภิรักษ์กิตติกุล อาจารย์ประจำภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
ถึงแม้ว่าเหตุการณ์แผ่นดินไหวหลักหรือเมนช็อก (main shock) ที่เกิดขึ้นเมื่อวันศุกร์ 28 มีนาคม พ.ศ. 2568 เวลา 13.20 น. ขนาด 8.2 แมกนิจูด (Magnitude) จุดศูนย์กลางอยู่บริเวณตอนเหนือของเมืองสะกาย ประเทศเมียนมาร์ และเกิดอาฟเตอร์ช็อก (aftershock) ตามมาอีกหลายครั้ง และช่วงวันสงกรานต์ก็ยังมีแผ่นดินไหวในประเทศไทยอีกหลายจังหวัด เช่น กระบี่ เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน
ขณะเกิดแผ่นดินไหวพบว่าคนจำนวนมากมีอาการเวียนศีรษะ โคลงเคลง คล้ายเมารถ หรือเมาเรือ หลังเหตุการณ์หายไปแล้ว เรียกว่า “อาการสมองเมาแผ่นดินไหว” (Post-Earthquake Dizziness Syndrome : PEDS)
ในประเทศไทย ชื่อโรค “Post-Earthquake Dizziness Syndrome” อาจจะไม่ค่อยคุ้นหูมากนัก เนื่องจากไม่ได้อยู่ในพื้นที่ที่เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวบ่อย ๆ แต่ในประเทศที่เกิดแผ่นดินไหวบ่อย ๆ อาจรู้จักคุ้นเคยมากกว่า เช่น ประเทศญี่ปุ่น มีชื่อโรคเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า กลุ่มอาการ “จิชิน-โยอิ” (Jishin-Yoi / じしんよい) มีความหมายตรงตัวว่า “เมาแผ่นดินไหว”
“สมองเมาแผ่นดินไหว” เป็นอาการเวียนศีรษะที่เกิดตามมาหลังจากที่มีแผ่นดินไหว รู้สึกโคลงเคลง คลื่นไส้ อาเจียน คล้าย ๆ กับอาการเมารถ และบางคนอาจมีผลกับจิตใจ มีความเครียด วิตกกังวลตามมาด้วย
สมองเมาแผ่นดินไหว เกิดขึ้นได้อย่างไร ?
เกิดจากการทรงตัวของหู ที่ส่งสัญญาณไปสมองเกิดความสับสน หรือเสียสมดุล ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกมีอาการโคลงเคลงได้ ทั้ง ๆ ที่ไม่มีอาการโคลงเคลงอยู่เลย
มีปัจจัยหลายอย่างกระตุ้นให้เกิดอาการมากขึ้น เช่น คนที่มีความเครียด วิตกกังวล แพนิก (Panic disorder) รวมถึงคนที่เมารถ เมาเรือ (อาการเมาจากการเคลื่อนไหว : Motion sickness)
กลุ่มอื่นที่พบได้มาก เช่น ผู้ป่วยไมเกรน หญิงตั้งครรภ์ และคนที่กำลังมีประจำเดือน
เมื่อเวลาผ่านไปสักระยะ อาการเหล่านี้จะค่อย ๆ ลดน้อยลง ช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละคน หากเป็นคนที่ไม่ค่อยแข็งแรง ขาดการออกกำลังกาย เจ็บไข้ไม่สบาย หรือผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวหลาย ๆ โรค อาการดังกล่าวก็จะคงอยู่นานกว่าคนอื่น ๆ แต่ทั้งหมดสามารถหายขาดหรือดีขึ้นได้เอง
สมองสับสน เพราะรับสัญญาณไม่สอดคล้องกัน
คนที่สมองสับสน เพราะรับสัญญาณไม่สอดคล้องกัน ระบบการทรงตัวของหูเสียไป แต่สายตามองอยู่นิ่ง ๆ กล้ามเนื้อข้อต่อยังอยู่นิ่ง ๆ มีความสับสนระหว่างสัญญาณร่วมกับหูชั้นใน สมดุลเสียไป ทำให้มีอาการโคลงเคลงได้ บางคนมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ตามมาได้ด้วย
ส่วนใหญ่มีอาการนานเป็นชั่วโมงถึงเป็นวัน แต่มีบางคนมีอาการอยู่ได้เป็นเดือน
ใครที่มีอาการนาน ๆ ต้องดูว่าเป็นจากแผ่นดินไหวจริง ๆ ใช่หรือไม่
บางครั้งอาจเป็นจากโรคอื่น ๆ ต้องสังเกตดูว่ามีแขน ขา อ่อนแรงด้วยหรือไม่ หรือมีหน้าเบี้ยวร่วมด้วย อาจจะไม่ใช่อาการเวียนศีรษะจากแผ่นดินไหว แต่เป็นเรื่องของระบบสมอง
มีอาการเข้าข่ายเมาแผ่นดินไหว ปฏิบัติตัวอย่างไร ?
อาการ “เมาแผ่นดินไหว” เป็นไม่นานก็ดีขึ้น พักผ่อนให้เพียงพอแล้วหาย สันนิษฐานได้ว่าน่าจะเป็นจากเมาแผ่นดินไหว
ในคนที่เมาแผ่นดินไหวพยายามใช้วิธีแก้ไขหลายอย่างแล้วก็ยังไม่ดีขึ้น จำเป็นต้องกินยาแก้วิงเวียนศีรษะ ไดเมนไฮดริเนต (Dimenhydrinate) แต่ต้องระวังผลข้างเคียงที่ทำให้ง่วงนอนได้
นอกจากนี้ ควรปฏิบัติตัวเพื่อบรรเทาอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ได้แก่
1. ตั้งสติ อย่าเครียด อย่าวิตกกังวล ถ้ายิ่งเครียด ยิ่งวิตกกังวล และเสพข่าวแผ่นดินไหวมาก อาจกระตุ้นให้เป็นมากขึ้น
2. พยายามอยู่บริเวณที่ปลอดภัย เว้นการอยู่ใกล้เครื่องจักรชนิดต่าง ๆ และของมีคม
3. รู้สึกโคลงเคลง เดินไม่ได้ ทรงตัวไม่ได้ การทำกายภาพอาจช่วยได้
4. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอช่วยได้ แต่การนอนไม่มีคุณภาพอาจทำให้มึนศีรษะได้
5. ถ้ายังมีอาการอยู่ ทั้ง ๆ ที่แผ่นดินไหวผ่านไป 3 เดือนแล้ว แนะนำว่าควรไปพบแพทย์
ดังนั้น จะต้องตรวจสอบข้อมูลให้แน่ชัดจาก กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา ว่าเกิดแผ่นดินไหวหรือไม่ ความรุนแรงเป็นอย่างไร หรือตัวเราโคลงเคลงจึงคิดไปเองว่าเกิดแผ่นดินไหว
สัมภาษณ์โดย พีรพล อนุตรโสตถิ์
เขียนและเรียบเรียงโดย คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ดูเพิ่มเติมรายการ ชัวร์ก่อนแชร์ FACTSHEET : สมองเมาแผ่นดินไหว
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter