บนสื่อสังคมออนไลน์มีการแชร์เตือนว่าไม่ควรดื่มนมตอนท้องว่าง เพราะจะกัดกระเพาะและทำให้ท้องอืดได้ จริงหรือ ?
🎯 ตรวจสอบข้อเท็จจริงและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ ผศ.ดร.ภกญ.พิมพิกา กาญจนดำเกิง ภาควิชาอาหารเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ตอนท้องว่างไม่ควรดื่มนมนั้น มีบางส่วนจริงสำหรับคนที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร แล้วก็เป็นผู้ที่มีปัญหาน้ำย่อยน้ำตาลในนม หรือน้ำตาลแล็กโทส (lactose) ไม่เพียงพอ แต่คนที่สุขภาพดีทั่ว ๆ ไป สามารถดื่มนมตอนท้องว่างได้
นมจะแปรสภาพเป็นกรดอ่อน ๆ เมื่อลงไปอยู่ในท้องและจะกัดกระเพาะ จริงหรือ ?
นมไม่สามารถกัดกระเพาะอาหาร แต่ตามหลักทางวิทยาศาสตร์ นมมีองค์ประกอบของโปรตีนและแคลเซียมที่สามารถกระตุ้นการหลั่งกรดในกระเพาะได้ ก็จึงแนะนำให้หลีกเลี่ยงการดื่มนม ในคนที่เป็นโรคกระเพาะอาหาร
ถ้าแบ่งตามหลักทางวิทยาศาสตร์แล้ว นมตามธรรมชาติจะมีความเป็นกรดอ่อน ๆ แต่ความเป็นกรดอ่อนของนมแทบจะไม่ต่างจากความเป็นกลางเลย เนื่องจากนมตามธรรมชาติจะมีองค์ประกอบเป็นเกลือของกรด และโปรตีนในนม แล้วก็ยังมีเรื่องของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วย
ในคนที่ไม่ได้มีปัญหาเกี่ยวกับโรคระบบทางเดินอาหารหรือปัญหาโรคกระเพาะอาหาร ไม่ได้มีภาวะการพร่องหรือว่าการขาดน้ำย่อยที่ย่อยน้ำตาลในนมหรือน้ำตาลแล็กโทส ก็จะสามารถดื่มนมได้ตามปกติ
หลายคนอาจดื่มนมตอนท้องว่าง ด้วยความเข้าใจที่ว่านมช่วยเคลือบกระเพาะ นมช่วยเคลือบกระเพาะได้จริงหรือ ?
ถ้าใช้คำว่า “เคลือบกระเพาะ” จะบอกว่าไม่จริง
เนื่องจากคำว่า “เคลือบกระเพาะ” หมายถึง การที่นมสามารถเข้าไปเคลือบเยื่อบุ หรือแผลในกระเพาะได้ ซึ่งอันนี้ไม่ได้มีการศึกษา แต่ว่านมสามารถช่วยลดความเป็นกรดในกระเพาะได้ แต่ช่วยได้แค่ระยะเวลาสั้น ๆ หลังจากนั้นแล้วในระยะยาว องค์ประกอบในนมสามารถกระตุ้นการหลั่งกรดได้ชัดเจนกว่า
การดื่มนมตอนท้องว่าง ทำให้ท้องอืด จริงหรือ ?
อาจจะจริงในผู้ที่มีปัญหาน้ำย่อยน้ำตาลแล็กโทสไม่เพียงพอ
ในประเทศไทยพบผู้ที่มีปัญหาน้ำย่อยน้ำตาลแล็กโทสไม่เพียงพอ ทั้งคนที่มีอาการมากและอาการน้อย
ถ้าคนที่มีอาการมากดื่มนมตอนท้องว่าง ก็จะยิ่งทำให้เกิดอาการท้องอืด หรือว่าท้องเสียได้
สำหรับคนที่มีอาการไม่มากดื่มนมปริมาณไม่มาก ก็จะสามารถทนต่อน้ำตาลแล็กโทสแล้วก็ย่อยน้ำตาลแล็กโทสได้ปกติ ก็จะไม่ค่อยพบปัญหาท้องอืดหรือว่าท้องเสีย
นอกจากนมแล้ว น้ำเต้าหู้หรือนมถั่วเหลือง ก็ไม่ควรดื่มตอนท้องว่างด้วยเหตุผลเดียวกัน จริงหรือ ?
เรื่องนี้ต้องแล้วแต่คนเหมือนกัน เนื่องจากในนมถั่วเหลืองหรือน้ำเต้าหู้เองก็มีคาร์โบไฮเดรตที่ร่างกายไม่สามารถย่อยได้
คาร์โบไฮเดรตที่ร่างกายไม่สามารถย่อยได้ในนมถั่วเหลืองตัวนี้ จะทำให้เกิดอาการท้องอืดหรือว่าก๊าซในกระเพาะอาหารได้เหมือนกัน
เนื่องจากตัวคาร์โบไฮเดรตที่ร่างกายไม่สามารถย่อยได้เหล่านี้ สามารถจะถูกใช้โดยเชื้อจุลินทรีย์ในลำไส้ แล้วเกิดการสร้างเป็นก๊าซหรือกรดขึ้นในทางเดินอาหารของคนเราได้
นมจะเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ก็ต่อเมื่อมีอาหารประเภทแป้งรองรับอยู่ก่อนแล้ว จริงหรือ?
เรื่องนี้มีส่วนจริงในกรณีดื่มนมตอนท้องว่าง การเคลื่อนที่ของนม (ของเหลว) จะเคลื่อนที่ไปอย่างรวดเร็ว ผ่านกระเพาะอาหารไปสู่ลำไส้อย่างรวดเร็ว ทำให้การย่อยและการดูดซึมสารอาหารในนมไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่
เพราะฉะนั้น ถ้าเรากินอาหารประเภทอื่นรองรับ ซึ่งไม่จำกัดกับอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตหรือแป้ง เราอาจจะดื่มนมร่วมกับซีเรียลหรือธัญพืช ให้มีปริมาณอาหารที่เป็นของแข็งร่วมกับนมที่เป็นของเหลว ก็จะช่วยชะลอให้เกิดการย่อยและการดูดซึมสารอาหารต่าง ๆ ในนมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
สรุปว่า “ไม่ควรดื่มนมตอนท้องว่าง” ที่แชร์กันนี้ ไม่ควรแชร์ต่อ ถึงแม้ว่าจะมีบางส่วนเป็นความจริง มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ และมีข้อแม้ต่าง ๆ ของแต่ละบุคคล หรือขึ้นอยู่กับโรคประจำตัวของแต่ละบุคคล
สัมภาษณ์โดย ณัฐี วัฒนกูล
เรียบเรียงโดย คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ดูเพิ่มเติมรายการ ชัวร์ก่อนแชร์ : ไม่ควรดื่มนมตอนท้องว่าง จริงหรือ ?
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter