กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข แนะท่านวดที่ถูกต้องได้มาตรฐาน รวมถึงวิธีการตรวจสอบสถานประกอบการฯ ก่อนรับบริการเพิ่มความมั่นใจ
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนถึงกรณีสาเหตุการเสียชีวิตของผู้ป่วย “ผิง ชญาดา” ว่า ภายหลังข้อมูลการเอกซเรย์และการตรวจ MRI สรุปวินิจฉัยว่า ผู้ป่วยเป็น “โรคไขสันหลังอักเสบ” และเสียชีวิตจากการ “ติดเชื้อในกระแสเลือด” ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับการนวด และขอให้ประชาชนมั่นใจเรื่องการนวดแผนไทยและการแพทย์แผนไทย เพราะกระทรวงสาธารณสุขมีการจัดทำแนวทางปฏิบัติเพื่อการตรวจคุณภาพสถานพยาบาลการแพทย์แผนไทยให้มีมาตรฐาน
กรมการแพทย์แผนไทยฯ แนะนำการนวดไทยที่ถูกต้อง
นายแพทย์สมฤกษ์ จึงสมาน อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข อธิบายศาสตร์การรักษา “นวดแผนไทย” ว่า การนวดไทยเป็นกระบวนการดูแลสุขภาพที่ต้องมีหลักการหรือองค์ความรู้ในการนวดตามแนวเส้นประธานสิบ ซึ่งจะช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย บรรเทาอาการปวดเมื่อย สำหรับการนวดไทยแบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ การนวดเพื่อผ่อนคลาย/นวดเพื่อสุขภาพ และการนวดเพื่อการรักษา ประกอบด้วย
หลักสูตรนวดเพื่อสุขภาพ 150 ชั่วโมง กลุ่มนี้จะไม่มีการบิด ดัด แต่เป็นการนวดคอ บ่า แขน ขา สะบักและหลัง วัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาอาการปวดเมื่อยและผ่อนคลายกล้ามเนื้อ
หลักสูตรการนวดเพื่อการรักษา เป็นหลักสูตรการเรียนตั้งแต่ 330-1,300 ชั่วโมง (มีตั้งแต่ 330, 372, 800 และ 1,300 ชั่วโมง) วัตถุประสงค์เพื่อบำบัดรักษาแต่ละกลุ่มอาการ เช่น กลุ่มปวดกล้ามเนื้อ นิ้วล็อก หัวไหล่ติด อัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นต้น
ทั้งนี้ การนวดบริเวณคอในแพทย์แผนไทยนั้น มีวิธีการและท่าทางที่ต้องทำอย่างระมัดระวัง เนื่องจากคอเป็นบริเวณที่มีหลอดเลือดใหญ่ เส้นประสาทและกระดูกที่สำคัญ
ดังนั้น การนวดในพื้นที่นี้ควรทำด้วยความรู้และความระมัดระวัง เพื่อลดความเสี่ยงในการบาดเจ็บ หรือการทำให้ปัญหาที่มีอยู่รุนแรงขึ้น โดยท่านวดบริเวณคอ ประกอบด้วย
การนวดคลึง : เป็นการคลึงเบา ๆ ที่กล้ามเนื้อบริเวณคอทั้งสองข้าง (ที่มีความตึงเครียด) โดยใช้ปลายนิ้ว หรือข้อนิ้วช่วยในการกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดและบรรเทาความตึงเครียด
การกดจุด : เป็นการใช้แรงกดในจุดต่าง ๆ บริเวณคอ เช่น บริเวณจุดต้นคอเพื่อกระตุ้นการผ่อนคลาย
การบิดหรือหมุนคอ : เป็นการบิดคออย่างนุ่มนวลและระมัดระวัง ซึ่งไม่ควรบิดเกินขีดจำกัดของความยืดหยุ่นของคอ โดยต้องใช้การหมุนที่ไม่รุนแรงและทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป
การยืดคอ : เป็นการยืดคออย่างเบา ๆ โดยการดึงคอหรือหมุนศีรษะไปด้านข้าง เพื่อช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับกล้ามเนื้อและกระดูกสันหลัง
การนวดเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อ : เป็นการนวดบริเวณที่เชื่อมต่อระหว่างกระดูกสันหลัง กล้ามเนื้อ และเส้นเอ็นในคอเพื่อช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อ
“ข้อห้าม” และ “ข้อควรระวัง” ในการนวด มีดังนี้
• ข้อห้าม ในการนวด ได้แก่
1) ห้ามนวดบริเวณที่เป็นมะเร็ง
2) ห้ามนวดผู้ที่มีไข้สูงเกิน 38.5 องศา
3) ห้ามนวดบริเวณที่มีอาการอักเสบ บวม แดง ร้อน
4) ผู้ที่มีภาวะการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ
5) ห้ามนวดบริเวณกระดูกแตก หัก ปริ ร้าว ที่ยังไม่หายดี
6) ห้ามนวดผู้ที่เป็นโรคติดเชื้อทางผิวหนังทุกชนิด
• ข้อควรระวัง ในการนวด ได้แก่
1) สตรีมีครรภ์
2) ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันเลือดสูง
3) ผู้ที่ใส่อวัยวะเทียม หลังผ่าตัดกระดูก
4) ผู้ที่มีภาวะกระดูกพรุน กระดูกบาง
5) ผู้ที่เพิ่งกินอาหารอิ่มใหม่ ๆ (ไม่เกิน 30 นาที) และก่อนให้บริการนวดไทย
ผู้ให้บริการด้านการนวด มี 3 ประเภท ได้แก่
- ให้บริการนวดเพื่อสุขภาพ (หมอนวด) เรียน 150 ชั่วโมง อยู่ในกำกับของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ปฏิบัติงานในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ร้านนวดเพื่อสุขภาพ และสปา
- ผู้ช่วยแพทย์แผนไทย เรียนตั้งแต่ 330, 372, 800 และ 1,300 ชั่วโมง อยู่ในกำกับของสภาการแพทย์แผนไทย ปฏิบัติงานในโรงพยาบาล และคลินิก (ทั้งภาครัฐและเอกชน)
- แพทย์แผนไทย/แพทย์แผนไทยประยุกต์ ที่มีใบประกอบวิชาชีพ จากสภาการแพทย์แผนไทย ปฏิบัติงานในโรงพยาบาล และคลินิก (ทั้งภาครัฐและเอกชน)
ทางด้าน ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า การให้บริการของสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ทั้งสปาหรือนวดเพื่อสุขภาพนั้น เพื่อความปลอดภัยของผู้รับบริการ สถานประกอบการเพื่อสุขภาพทุกแห่งจะต้องขออนุญาตประกอบกิจการตามที่พระราชบัญญัติสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ.2559 และที่แก้ไขเพิ่มเติมได้กำหนดไว้ โดยสามารถยื่นเรื่องขออนุญาตประกอบกิจการกับ กรม สบส. หรือ สสจ. ในพื้นที่ ซึ่งจะมีการตรวจประเมินมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนดก่อนดำเนินการอนุญาตฯ
ตรวจสอบหลักฐานสำคัญ 3 ประการ จากสถานประกอบการเพื่อสุขภาพที่ถูกต้องตามกฎหมาย
สำหรับการเลือกเข้ารับบริการประชาชนสามารถตรวจสอบหลักฐานสำคัญ 3 ประการ จากสถานประกอบการเพื่อสุขภาพที่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งจะแสดงไว้ ณ จุดบริการ ดังนี้
1. มีการแสดงใบอนุญาตประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพที่ออกโดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด
2. มีการแสดงตราสัญลักษณ์มาตรฐาน สบส. เป็นรูปมือจีบสีทองและดอกกล้วยไม้สีม่วง
3. หากเป็นสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ประเภทสปา จะต้องมีการแสดงใบอนุญาตของผู้ดำเนินการในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพอีกด้วย
4. หากตรวจแล้วไม่มีการแสดงหลักฐาน หรือแสดงไม่ครบ ไม่ควรรับบริการเพราะอาจจะเกิดอันตรายได้ ทั้งนี้ เพื่อความมั่นใจ ประชาชนสามารถตรวจสอบใบอนุญาตได้ว่าจริงหรือไม่ โดยสแกนดูข้อมูลใน QR Code ในใบอนุญาตว่าตรงกันหรือไม่ และสามารถตรวจสอบรายชื่อร้านนวดและผู้ให้บริการที่ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องได้ที่เว็บไซต์ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ https://hss.moph.go.th/
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter