10 ธันวาคม 2567
แปลและเรียบเรียงบทความ : อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ข้อมูลที่ถูกแชร์ :
มีข้อมูลเท็จเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้าเผยแพร่ในต่างประเทศ เมื่อ โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีคนที่ 47 ของสหรัฐฯ อ้างระหว่างหาเสียงเลือกตั้งในช่วงปี 2024 ว่า นโยบายผลักดันยานยนต์พลังงานไฟฟ้าของ ประธานาธิบดี โจ ไบเดน กำลังส่งผลเสียต่อกองทัพสหรัฐฯ เนื่องจากมีแผนเปลี่ยนยานยนต์ของกองทัพให้กลายเป็นรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด รวมถึงรถถังที่ใช้ในสงครามอีกด้วย ทำให้รถถังมีระยะทางที่จำกัด และต้องมีแหล่งสำรองพลังงานที่มีขนาดใหญ่พอ ๆ กับขนาดของรถถังเองอีกด้วย
บทสรุป :
- นโยบาย Climate Strategy ย้ำการปรับเปลี่ยนยานยนต์ชนิด รถช่วยรบ (Tactical vehicle) และ รถมิใช่ยานรบ (Non-tactical vehicle) ให้เป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในอนาคต
- แต่นโยบาย Climate Strategy ไม่ได้กล่าวถึงยานรบ (Combat vehicle) ซึ่งรวมถึงรถถัง ว่าจำเป็นต้องเปลี่ยนเป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้าแต่อย่างใด
FACT CHECK : ตรวจสอบข้อเท็จจริง :
ข้ออ้างดังกล่าวมาจากนโยบาย Climate Strategy ที่กองทัพสหรัฐฯ ประกาศแผนเมื่อปี 2022 เพื่อหวังเสริมศักยภาพกองทัพและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
โดยเน้นไปที่การเปลี่ยนยานยนต์ของกองทัพให้กลายเป็นรถยนต์ไฟฟ้า
ยานพาหนะทหาร แบ่งเป็น 3 ประเภทได้แก่
ยานรบ (Combat vehicle)
รถช่วยรบ (Tactical vehicle)
รถมิใช่ยานรบ (Non-tactical vehicle)
แผนการสำคัญของ Climate Strategy มีดังนี้
รถมิใช่ยานรบขนาดเล็ก (Light-duty non-tactical vehicle) ปรับเปลี่ยนเป็นรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมดภายในปี 2027
รถมิใช่ยานรบ (Non-tactical vehicle) ปรับเปลี่ยนเป็นรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมดภายในปี 2035
รถช่วยรบ (Tactical vehicle) ปรับเปลี่ยนเป็นรถยนต์ไฮบริดทั้งหมดภายในปี 2035
รถช่วยรบ (Tactical vehicle) ปรับเปลี่ยนเป็นรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมดภายในปี 2050
อย่างไรก็ดี แม้กองทัพสรัฐฯ มีแผนที่จะปรับเปลี่ยนยานพาหนะของกองทัพให้พึ่งพาพลังงานไฟฟ้ามากขึ้น แต่นโยบาย Climate Strategy ไม่รวมถึงยานพาหนะชนิด Combat Vehicle หรือ ยานรบ ซึ่งรวมถึงรถถังที่ใช้ในสนามรบแต่อย่างใด จึงไม่มีหลักฐานว่า กองทัพสหรัฐฯ จะสร้างกองทัพรถถังไฟฟ้าตามที่ โดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวอ้าง
นโยบาย Climate Strategy ของกองทัพสหรัฐฯ ถูกนักการเมืองสหรัฐฯ ฝั่งรีพับลิกันต่อต้านอย่างแพร่หลาย โดยอ้างว่า การเปลี่ยนยานพาหนะทหารให้กลายเป็นรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมดจะนำมาซึ่งปัญหา เช่น การตกเป็นเป้าโจมตีด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าแรงสูงหรือ Electromagnetic Pulse (EMP) ซึ่งเป็นการปลดปล่อยพลังแม่เหล็กไฟฟ้าไปทำลายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทำให้ใช้งานไม่ได้ รวมถึงข้อจำกัดการหาที่ชาร์จไฟฟ้าระหว่างทำภารกิจในสนามรบที่อยู่ห่างไกล
ฟาเบียน วิลลาโลโบส วิศวกรจากสถาบันวิจัย Rand Corp ซึ่งมีแผนกวิจัยด้านการทหาร และให้การสนับสนุนข้อมูลแก่กองทัพสหรัฐฯ อธิบายว่า ความเสี่ยงจากการถูกโจมตีด้วย EMP เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับกองทัพที่ใช้ยานยนต์จากเชื้อเพลิงฟอสซิลเช่นกัน เพราะปัจจุบันมีการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และไมโครชิปติดตั้งในยานยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในอยู่แล้ว การหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าในกองทัพ ไม่ทำให้ความเสี่ยงต่อการตกเป็นเป้าโจมตีโดย EMP เพิ่มขึ้นหรือลดลง
ส่วนข้ออ้างอุปสรรคการหาที่ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าในสนามรบ ฟาเบียน วิลลาโลโบส ก็ย้ำว่าในสนามรบก็ไม่มีปั๊มน้ำมันเหมือนกัน ดังนั้นอุปสรรคด้านพลังงานสำรองจึงไม่แตกต่างกันอย่างที่เข้าใจ
แม้การเปลี่ยนยานยนต์ในกองทัพให้กลายเป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้าจะเหมือนเป็นเรื่องใหม่ แต่แท้จริงแล้ว กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เคยศึกษาความเป็นไปได้ของการเปลี่ยนรถมิใช่ยานรบ (Non-tactical vehicle) ให้กลายเป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้า มาตั้งแต่ปี 2012 แล้ว
บทความเรื่อง The Lethality Case for Electric Military Vehicles จากเว็บไซต์ Modern War Institute ของโรงเรียนเตรียมทหาร United States Military Academy หรือ West Point ระบุว่า การเปลี่ยนยานยนต์ในกองทัพให้เป็นยานยนต์ไฟฟ้า ไม่เพียงส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังเสริมศักยภาพให้กับกองทัพได้อีกด้วย ทั้งการประหยัดงบประมาณด้านการลดการพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศ การไม่ต้องส่งเสบียงน้ำมันไปยังสมรภูมิด่านหน้าบ่อย ๆ ก็ลดความเสี่ยงให้กับพลทหารได้มาก
นอกจากนี้ คุณสมบัติของยานยนต์ไฟฟ้า ที่เงียบกว่ารถยนต์น้ำมันและไม่ทิ้งร่องรอยจากท่อไอเสียเหมือนรถยนต์น้ำมัน ก็เหมาะกับภารกิจอำพรางตนจากศัตรูอย่างมาก
ข้อมูลอ้างอิง :
https://www.factcheck.org/2023/11/trumps-false-claim-that-u-s-military-moving-to-electric-tanks/
https://www.politifact.com/factchecks/2023/dec/21/donald-trump/trump-said-the-biden-administration-wants-to-make/
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter