ปรสิตหลายชนิดเมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วอาจส่งผลร้าย มีบางชนิดอาจจะส่งผลถึงสมองของเรา มาทำความรู้จัก 4 ปรสิตใกล้ตัวคนไทย ที่มีภัยต่อสมอง
🎯 ตรวจสอบข้อเท็จจริงและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ ผศ.ดร.ทวี สายวิชัย ภาควิชาปรสิตวิทยาและกีฏวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
“ปรสิต” สิ่งมีชีวิตที่เข้าสู่ร่างกายของเราแล้วอาจส่งผลร้าย และบางชนิดอาจจะมีภัยถึงสมองได้
ตัวที่ 1. “อะมีบา” ?
อะมีบา (Amoeba) หรือเชื้ออะมีบา เป็นสัตว์เซลล์เดียวประเภทโปรโตซัว (protozoa) ชนิดหนึ่งที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า มีขนาดใหญ่กว่าแบคทีเรียไม่มากนัก
ปกติแล้ว “อะมีบา” เข้าสู่ร่างกายคนจากการกินอาหาร ดื่มน้ำ ที่มีการปนเปื้อนของอะมีบาระยะติดต่ออยู่ โดยส่วนใหญ่ปนออกมากับอุจจาระ และอุจจาระไปปนเปื้อนกับผัก ผลไม้ น้ำ เมื่อคนเรากินเข้าไป อะมีบาตัวนี้จะมีผลกับลำไส้ ไปทำลายเซลล์ลำไส้ เมื่อเซลล์ลำไส้ทำงานไม่ได้ก็จะเกิดอาการท้องร่วง และอาการอาจจะรุนแรงกว่าท้องร่วงได้
ถ้าอาการรุนแรง ปรสิตชนิดนี้จะกินเซลล์ลำไส้ลึกลงไปถึงหลอดเลือดฝอยที่มาเลี้ยงลำไส้ เข้าสู่กระแสเลือด จากนั้นส่วนใหญ่จะไปที่ปอดและสมอง เมื่อปรสิตไปที่ไหนก็จะกินเซลล์ตัวนั้น ไปที่สมองก็จะเกิดเป็นฝีที่สมอง
อะมีบาบางชนิดก่อให้เกิดโรคในคนได้ เป็นอะมีบาที่อาศัยเป็นอิสระในธรรมชาติตามแหล่งน้ำ ดิน โคลนเลน มีด้วยกัน 2 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์เนจีเรีย ฟาวเลอรี (Naegleria fowleri) และสายพันธุ์อะคันทามีบา (Acanthamoeba)
สายพันธุ์เนจีเรีย ฟาวเลอรี ถูกพบเป็นครั้งในปี พ.ศ. 2526 และยังพบในประเทศเขตร้อนหรือเขตอบอุ่นเกือบทั่วโลก ส่วนในประเทศไทยพบได้จากการสำรวจแหล่งน้ำในหลายจังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา สุรินทร์ อุบลราชธานี และศรีสะเกษ นอกจากนี้ยังมีเพิ่มเติมจากปทุมธานีและสมุทรปราการ ซึ่งพบได้ตามแหล่งน้ำขังในเขตอุตสาหกรรมทั่วไปด้วย
อะมีบาสายพันธุ์ดังกล่าว สามารถเจริญเติบโตได้ดีที่อุณหภูมิสูงถึง 45 องศาเซลเซียส พวกมันสามารถพบได้ตามแหล่งน้ำโดยทั่วไป ยกเว้นน้ำกร่อยหรือน้ำทะเล
ในส่วนของสายพันธุ์อะคันทามีบา ถูกพบครั้งแรก พ.ศ. 2501 สามารถพบได้เกือบทั่วโลก ส่วนในประเทศไทยมีการสำรวจพบจากแหล่งน้ำธรรมชาติ จังหวัดนครราชสีมา สามารถพบได้ตามแหล่งน้ำ ดิน และโคลนเลนเช่นเดียวกับสายพันธุ์เนจีเรีย ฟาวเลอรี แต่ที่ต่างกันคือ สามารถพบได้ในน้ำกร่อยและน้ำทะเลด้วย โดยจะเจริญเติบโตได้ดีที่สุดที่อุณหภูมิ 25–35 องศาเซลเซียส
ตัวที่ 2. ท็อกโซพลาสมา กอนดิอาย
ท็อกโซพลาสมา กอนดิอาย (Toxoplasma gondii) ตัวนี้เป็น “โปรโตซัว” ปกติก็ก่อโรคบิด เป็นพยาธิที่อยู่ระหว่างหนูกับแมว ระยะติดต่อก็จะปนออกมากับอุจจาระแมว เสร็จแล้วหนูมากินอาหารที่มีการปนเปื้อนกับอุจจาระแมว หนูก็จะได้รับเชื้อโปรโตซัวไป
การเข้าสู่ร่างกายคนของปรสิตชนิดนี้ เกิดจากที่บางครั้งหมู วัว ไก่ กินอาหารที่มีการปนเปื้อนของอุจจาระแมว ก็จะได้รับพยาธิชนิดนี้เข้าไป แล้วคนกินเนื้อสัตว์เหล่านี้ที่ไม่สุก ก็จะมีพยาธิตัวนี้ติดเข้าไปได้
บางคนอาจจะเลี้ยงแมว ตอนเก็บอุจจาระแมวอาจจะมีการปนเปื้อนตามเล็บมือ เวลาไปกินอาหารเราก็ได้รับพยาธิตัวนี้ พยาธิตัวนี้ก็จะไชทะลุลำไส้ เข้าสู่กระแสเลือด แล้วก็ไปตามอวัยวะต่าง ๆ รวมทั้งสมองด้วย
ปรสิตชนิดนี้ยังเป็นภัยต่อเด็กที่อยู่ในท้องแม่ด้วย โดยติดต่อผ่าน ‘รก’ ได้ เชื้อก็จะผ่าน ‘รก’ มาหาลูกที่อยู่ในท้อง เวลาคลอดออกมาเป็นทารก บางครั้งก็จะมีการเสียชีวิตตอนแรกคลอด หรือถ้าไม่เสียชีวิตตอนแรกคลอด อาการทางสมองก็จะค่อย ๆ พัฒนารุนแรงขึ้น คุณแม่สามารถตรวจได้ เมื่อทราบว่าคุณแม่ติดปรสิต ก็สามารถที่จะปรึกษาคุณหมอได้เป็นระยะ ๆ
ตัวที่ 3. ปรสิตอีกตัวหนึ่งที่ควรระวังคือ พยาธิตืดหมู ?
พยาธิตัวตืด (Taenia spp.) ที่ควรระวังก็คือ พยาธิตัวตืดวัว (Taenia saginata) และพยาธิตัวตืดหมู (Taenia solium) มีทั้งระยะตัวอ่อนกับระยะตัวเต็มวัย
พยาธิระยะตัวเต็มวัย อยู่ในคนก็สามารถที่จะออกไข่ อยู่ในปล้อง พอปล้องหลุดก็ปล้องแตก ไข่ก็จะปนออกมากับอุจจาระคน
พยาธิระยะตัวอ่อน จะอยู่ในเนื้อหมู คนกินเนื้อหมูดิบก็จะได้รับเข้าไป ซึ่งเมื่อพยาธิตืดหมูเข้าสู่ร่างกายแล้วอาจจะไปสู่สมองได้
บางครั้งการจัดการของอุจจาระไม่ค่อยดี เช่น อาจจะมีการปนเปื้อนของอุจจาระคนกับอาหารที่กิน หรือแม้กระทั่งดื่มน้ำที่มีการปนเปื้อนของไข่พยาธิตืดหมู เวลากินเข้าไปตัวอ่อนที่อยู่ในไข่ก็จะออกมาจากไข่ แล้วไชทะลุลำไส้ จากนั้นเข้าสู่กระแสเลือด แล้วพัฒนาไปเป็นตัวอ่อนตามกล้ามเนื้อต่าง ๆ ในร่างกาย ซึ่งรวมถึงสมองด้วย
ตัวที่ 4. ปรสิตอีกตัวที่ใกล้ตัวคนไทย คือ พยาธิปอดหนู ?
พยาธิปอดหนู (Angiostrongylus Cantonensis) หรือพยาธิหอยโข่ง
“พยาธิปอดหนู” เป็นพยาธิตัวกลมที่เป็นสาเหตุของโรคสมองและเยื่อหุ้มสมองอักเสบในคน ซึ่งพบมากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีประวัติการกินเนื้อหอยโข่ง หอยเชอรี่ หรือเนื้อสัตว์จำพวกกุ้ง ปู กบ และตะกวด ปรุงแบบดิบ ๆ หรือดิบ ๆ สุก ๆ เช่น นำมาทำก้อย ยำ ลาบ พล่า หรือการกินพืช ผักสด หรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนด้วยตัวอ่อนระยะติดต่อของพยาธิหอยโข่ง
พยาธิหอยโข่งนั้นโดยธรรมชาติเป็นพยาธิของหนู เช่น หนูนา หนูท่อ หนูป่า พยาธิตัวเต็มวัยเพศผู้และเพศเมียจะอาศัยอยู่ในหลอดเลือดแดงของปอดหนู เมื่อหนูถ่ายอุจจาระจะมีพยาธิตัวอ่อนปะปนมา เมื่อหอย (ทั้งหอยบก หอยน้ำจืด และตัวทาก) กินตัวอ่อนของพยาธิหรือตัวอ่อนของพยาธิไชเข้าตัวหอยจะเจริญเติบโตเป็นตัวอ่อนระยะติดต่อขดตัวอยู่ในกล้ามเนื้อหรืออวัยวะของหอย และเมื่อคนนำหอยมากินโดยไม่ทำให้สุกก่อน ตัวอ่อนระยะติดต่อของพยาธิจะเข้าสู่ร่างกาย ไปตามกระแสเลือด แล้วเคลื่อนที่เข้าสู่สมอง
เมื่อ “พยาธิเข้าไปในสมองแล้ว” จะเจริญเติบโตและเคลื่อนย้ายอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดการอักเสบของสมองและเยื่อหุ้มสมอง ผู้ป่วยจะมีจำนวนเม็ดเลือดขาวชนิดอีโอสิโนฟิล (eosinophil) ขึ้นสูงในน้ำไขสันหลัง ผู้ป่วยบางรายอาจหมดสติได้ บ่อยครั้งที่พยาธิเคลื่อนที่เข้าไปอยู่ในลูกตา ทำให้เยื่อบุภายในตาฉีกขาดและมีเลือดออก อาจจะทำให้ตาบอดได้ การกินเนื้อสัตว์ชนิดอื่นที่ปรุงไม่สุก อาทิ กุ้งฝอย ปู กบ ตะกวด ซึ่งกินหอยที่มีพยาธิ ก็มีโอกาสได้รับพยาธิเข้าสู่ร่างกายได้เช่นกัน
คนที่ติดโรคพยาธิหอยโข่งมี “สัญญาณอันตราย” ตั้งแต่ไม่แสดงอาการ มีอาการเพียงเล็กน้อย หรือมีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจำนวนพยาธิที่กินเข้าไป รวมทั้งภาวะภูมิคุ้มกันและสุขภาพอนามัยของผู้ได้รับพยาธิ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง คอแข็งและหลังแข็ง บางรายอาจพบอาการอัมพาตบางส่วนของแขน ขา หรือใบหน้าได้
เนื่องจากพยาธิชนิดนี้ไม่สามารถเจริญเติบโตเป็นตัวแก่ในร่างกายคนได้ สุดท้ายพยาธิก็จะตายในตัวของคนเรา แต่ว่าก่อนตายเวลาพยาธิไชไปที่สมอง จะทำให้ปวดศีรษะรุนแรงมาก เมื่อพยาธิออกจากสมองจะเลื้อยไปอวัยวะอื่น ๆ ของร่างกายและสุดท้ายก็ตาย
ป้องกันปรสิตชนิดต่าง ๆ เข้าสู่ร่างกาย ?
การป้องกันที่ดีที่สุด หลีกเลี่ยงการกินเนื้อปลาและเนื้อสัตว์ทุกชนิดแบบสุก ๆ ดิบ ๆ กินอาหารที่ไม่มีการปนเปื้อน หรือล้างผักและผลไม้ให้สะอาด
โรคที่เกิดจากการกินอาหารเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุก ๆ ดิบ ๆ ถึงแม้จะเป็นโรคที่พบได้ไม่บ่อยเหมือนโรคติดเชื้อชนิดอื่น แต่ก็เป็นโรคที่บั่นทอนสุขภาพ และทำให้เกิดโรครุนแรงและเสียชีวิตได้
เปลี่ยนพฤติกรรมการกินป้องกันโรคได้ นั่นคือกินอาหารที่ปรุงสุกด้วยความร้อนสูงเท่านั้น ซึ่งรวมถึงการดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคล เพราะเป็นสิ่งสำคัญในการลดความเสี่ยงที่เชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ จะเข้าสู่ร่างกาย
สัมภาษณ์โดย ณัฐวัฒน์ จิตรมั่น
เรียบเรียงโดย คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ดูเพิ่มเติมรายการ ชัวร์ก่อนแชร์ FACTSHEET : 4 ปรสิตใกล้ตัวคนไทย ที่มีภัยต่อสมอง
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter