บนสื่อสังคมออนไลน์มีการแชร์บทความเตือน มีผู้เสียชีวิตจากนกพิราบ เป็นคนที่ให้อาหารนกพิราบประจำติดต่อกัน 2 ปี สุดท้ายติดเชื้อราในสมอง รักษาไม่ได้และเสียชีวิต จริงหรือ ?
🎯 ตรวจสอบข้อเท็จจริงและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ รศ.ดร.นพ.นพพร อภิวัฒนากุล หัวหน้าหน่วยโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
ตัวนกพิราบมีเชื้อรา และเชื้อราอยู่ในมูลของนกพิราบ คนสามารถติดเชื้อราที่อยู่ในมูลนกพิราบได้ เชื้อราจากมูลนกพิราบทำให้เกิดการติดเชื้อในสมองได้จริง แต่จะต้องดูในรายละเอียดก็คือเป็นเชื้อราตัวไหน
เชื้อราที่มาจากมูลนกพิราบและทำให้ติดเชื้อในสมองก็คือเชื้อคริปโทค็อกคัส นีโอฟอร์แมนส์
ต้องดูรายละเอียดด้วยว่าคนที่เป็นโรคสมองอักเสบจากเชื้อคริปโทค็อกคัส นีโอฟอร์แมนส์ (Cryptococcus Neoformans) และเสียชีวิตมีโรคประจำตัวอะไรหรือเปล่า
การติดเชื้อราในสมองจากเชื้อคริปโทค็อกคัส นีโอฟอร์แมนส์ ส่วนใหญ่มักจะเกิดในคนที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง กินยากดภูมิคุ้มกัน เป็นผู้ป่วยโรคเบาหวานหรือโรคตับแข็ง หรือว่าเป็นโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องอื่น ๆ
สมมุติว่าเป็นผู้ป่วยเหล่านี้จริง การได้รับเชื้อปริมาณไม่มากก็สามารถเป็นโรคที่รุนแรงได้ แต่ถ้าเป็นคนที่ร่างกายแข็งแรงดี โอกาสที่ติดเชื้อคริปโทค็อกคัส นีโอฟอร์แมนส์ น้อยมาก ๆ
นอกจากจะต้องได้รับเชื้อคริปโทค็อกคัส นีโอฟอร์แมนส์ ปริมาณมาก ๆ ซึ่งกรณีนี้สัมผัสนกพิราบประมาณ 2 ปี แต่ละวันอยู่กับนกพิราบนาน ๆ ก็มีโอกาสติดเชื้อคริปโทค็อกคัส นีโอฟอร์แมนส์
เชื้อคริปโทค็อกคัส นีโอฟอร์แมนส์ มียารักษาหรือไม่ ?
“คริปโทค็อกคัส นีโอฟอร์แมนส์” เชื้อราตัวนี้มียารักษา และรักษาหายขาดได้
ถ้าผู้ป่วยได้พบแพทย์หรือทีมผู้รักษาได้ทันเวลา นั่นคือพบแพทย์ในช่วงต้น เนื้อสมองยังไม่ได้ถูกทำลายไปมาก ก็สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่การรักษาต้องใช้ระยะเวลานาน ตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 1 ปี
กรณีติดเชื้อในสมองจำนวนมาก และผู้ป่วยอ่อนแอ เช่น มีโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง มีโรคประจำตัวบางอย่าง ก็อาจจะเสียชีวิตได้เช่นเดียวกัน
รู้ได้อย่างไรว่าติดเชื้อคริปโทค็อกคัส นีโอฟอร์แมนส์ และมีเชื้อราในสมอง ?
เชื้อคริปโทค็อกคัส นีโอฟอร์แมนส์ เข้าสู่ร่างกายทางเดินหายใจไปอยู่ที่ปอด ผู้ป่วยอาจจะมีอาการทางปอดก่อน ซึ่งอาการทางปอดยังไม่รุนแรงได้ หลังจากนั้นเชื้อเข้าสู่กระแสเลือด ไปที่เยื่อหุ้มสมองและตัวเนื้อสมองทำให้เกิดการติดเชื้อ
ผู้ป่วยติดเชื้อคริปโทค็อกคัส นีโอฟอร์แมนส์ ที่สมองจะมีอาการไข้ ปวดศีรษะ และพบว่าอาการปวดศีรษะจะมีมากขึ้นเรื่อย ๆ
เมื่อผู้ป่วยปวดศีรษะมากขึ้นเรื่อย ๆ ความดันในกะโหลกศีรษะก็สูงมากขึ้น อาจจะทำให้การมองเห็นมีความผิดปกติ
นอกจากนี้ ถ้าเชื้อราไปสัมผัสกับเนื้อสมองบางส่วน อาจจะทำให้การรับรู้ตัวเปลี่ยนไป เช่น พฤติกรรมเปลี่ยนก็เป็นได้
เชื้อคริปโทค็อกคัส นีโอฟอร์แมนส์ อาจมีระยะฟักตัวค่อนข้างนานได้ เช่น จะอยู่ในปอดระยะเวลาหนึ่ง ถ้าร่างกายแข็งแรงก็สามารถควบคุมเชื้อตัวนี้ได้ เพราะมีภูมิคุ้มกันกดเชื้อคริปโทค็อกคัส นีโอฟอร์แมนส์ บางคนนานเป็นปีก็ได้
ในคนที่ร่างกายไม่แข็งแรงและได้รับเชื้อคริปโทค็อกคัส นีโอฟอร์แมนส์ เชื้อเข้าปอดปุ๊บอาจจะไปที่สมองเลยก็ได้ ขึ้นกับภาวะภูมิคุ้มกันร่างกายของแต่ละคน
ดังนั้น ไม่แนะนำให้เข้าใกล้นกพิราบ ถ้าเห็นนกพิราบฝูงใหญ่ ๆ หลีกเลี่ยงได้ดีที่สุด เพราะอาจจะมีเชื้อโรคบริเวณนั้นจำนวนมาก แต่ก็ไม่ถึงกับต้องกลัวนกพิราบ เช่น บินมาเกาะหลังคาบ้าน หรืออยู่ใกล้ ๆ บ้าน ไม่กี่ตัวก็คงไม่ทำให้ติดเชื้อง่ายขนาดนั้น ขอให้ล้างมือบ่อย ๆ และไม่เข้าใกล้นกพิราบโดยไม่จำเป็น
สวมหน้ากากอนามัย “ป้องกัน” เชื้อโรค ?
หน้ากากอนามัยที่ใส่กันทุกวันนี้ สามารถช่วยป้องกันเชื้อคริปโทค็อกคัส นีโอฟอร์แมนส์ จากนกพิราบได้ เพราะที่ผ่านมาขนาดเชื้อไวรัสโควิด-19 (COVID-19) ตัวเล็กกว่าเชื้อคริปโทค็อกคัส นีโอฟอร์แมนส์ หลายเท่า การสวมหน้ากากอนามัยยังช่วยป้องกัน COVID-19 ได้ ดังนั้น การสวมหน้ากากอนามัยอย่างถูกวิธี ช่วยป้องกันเชื้อคริปโทค็อกคัส นีโอฟอร์แมนส์ ได้เช่นกัน
สำหรับข้อความที่แชร์กัน ควรมีรายละเอียดเพิ่มเติมด้วย
1. ผู้ป่วยรายนั้นมีโรคประจำตัวอะไรด้วยหรือไม่ เช่น มีโรคตับแข็ง โรคเบาหวาน หรือกินยาอะไรบางอย่างอยู่หรือไม่
2. ควรจะลงรายละเอียดว่าเชื้อราที่ทำให้ป่วยและเสียชีวิต ชื่ออะไร
3. เชื้อราที่ทำให้เสียชีวิต รักษาไม่ได้จริงหรือไม่ ซึ่งเชื้อราบางชนิดไม่มียารักษา แต่บางตัวมียารักษาให้หายขาดได้เช่นเดียวกัน
เรื่องนี้จึงยังไม่ควรแชร์ต่อในวงกว้าง เพราะอาจจะทำให้คนที่อ่านและไม่เข้าใจเกิดความตระหนกเกินเหตุโดยไม่จำเป็น
ป้องกันการเกิดโรคไว้ก่อน หลีกเลี่ยงต้นเหตุของเชื้อโรค และอย่าลืมรักษาความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ
สัมภาษณ์โดย พีรพล อนุตรโสตถิ์
เรียบเรียงโดย คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ดูเพิ่มเติมรายการ ชัวร์ก่อนแชร์ : ให้อาหารนกพิราบ ติดเชื้อในสมอง ทำให้เสียชีวิต จริงหรือ ?
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter