บนสื่อสังคมออนไลน์มีการแชร์ 10 ข้อดีของกะปิ เช่น บำรุงกระดูก ป้องกันฟันผุ มีวิตามิดี บี 12 โอเมก้า 3 จริงหรือไม่ ?
🎯 ตรวจสอบข้อเท็จจริงและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ ผศ.ดร.กิตณา แมคึเน็น อาจารย์ภาควิชาโภชนาการและการกำหนดอาหาร คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ข้อความที่แชร์มีทั้งจริง และเป็นเหตุเป็นผลที่ไม่เกี่ยวข้องกัน
ข้อ 1. กะปิบำรุงกระดูก ?
แคลเซียมจะถูกปลดปล่อยจากกะปิถ้าผ่านความร้อน
ในกะปิมีแคลเซียมจริง ถ้ากะปินั้นทำจากเคยหรือกุ้งก็มีแคลเซียมที่สูง
กะปิคุณภาพดี น้ำหนัก 100 กรัม จะมีปริมาณแคลเซียมได้มากถึง 1,300-1,400 มิลลิกรัม
กะปิที่คุณภาพไม่ดี หรือรอง ๆ ลงมา น้ำหนัก 100 กรัม อาจจะเหลือแคลเซียมประมาณ 400-500 มิลลิกรัม
มีการเปรียบเทียบปริมาณแคลเซียมในกะปิกับแคลเซียมในนมวัว โดยบอกว่าแคลเซียมในกะปิมีมากกว่าในนมวัวหลายเท่า ซึ่งเรื่องนี้จะต้องคิดตามน้ำหนัก ดังนี้
กะปิหนัก 100 กรัม มีแคลเซียมประมาณ 1,300-1,500 มิลลิกรัม แต่คนเราไม่สามารถกินกะปิได้ครั้งละ 1 ขีด เหมือนกับดื่มนม และในกะปิมีโซเดียมสูงมากด้วย
แคลเซียมเป็นแร่ธตุที่พบมากที่สุดในร่างกาย เกือบทั้งหมดจะอยู่ในกระดูกและฟัน ในร่างกายคนหนัก 50 กิโลกรัม จะมีแคลเซียมอยู่ประมาณ 1 กิโลกรัม แคลเซียมมีหน้าที่สำคัญต่อการทำงานของร่างกายเกือบทุกส่วน และที่สำคัญยังมีหน้าที่สร้างกระดูก ซึ่งเป็นโครงสร้างหลักของร่างกาย ความต้องการแคลเซียมเพื่อช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูก มีความต้องการที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงอายุ ดังนี้
เพศชายและเพศหญิง อายุ 9-18 ปี ต้องการแคลเซียม 1,300 มิลลิกรัมต่อวัน
เพศชายและเพศหญิง อายุ 19-50 ปี ต้องการแคลเซียม 1,200 มิลลิกรัมต่อวัน
ผู้หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร ต้องการแคลเซียม 1,300 มิลลิกรัมต่อวัน
เพศชายและเพศหญิง อายุมากกว่า 50 ปี ต้องการแคลเซียม 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน
อาหารที่มีแคลเซียมสูง ได้แก่ โยเกิร์ต นม 1 แก้ว (250 ซีซี มีแคลเซียม 300 มิลลิกรัม) ปลากระป๋อง บรอกโคลี ผักใบเขียว
ข้อ 2. กะปิมีวิตามินบี 12 ส่งผลดีกับเลือดมาก ขาดกะปิจะทำให้ป่วยเลือดจางได้ ?
กะปิมีวิตามินบี 12 เป็นเรื่องจริง และวิตามินบี 12 เกี่ยวข้องกับการสร้างเม็ดเลือดแดงก็จริง แต่ไม่ได้หมายความว่ากินกะปิแล้วจะทำให้เลือดไม่จาง ที่สำคัญในแต่ละครั้งคนเราไม่สามารถกินกะปิปริมาณมาก ๆ ได้
เลือดจาง (Anemia) เป็นภาวะที่ร่างกายมีปริมาณเม็ดเลือดแดงในเลือดน้อยกว่าปกติ ทำให้นำออกซิเจนไปยังเซลล์และเนื้อเยื่อในอวัยวะต่าง ๆ ได้น้อยลง ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย ผิวซีดหรือผิวเหลือง มาจากหลายปัจจัย ดังนี้
การขาดสารอาหาร เป็นผลมาจากการกินอาหารที่ได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน โดยเฉพาะธาตุเหล็ก วิตามินบี 12 หรือกรดโฟลิก (องค์ประกอบที่จําเป็นต่อการสร้างเม็ดเลือดแดง) การขาดธาตุเหล็กเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยภาวะเลือดจาง
ฮอร์โมน ภายในเลือดจะมีฮอร์โมนที่ชื่อว่า อีริโทรโพอิติน (Erythropoietin) ที่ผลิตได้จากไต มีหน้าที่กระตุ้นไขกระดูกในการสร้างเม็ดเลือดแดง แต่เมื่อร่างกายมีฮอร์โมนชนิดนี้ต่ำกว่าปกติจะส่งผลให้เกิดภาวะเลือดจางได้
ภาวะโรคเรื้อรัง การรักษาโรคเรื้อรังบางโรคจะส่งผลกระทบต่อการสร้างเม็ดเลือดแดง โดยการทำลายไขกระดูก เช่น โรคมะเร็งบางชนิด การติดเชื้อเอชไอวี (HIV) โรคไตวายเรื้อรัง หรือโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
การตั้งครรภ์ ภาวะเลือดจางสามารถเกิดขึ้นได้กับหญิงตั้งครรภ์ โดยเฉพาะในช่วงอายุครรภ์ 6 เดือนแรก เนื่องจากการขาดสารอาหารประเภทธาตุเหล็กและกรดโฟลิก รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในเลือด
กะปิมีวิตามินบี 12 แต่เป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น ดังนั้นกะปิจึงไม่ใช่แหล่งหลักของวิตามินบี 12 ที่จะทำให้เลือดไม่จาง
ข้อ 3. มีการศึกษาโดยทันตแพทย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่ว่ากะปิผ่านความร้อนช่วยให้ฟันไม่ผุ ?
เรื่องนี้มีการศึกษาจริง แต่เป็นการเปรียบเทียบในห้องทดลองโดยใช้ฟันที่หลุดออกมาแล้ว ทดสอบโดยการเติมสารละลายที่เหมือนกับอยู่ในแกงส้ม ก็คือคล้าย ๆ แกงเหลืองของทางภาคใต้
สูตรที่เติมกะปิ อนุภาคของชั้นเคลือบฟันที่ถูกสลายไปน้อยกว่าในแกงส้มสูตรที่ไม่มีกะปิอย่างชัดเจน ก็อนุมานว่าการได้กินกะปิจะช่วยทำให้ฟันไม่ผุหรือไม่สึกเร็ว
ข้อ 4. กะปิมีกรดไขมัน “โอเมก้า 3” มาก ?
เรื่องนี้จากการศึกษาวิจัยพบว่ามีกรดไขมันโอเมก้า 3 จริง แต่ปริมาณคงไม่ได้มีมากเมื่อเทียบกับปลาชนิดอื่น ๆ
ดังนั้น เพื่อสุขภาพที่ดีจึงควรกินปลาเสริมในบางมื้อ เช่น กินปลาทูทอดกับน้ำพริกกะปิ ก็จะดีต่อสุขภาพมากกว่ากินปลาทูทอดเพียงอย่างเดียว
ข้อ 5. เชื้อดีที่หมักอยู่ในกะปิมีสารพัดจุลินทรีย์ที่ช่วยเป็น “โพรไบโอติกในลำไส้” เสริมภูมิให้เชื้อร้ายไม่มาทำอันตราย ?
กะปิมีเชื้อจุลินทรีย์มากมายเป็นเรื่องจริง และการหมักกะปิโดยใช้เกลือก็เป็นการฆ่าเชื้อโรคบางส่วนที่ทำให้บูดเน่าเสีย
กะปิมีโพรไบโอติกจริงหรือไม่ คิดว่ามีจริงแต่ปริมาณมากน้อยแค่ไหนไม่รู้
อย่างไรก็ตาม ถ้ากรรมวิธีการผลิตกะปิไม่สะอาด แทนที่จะได้โพรไบโอติกก็อาจจะได้เชื้อก่อโรคอื่น ๆ ด้วย
ข้อ 6. กะปิมี “แอสตาแซนทิน” กินแล้วช่วยคลายเครียดให้ดวงตา ไม่เหนื่อยล้าเมื่อยตา และล้างสนิมแก่ออกจากตาได้ดี ?
ปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยที่คำนวณหรือไปวิเคราะห์ว่ากะปิมีแอสตาแซนทิน (Astaxanthin) เพียงแต่กะปิมีวิตามินเอ
วิตามินเอได้มาจากไหน ถ้าบอกว่ากะปิทำมาจากกุ้งทั้งเปลือกอยู่แล้ว ก็เป็นไปได้ที่จะมีแอสตาแซนทิน แต่จะหวังผลในการกินกะปิเพื่อสุขภาพสายตา โดยเฉพาะคำว่า “ล้างสนิมออกจากตา” คิดว่าเกินจริง
ข้อ 7. กะปิเป็นแหล่ง” วิตามินดี” ที่ดี ?
จากการค้นข้อมูลยังไม่พบว่ากะปิมีวิตามินดีปริมาณเท่าไหร่
ในความเป็นจริงกะปิไม่น่าจะมีวิตามินดีมากพอจนถึงขนาดที่จะบอกว่า “กะปิเป็นแหล่งที่ดีของวิตามินดี”
ข้อ 8. น้ำมันดีในกะปิช่วยหล่อลื่นให้เลือดไหลปรู๊ดปร๊าดไม่ขาดช่วง ป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอุดตันตามหลอดเลือดที่สำคัญ ?
กะปิมีกรดไขมันโอเมก้า 3 ซึ่งเป็นสารตั้งต้นของสารลดการอักเสบ สารลดการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด แต่การหวังจะกินกะปิเพื่อให้เลือดไหลปรู๊ดปร๊าด (รวดเร็ว ฉับไว ไม่ขาดช่วง) อย่างที่อ้างสรรพคุณนั้น คิดว่าเป็นการกล่าวเกินจริง
ข้อ 9. โอเมก้า 3 ในกะปิ ช่วยหล่อลื่นให้สมองแล่นไวเหมือนกับได้น้ำมันออโต้ลูปบำรุงสมอง ?
การที่ร่างกายได้รับกรดไขมันโอเมก้า 3 จากอาหาร ไม่ว่าจะเป็นอาหารชนิดใดก็ตาม ย่อมจะส่งผลดีต่อระบบประสาทและสมอง แต่ว่ากะปิไม่ได้เป็นแหล่งที่ดีของกรดไขมันโอเมก้า 3
ข้อ 10. พิชิตโรคใจ ทั้งปกป้องห้องหัวใจและป้องกันหัวสมอง ?
กรดไขมันโอเมก้า 3 ดีต่อระบบหลอดเลือดและสมอง แต่กะปิไม่ใช่แหล่งที่ดีของกรดโอเมก้า 3 ในลักษณะหวังผลเพื่อสุขภาพ
สรุปแล้ว 10 ประโยชน์ของกะปิที่แชร์กันนี้ ความเห็นส่วนตัวไม่ควรแชร์
กะปิมีคุณค่ามีประโยชน์จริง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะใช้ทดแทนอาหารมื้อหลักอื่น ๆ ได้
สัมภาษณ์โดย ณัฐวัฒน์ จิตรมั่น
เรียบเรียงโดย คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ดูเพิ่มเติมรายการ ชัวร์ก่อนแชร์ : 10 ข้อดีของกะปิ จริงหรือ ?
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter