บนสื่อสังคมออนไลน์มีการแชร์ข่าวเกี่ยวกับการกินเมนูกุ้งดิบ มีพยาธิปอดหนูไชเข้าตา จนทำให้ตาบอดได้ จริงหรือ ?
🎯 ตรวจสอบข้อเท็จจริงและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ ศ.ดร.นพ.เผด็จ สิริยะเสถียร หัวหน้าภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สิ่งที่แชร์กันว่า “กินกุ้งดิบเสี่ยงตาบอดจากพยาธิปอดหนู” เป็นข้อมูลที่ถูกต้อง
พยาธิตัวต้นเหตุ ชื่อ “พยาธิปอดหนู” ?
พยาธิปอดหนู หรือ พยาธิหอยโข่ง ปกติแล้วตัวอ่อนจะอยู่ตามสัตว์ชนิดอื่น (เช่น หอยโข่ง กุ้ง) สัตว์เลื้อยคลาน (เช่น ตะกวด) เมื่อหนูไปรับตัวอ่อนจากสัตว์เหล่านี้เข้ามา พยาธิจะไชไประบบประสาทส่วนกลาง จากนั้นมาที่ปอด
ขณะที่พยาธิอยู่ในหลอดเลือดแดงของปอดหนู ก็จะผสมพันธุ์กันออกไข่ ไข่ก็จะฟักเป็นตัวอ่อน และตัวอ่อนก็จะไชจากหลอดเลือดแดงที่ปอดหนูไปทางเดินอาหารของหนู จากนั้นก็ปะปนมากับมูลของหนู
พยาธิจากปอดหนู กระจายสู่สัตว์อื่น ?
หอยโข่ง กุ้ง หรือตะกวด (ตัวเงินตัวทอง) กินมูลของหนูเข้าไปซึ่งมีตัวอ่อนอยู่ ตัวอ่อน (พยาธิ) ก็จะเข้าไปเจริญเติบโตอยู่ในสัตว์เหล่านั้น
เมื่อคนกินสัตว์เหล่านั้นเข้าไปโดยปรุงไม่สุก พยาธิก็จะเข้าไปสู่ลำไส้ แล้วไชผ่านเข้าไปในกระแสเลือด ไปที่ระบบประสาทส่วนกลางหรือเยื่อหุ้มสมอง และไปอยู่ในน้ำไขสันหลัง
พบว่าคนที่มีพยาธิปอดหนูเข้าสู่ร่างกายจะมีอาการทางระบบประสาท แต่เนื่องจากคนไม่ใช่หนูที่พยาธิจะสามารถเจริญเป็นตัวเต็มวัยได้ จึงคาอยู่บริเวณนั้น จนกระทั่งร่างกายไปทำลายพยาธิ แล้วผู้ป่วยก็อาจจะหายได้ แต่ถ้าเป็นมาก ๆ ผู้ป่วยก็อาจจะเสียชีวิตได้
บางกรณีพยาธิไชมาที่ลูกตา เพราะลูกตากับระบบประสาทส่วนกลางหรือส่วนสมองอยู่ใกล้กัน จึงเป็นไปได้ที่พยาธิเหล่านี้ มีโอกาสไชมาลูกตาได้ แต่ส่วนใหญ่แล้วพยาธิจะตายอยู่ในระบบประสาทของคนเรา
จะรู้ได้อย่างไรว่ามีพยาธิปอดหนูอยู่ในร่างกายของเรา ?
ส่วนใหญ่แล้วคนที่มีพยาธิปอดหนู มักจะมีอาการทางระบบประสาทส่วนกลาง เช่น มีไข้ คลื่นไส้และอาเจียน ชัก หรือมีแขนขาอ่อนแรงได้ บางกรณีถ้าพยาธิไชมาที่ตา ก็อาจจะทำให้มีอาการเคืองตา หรือว่ามองไม่เห็นได้
ถ้าไปพบแพทย์และมีอาการทางระบบประสาทส่วนกลาง แพทย์อาจจะเจาะน้ำไขสันหลังดูเม็ดเลือดขาวบางชนิด
รู้ได้อย่างไรว่าอาหารที่กำลังจะกินมีตัวอ่อนพยาธิปอดหนู ?
เนื่องจากตัวอ่อนของพยาธิเล็กมาก ต้องดูผ่านกล้องจุลทรรศน์ ซึ่งไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าได้ว่า กุ้ง หอย หรือตะกวด มีพยาธิอยู่หรือไม่
ส่วนใหญ่คนจะติดพยาธิจากสัตว์น้ำจืด ไม่ว่าจะเป็นหอยโข่งหรือกุ้งน้ำจืดเป็นหลัก ตัวอ่อนพยาธิจะไปปะปนอยู่ในทางเดินอาหารของสัตว์เหล่านี้ และเมื่อกินอาหารเหล่านี้ที่ปรุงไม่สุกก็มีโอกาสได้รับพยาธิปอดหนูเข้าสู่ร่างกาย
ภูมิอากาศของประเทศไทยเหมาะสำหรับการเจริญของพยาธิปอดหนูที่ระบาดมากในเขตร้อนชื้น พยาธิพวกนี้พบได้มากในช่วงฤดูฝน และประเทศไทยมีหนูจำนวนมากด้วย ซึ่งรวมถึงคนไทย (บางส่วน) นิยมกินอาหารที่ปรุงไม่สุก จึงมีโอกาสสูงที่จะได้รับพยาธิปอดหนูเข้าไปในร่างกาย
นำอาหาร “แช่โซดา” เพื่อฆ่าพยาธิ ได้หรือไม่ ?
ไม่แนะนำให้ใช้โซดาแช่อาหารเพื่อหวังฆ่าพยาธิ มีโอกาสน้อยมาก เพราะผิวหนังของพยาธิหนาพอสมควร และโซดามีความเข้มข้นไม่พอ ระยะเวลาที่หมักก็ไม่พอ จึงไม่สามารถฆ่าพยาธิได้
ในเมนูกุ้งดิบมีการใส่น้ำปลาและบีบน้ำมะนาวลงไป แต่ตัวอ่อนพยาธิอยู่ในตัวกุ้ง น้ำปลาและน้ำมะนาวเข้าไปไม่ถึงที่จะไปฆ่าตัวอ่อนพยาธิพวกนี้ได้
สรุปว่าเรื่องพยาธิปอดหนูทำให้ตาบอด เป็นอย่างไร ?
พยาธิปอดหนูทำให้ตาบอดเป็นเรื่องจริง
ดังนั้น ต้องเลี่ยงการกินอาหารที่ปรุงไม่สุก เพราะนอกจากพยาธิปอดหนูแล้วยังมีพยาธิอื่น ๆ ที่ปนมากับอาหารที่ปรุงไม่สุก ซึ่งเป็นพยาธิที่สามารถจะไชไปยังลูกตาได้อีกหลายตัว เช่น พยาธิตัวจี๊ด พยาธิตัวตืดบางชนิด ก็พบว่าสามารถจะเข้าไปในลูกตาได้เช่นเดียวกัน
การป้องกันที่ดีที่สุดก็คือ กินอาหารที่ปรุงสุกเป็นหลัก
สัมภาษณ์โดย พีรพล อนุตรโสตถิ์
เรียบเรียงโดย คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ดูเพิ่มเติมรายการ ชัวร์ก่อนแชร์ : กินกุ้งดิบเสี่ยงตาบอดจากพยาธิปอดหนู จริงหรือ ?
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter