บนสื่อสังคมออนไลน์แชร์คำเตือนเกี่ยวกับ “ฟลูออไรด์” ที่คุ้นเคยกันว่าอยู่ในยาสีฟันหลายชนิด เป็นพิษต่อร่างกาย ส่งผลต่อระบบประสาท ทำให้ไอคิวต่ำ และเป็นโรคต่าง ๆ หลายโรค เรื่องนี้จริงหรือไม่ ?
🎯 ตรวจสอบข้อเท็จจริงและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ รศ.ทพญ.ดร.วลีรัตน์ ศุกรวรรณ ภาควิชาทันตกรรมสำหรับเด็ก คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ที่แชร์กันว่า “ฟลูออไรด์” คือสารเคมีเป็นพิษ เรื่องนี้ “ไม่เป็นความจริง”
ในชีวิตประจำวันมีการใช้ฟลูออไรด์ถือว่าอยู่ในระดับที่ปลอดภัย และมีประโยชน์มากกว่าโทษ
“ฟลูออไรด์” สามารถพบได้ทั่วไป ทั้งในอากาศ ดิน หิน หรือน้ำ โดยเฉพาะจากแหล่งน้ำธรรมชาติ นอกจากนี้ อาหาร พืชผัก ผลไม้บางชนิด ก็มีฟลูออไรด์เป็นองค์ประกอบอยู่ในนั้น
ความเป็นพิษของฟลูออไรด์ จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อรับปริมาณมาก ๆ หรือปริมาณสูงอย่างต่อเนื่อง สะสมเป็นระยะเวลายาวนาน
ฟลูออไรด์ทำให้ไอคิวต่ำและเกิดอีกหลายโรค จริงหรือไม่ ?
การได้รับฟลูออไรด์กับระดับไอคิว หรือความสามารถในการเรียนรู้ของเด็ก เรื่องนี้ไม่พบความสัมพันธ์และไม่เกี่ยวข้องกันเลย
การได้รับฟลูออไรด์ก็ไม่มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรค ไม่ว่าจะเป็นโรคมะเร็ง โรคเบาหวาน หรือโรคต่อมไร้ท่ออื่น ๆ
นอกจากนี้ ที่มีการอ้างอิงงานวิจัยเกี่ยวกับฟลูออไรด์นั้น จากการอ่านงานวิจัยที่ออกมาจากกลุ่มต่อต้านการใช้ฟลูออไรด์เหล่านี้ พบว่าการออกแบบการทดลองส่วนมากจะทำในสัตว์ทดลองเป็นหลัก และให้สัตว์ทดลองเหล่านี้ได้รับฟลูออไรด์ปริมาณที่สูงมาก ๆ ซึ่งเป็นการทดลองที่ค่อนข้างพยายามให้เกิดโทษของฟลูออไรด์อยู่แล้ว
บทความที่แชร์กัน มีการเตือนฟลูออไรด์ในน้ำประปา ?
สำหรับประเทศไทย ปริมาณฟลูออไรด์ต้องไม่เกิน 0.7 มิลลิกรัมต่อน้ำ 1 ลิตร หรือ 0.7 ส่วนในล้านส่วน
จากการสำรวจแหล่งน้ำที่นำมาผลิตน้ำประปา พบว่าปริมาณฟลูออไรด์อยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัย สามารถนำมาใช้ได้ และประเทศไทยไม่มีมาตรการเติมฟลูออไรด์เสริมลงไปในน้ำประปา
ตามข้อเท็จจริง ผลเสียจากฟลูออไรด์ที่มากเกินไป เป็นอย่างไร ?
ผลเสียจากฟลูออไรด์ที่พบได้บ่อยที่สุดจะไปเกิดกับกระดูกและฟัน
“ฟัน” ที่ได้รับฟลูออไรด์มากเกินไป เกิดฟันตกกระ เป็นหลุม หรือเป็นร่อง บางครั้งอาจจะเห็นเป็นสีเหลือง หรือสีน้ำตาล
ส่วนการสะสมของฟลูออไรด์ที่บริเวณ “กระดูก” ก็อาจจะเกิดที่บริเวณข้อต่อต่าง ๆ
สำหรับโทษของฟลูออไรด์ ที่มีต่อ “ระบบประสาท” จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อฟลูออไรด์ที่เป็นพิษปริมาณมากในครั้งเดียว แต่โดยปกติแล้ว โทษในระดับที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย พบได้น้อยมากในชีวิตประจำวัน
“ฟลูออไรด์” เป็นแค่ขยะอุตสาหกรรม ไม่มีประโยชน์ใด ๆ ต่อสุขภาพเลย ?
การค้นพบประสิทธิภาพในการป้องกันฟันผุของฟลูออไรด์ ถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของวงการทันตแพทย์ก็ว่าได้
ฟลูออไรด์ทำให้ลดอัตราการเกิดโรคฟันผุลงไปได้มากอย่างมีนัยสำคัญเลยทีเดียว จึงเป็นที่มาของการเติมฟลูออไรด์ลงไป ในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ทางด้านทันตกรรม
การป้องกันฟันผุโดยฟลูออไรด์ที่ดีที่สุด ก็คือในวิถีชีวิตประจำวันจะต้องแปรงฟันด้วยยาสีฟันผสมกับฟลูออไรด์
ยาสีฟันที่ไม่มีฟลูออไรด์ ป้องกันฟันผุได้หรือไม่ ?
อาหารที่มีส่วนประกอบของแป้งและน้ำตาล จะถูกเชื้อที่อยู่ในช่องปากเปลี่ยนแปลงให้เป็นกรด หลังจากการกินเสมอ ฟันที่ถูกแช่อยู่ในกรดนาน ๆ ก็จะถูกกัดกร่อนผิวด้านนอกออกไป
การใช้ยาสีฟันที่ไม่มีฟลูออไรด์ ก็เป็นเพียงการกำจัดคราบสกปรกที่ติดกับฟันออกไป หรือเป็นการชะล้างกรดออกไป แต่จะไม่มีตัวฟลูออไรด์เข้าไปเป็นส่วนประกอบของเคลือบฟัน
ดังนั้น ครั้งต่อไปหลังกินอาหารและมีกรดเกิดขึ้น กรดจะมีการละลายเคลือบฟันออกไป แต่ไม่มีการดึงแร่ธาตุกลับมา รวมทั้งตัวเคลือบฟันที่สูญเสียแร่ธาตุออกไปแล้ว ความแข็งแรงของฟันก็จะลดลง
ในขณะที่การแปรงฟันด้วยยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์นั้น ฟลูออไรด์จะกลับเข้าไปจับกับผิวเคลือบฟันที่ถูกละลายแร่ธาตุออกไปแล้ว และมีความแข็งแกร่งแข็งแรงมากขึ้น สามารถต้านทานต่อการเกิดกรดครั้งต่อไป ส่งผลให้หลังจากกินอาหาร จะทำให้การเกิดกระบวนการฟันผุครั้งต่อไปได้ยากขึ้น
เพราะฉะนั้น “การป้องกันฟันผุ” สามารถทำได้ด้วยตนเองที่บ้านและทำได้ง่ายนิดเดียว ดังนี้
1. แปรงฟันด้วยยาสีฟันที่ผสมฟลูออไรด์ ใช้เวลาแปรงอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 2 นาที
2. พยายามบ้วนน้ำให้น้อยที่สุด หรือคายเฉพาะฟองออก
3. งดการดื่มน้ำ หรืองดกินอาหาร อย่างน้อยเป็นเวลา 30 นาที
การบ้วนน้ำให้น้อย งดดื่มน้ำ งดกินอาหาร เพื่อให้ฟลูออไรด์ในยาสีฟันได้มีโอกาสสัมผัสกับเคลือบฟัน แล้วสร้างความแข็งแรงให้กับเคลือบฟันของเรา
สัมภาษณ์โดย พีรพล อนุตรโสตถิ์
เรียบเรียงโดย คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ดูเพิ่มเติมรายการ ชัวร์ก่อนแชร์ : ฟลูออไรด์เป็นสารพิษ ทำให้ไอคิวต่ำ ก่อมะเร็ง เบาหวาน จริงหรือ ?
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter