13 มิถุนายน 2567
แปลและเรียบเรียงบทความ : อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ข้อมูลที่ถูกแชร์ :
มีคลิปวิดีโอข้อมูลเท็จเผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์ในหลายประเทศ โดยอ้างว่าการดื่มนมไม่มีประโยชน์ต่อความแข็งแรงของกระดูก เนื่องจากความเป็นกรดของนมจะไปดึงแคลเซียมออกมาจากกระดูก นำไปสู่โรคกระดูกพรุน การรับโปรตีนจากนมวัวในปริมาณมาก ยังกระตุ้นการขับแคลเซียมทางปัสสาวะ และอ้างว่าประชากรป่วยเป็นโรคกระดูกพรุน ส่วนใหญ่จะมาจากชาติตะวันตกที่นิยมการดื่มนมวัว
บทสรุป :
- เป็นข้ออ้างจากหมอที่ถูกห้ามรักษาในออสเตรเลียเพราะเผยแพร่ข้อมูลเท็จ
- ความเป็นกรดในนมจะหายไปจากกระบวนการย่อยอาหาร
- แคลเซียมจากการดื่มนม ป้องกันการไม่ให้ร่างกายดึงแคลเซียมจากกระดูก ลดโอกาสโรคกระดูกพรุน
- ชาติตะวันตกที่นิยมดื่มนมแต่ป่วยเป็นโรคกระดูกพรุนบ่อย มาจากหลายปัจจัย ทั้งสังคมผู้สูงอายุและการขาดวิตามินดีจากแสงแดด เป้นต้น
FACT CHECK : ตรวจสอบข้อเท็จจริง :
ข้ออ้างจากหมอที่ถูกห้ามรักษา
เจ้าของข้อความกล่าวอ้างที่แชร์ทางออนไลน์ คือ บาร์บารา โอนีล นักธรรมชาติบำบัดชาวออสเตรเลีย ที่ถูกสั่งห้ามรักษาผู้ป่วยในรัฐนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลียเป็นการถาวรตั้งแต่ปี 2019 จากข้อหาเผยแพร่ข้อมูลเท็จทางการแพทย์โดยไม่มีหลักฐานซึ่งเป็นภัยต่อสุขภาพประชาชน
แคลเซียมในนมวัวและร่างกายมนุษย์
โครงสร้างหลักของนมวัวมีน้ำเป็นส่วนประกอบ 87% โดย 13% ที่เหลือได้แก่ โปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต วิตามิน และแร่ธาตุต่าง ๆ ได้แก่ แคลเซียม และ ฟอสฟอรัส
โดยน้ำนม 1 ลิตรมีโปรตีน 35 กรัม และปริมาณแคลเซียม 1,200 มิลลิกรัม
มนุษย์มีปริมาณแคลเซียมในร่างกายประมาณ 920-1,200 กรัม โดย 99% อยู่ที่กระดูกและฟัน มีสัดส่วนคิดเป็น 1.5% ของน้ำหนักตัว
ข้อมูลจาก Academy of Nutrition and Dietetics หน่วยงานด้านอาหารและโภชนาการของสหรัฐอเมริการะบุว่า แคลเซียมคือแร่ธาตุที่ร่างกายมนุษย์ผลิตเองไม่ได้ การดื่มนมวัวซึ่งมีกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกายหลายชนิด จึงมีความสำคัญต่อร่างกายอย่างมาก
การขับแคลเซียมทางปัสสาวะจากการดื่มนม
มีการศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างการดื่มนมมากเกินไปกับความแข็งแรงของกระดูก จากกระบวนการขับแคลเซียมทางปัสสาวะ อย่างไรก็ดี งานวิจัยหลายชิ้นต่างยืนยันว่า การได้รับแคลเซียมอย่างเหมาะสมจากน้ำนม มีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างชัดเจน
การดื่มนมไม่ใช่สาเหตุของโรคกระดูกพรุน
มูลนิธิโรคกระดูกพรุนนานาชาติ หรือ International Osteoporosis Foundation ได้จัดทำข้อมูล Fact Sheet เพื่อชี้แจงประเด็นความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการดื่มนมและโรคกระดูกพรุนดังนี้
- นมมีความเป็นกรด การบริโภคนมและโยเกิร์ตเพิ่มความเป็นกรดในเลือด ร่างกายจึงต้องดึงแคลเซียมจากกระดูกเพื่อป้องกันสภาวะกรดเกินในร่างกาย การดื่มนมจึงเสี่ยงทำให้กระดูกพรุน – ข้อมูลเท็จ
นมและโยเกิร์ตไม่ใช่อาหารที่สร้างกรดในร่างกาย ความเป็นกรดในนมจะหายไประหว่างกระบวนการย่อยอาหาร หากร่างกายได้รับปริมาณแคลเซียมอย่างเพียงพอ ก็ไม่จำเป็นต้องดึงแคลเซียมมาจากกระดูก ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงการเป็นโรคกระดูกพรุน
- ชาติตะวันตกที่นิยมบริโภคผลิตภัณฑ์จากนม กลับพบผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนและกระดูกหักมากกว่าภูมิภาคอื่น ๆ แสดงว่านมคือสาเหตุของโรคกระดูกพรุน – ข้อมูลเท็จ
สาเหตุการเกิดโรคกระดูกพรุนมีหลายปัจจัย ทั้งอายุ พันธุกรรม และ พฤติกรรม เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา การทำกิจกรรม รวมถึงน้ำหนักตัว ทั้งหมดนี้ล้วนมีความสัมพันธ์ต่อโรคกระดูกมากกว่าการดื่มนม
หลายประเทศที่มีประชากรป่วยเป็นโรคกระดูกพรุนจำนวนมาก พบว่าเป็นประเทศที่ประชากรมีอายุขัยยืนยาว เช่น ประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย การมีอายุยืนยาวส่งผลให้พบจำนวนผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนมากขึ้นเช่นกัน
แม้การดื่มนมอย่างเดียวจะไม่รับประกันการป้องกันโรคกระดูกพรุน แต่การดื่มนมก็ไม่ใช่สาเหตุของการป่วยเป็นโรคกระดูกพรุนเช่นกัน
การกินเกลือไม่ช่วยเสริมกระดูก
บาร์บารา โอนีล ยังเผยแพร่ความเชื่อผิด ๆ ด้วยการแนะนำให้ผู้ฟังเลี่ยงการดื่มนมวัว แล้วหันมารับแคลเซียมจากการบริโภคเกลือแทน
แม้การบริโภคเกลืออย่างเหมาะสม จะทำให้ร่างกายได้รับปริมาณโซเดียมคลอไรด์ที่เพียงพอต่อร่างกาย อย่างไรก็ดี ในเกลือมีปริมาณแคลเซียมที่น้อยมาก การบริโภคเกลือจำนวนมากกลับยิ่งเป็นอันตรายต่อร่างกายและสุขภาพของกระดูกโดยรวม
ข้อมูลจากโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา ระบุว่า เกลือ 1 ช้อนชา มีแคลเซียมเพียง 1.44 มิลลิกรัมเท่านั้น
สถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NIH) ระบุว่า ผู้ใหญ่ควรได้รับแคลเซียม 1,300 มิลลิกรัมต่อวัน
ดังนั้นการบริโภคเกลือเพียงอย่างเดียว นอกจากไม่ช่วยให้ร่างกายได้รับแคลเซียมอย่างเพียงพอแล้ว ยังส่งผลเสียต่อการรับโซเดียมคลอไรด์มากเกินปกติอีกด้วย
องค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (FDA) ระบุว่า ใน 1 วันไม่ควรบริโภคโซเดียมเกิน 2,300 มิลลิกรัมหรือปริมาณเกลือ 1 ช้อนชา แต่พบว่าชาวอเมริกันบริโภคโซเดียมเฉลี่ย 3,400 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งการได้รับโซเดียมมากเกินไปเพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคความดันเลือดสูง โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง
ข้อมูลจากภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เผยว่า คนไทยบริโภคโซเดียมเกือบ 3,632 มิลลิกรัมต่อวัน หรือ 1.8 ช้อนชา สูงกว่าปริมาณที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้เกือบ 2 เท่า โดยมาตรฐานของ WHO กำหนดว่าใน 1 วันไม่ควรบริโภคโซเดียมเกินวันละ 2,000 มิลลิกรัมหรือปริมาณเกลือ 1 ช้อนชา หรือปริมาณน้ำปลาไม่เกิน 4 ช้อนชา และปริมาณซีอิ๊วไม่เกิน 5 ช้อนชา
นอกจากนี้ งานวิจัยปี 2012 ของคณะแพทยศาสตร์และทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัลเบอร์ตา ประเทศแคนาดา ยังพบว่า การบริโภคโซเดียมมากเกินไป ทำให้ร่างกายสูญเสียแคลเซียมจากทางปัสสาวะมากขึ้น เพิ่มความเสี่ยงโรคกระดูกพรุน นอกจากนี้ แคลเซียมปริมาณสูงในปัสสาวะ ยังเพิ่มความเสี่ยงการเกิดก้อนนิ่วในไตเช่นกัน
ข้อมูลอ้างอิง :
https://leadstories.com/hoax-alert/2024/04/fact-check-dairy-consumption-does-not-lead-to-calcium-deficiency-due-to-acidity.html
https://factly.in/this-video-alleging-milk-being-a-significant-contributor-to-osteoporosis-disease-is-misleading/
https://www.osteoporosis.foundation/sites/iofbonehealth/files/2019-03/2015_ServeUpDairyProducts_FactSheet_English_0.pdf
https://www.nstda.or.th/sci2pub/sodium-affects-bone-mass/
https://www.hfocus.org/content/2022/05/25190
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter