14 พฤษภาคม 2567
แปลและเรียบเรียงบทความ : อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ข้อมูลที่ถูกแชร์ :
มีข้อมูลที่แชร์ทาง X (Twitter) ด้วยยอดวิวกว่า 26.5 ล้านครั้ง โดยอ้างว่า การใช้เขียงพลาสติกทำอาหาร เพิ่มความเสี่ยงการปนเปื้อนไมโครพลาสติกในอาหารมากกว่าการใช้เขียงชนิดอื่น ๆ
บทสรุป :
- มีงานวิจัยพบว่า การใช้เขียงพลาสติกทำให้อาหารปนเปื้อนไมโครพลาสติกจริง
- แต่ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดว่า ปริมาณไมโครพลาสติกเท่าใดจึงเป็นอันตรายต่อมนุษย์
FACT CHECK : ตรวจสอบข้อเท็จจริง :
จากการตรวจสอบโดย Snopes พบว่าข้อความดังกล่าว อ้างอิงงานวิจัยขนาดเล็กในปี 2023 ที่เผยแพร่โดยวารสารวิชาการ Environmental Science & Technology ของสมาคม American Chemical Society ที่พบอนุภาคไมโครพลาสติกในอาหารที่ใช้เขียงพลาสติกมากกว่าเขียงชนิดอื่น ๆ
กระบวนการวิจัย
ทีมวิจัยตั้งข้อสันนิษฐานว่า เขียงแต่ละชนิดและรูปแบบการใช้มีด มีผลต่อปริมาณการปนเปื้อนไมโครพลาสติกที่แตกต่างกัน
การทดลองชุดแรก แบ่งให้อาสาสมัคร 5 รายใช้มีดสับเขียงพลาสติกชนิดพอลิเอทิลีนหรือ PE โดยไม่มีอาหารอยู่บนเขียง แล้วตรวจปริมาณไมโครพลาสติก
ต่อมา อาสาสมัครชุดเดิมได้สับอาหารด้วยมีดบนเขียงเปล่า 3 ชนิด ได้แก่ เขียงพลาสติกชนิดพอลิเอทิลีนหรือ PE เขียงพลาสติกชนิดพอลิโพรพีลีนหรือ PP และเขียงไม้ แล้วจึงเปรียบเทียบปริมาณไมโครพลาสติก
สุดท้าย อาสาสมัครนำแคร์รอตมาสับบนเขียงพลาสติกชนิดพอลิเอทิลีนหรือ PE เพื่อเปรียบเทียบปริมาณไมโครพลาสติกที่พบจากการสับเขียงเปล่ากับตอนที่มีแคร์รอต
พบปริมาณไมโครพลาสติกจากเขียงพลาสติกจำนวนมาก
ทีมวิจัยสรุปว่าการใช้เขียงพลาสติก คือสาเหตุการสะสมไมโครพลาสติกในอาหารของมนุษย์ โดยพบว่าไมโครพลาสติกจากการใช้เขียงพลาสติกชนิดพอลิโพรพีลีนหรือ PP มีปริมาณมากกว่าเขียงพลาสติกชนิดพอลิเอทิลีนหรือ PE อย่างชัดเจน โดยมวลไมโครพลาสติกสูงกว่า 5-60% ส่วนจำนวนไมโครพลาสติกมีมากกว่า 14-71%
ทีมวิจัยประเมินว่า แต่ละปี คนจะได้รับไมโครพลาสติกจากเขียงพลาสติกชนิดพอลิโพรพีลีนหรือ PP ปริมาณ 49.5 กรัม และจากเขียงพลาสติกชนิดพอลิเอทิลีน หรือ PE ประมาณ 7.4-50.7 กรัม
อย่างไรก็ดี ตัวแปรยังมาจากวิธีและแรงที่ใช้ในการหั่น รวมถึงชนิดของวัตถุดิบและอายุการใช้งานของเขียง ซึ่งมีผลต่อปริมาณการพบไมโครพลาสติกเช่นกัน
ผลกระทบต่อสุขภาพยังไม่ชัดเจน
การทดสอบความเป็นพิษเบื้องต้นเป็นเวลา 72 ชั่วโมงพบว่า ไมโครพลาสติกจากพอลิเอทิลีนหรือ PE ไม่ส่งผลกระทบต่อเซลล์สร้างเส้นใยของหนูทดลองแต่อย่างใด
อย่างไรก็ดี ผลกระทบระยะยาวของการกินอาหารปนเปื้อนไมโครพลาสติกยังไม่เป็นที่แน่ชัด และจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป
ทาชา สตอยเบอร์ นักวิทยาศาสตร์อาวุโสของกลุ่ม Environmental Working Group ย้ำว่า แม้การศึกษาผลกระทบของไมโครพลาสติกในมนุษย์ยังอยู่ในระยะเริ่มต้น แต่มีงานวิจัยมากมายที่ยืนยันถึงผลกระทบของไมโครพลาสติกต่อสัตว์และสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจน เช่น การทดลองในสัตว์พบว่าไมโครพลาสติกส่งผลต่อการขาดความสมดุลระหว่างอนุมูลอิสระและสารต้านอนุมูลอิสระในร่างกาย ความไม่สมดุลของระดับฮอร์โมน และผลกระทบต่อระบบสืบพันธุ์
ความเห็นขัดแย้งจากงงานวิจัย
ผลวิจัยของ American Chemical Society นำมาซึ่งความเห็นที่หลากหลายในวงการวิทยาศาสตร์ เกี่ยวกับความปลอดภัยของการใช้พลาสติกในชีวิตประจำวัน
มาร์ค โจนส์ อดีตนักเคมีอุตสาหกรรมและผู้เชี่ยวชาญด้านไมโครพลาสติก ยืนยันว่า เขาจะไม่เลิกใช้เขียงพลาสติกเพราะผลจากงานวิจัยชิ้นนี้ เนื่องจากยังไม่มีหลักฐานที่หนักแน่นเพียงพอว่า ปริมาณไมโครพลาสติกที่พบจะส่งผลต่อสุขภาพของมนุษย์อย่างชัดเจน แม้จะมีความกังวลต่อผลกระทบในระยะยาว แต่ทุกวันนี้มนุษย์ก็ได้รับไมโครพลาสติกจากของใช้ในชีวิตประจำวันจำนวนมาก ทั้ง ขวดน้ำ เสื้อผ้า ยางรถยนต์ สีทาบ้าน รวมถึงของใช้อื่น ๆ อีกมากมาย และไม่มีหลักฐานว่าส่งผลต่อสุขภาพของผู้คนอย่างไร
ต่างกับ ทาชา สตอยเบอร์ ของกลุ่ม Environmental Working Group ที่ย้ำว่า แม้งานวิจัยผลกระทบของไมโครพลาสติกต่อมนุษย์จะอยู่ในระยะเริ่มต้น แต่ผลที่ออกมาก็มีความน่ากังวล ส่วนตัวเธอเลือกไม่ใช้เขียงพลาสติกทำอาหารมาตั้งแต่ต้น เพราะนอกจากไมโครพลาสติกแล้ว ในอุปกรณ์พลาสติกยังมีส่วนผสมของสารเคมีอีกหลายชนิด เช่น พาเลต ซึ่งช่วยให้พลาสติกมีความยืดหยุ่นและทนทานมากขึ้น หากได้รับในปริมาณมาก ก็จะส่งผลต่อความไม่สมดุลของระดับฮอร์โมนและผลกระทบต่อระบบสืบพันธุ์เช่นกัน
เขียงพลาสติกยังทำความสะอาดได้ยากกว่าและเป็นแหล่งสะสมของแบคทีเรียได้ง่ายกว่าเมื่อเทียบกับเขียงไม้ เพราะเขียงพลาสติกง่ายต่อการเกิดรอยขีดข่วนจากการหั่นซึ่งยากต่อการทำความสะอาด นอกจากนี้เขียงพลาสติกยังมีอายุการใช้งานที่สั้นกว่าเขียงชนิดอื่น ๆ เธอจึงไม่คิดจะใช้เขียงพลาสติกมาตั้งแต่แรกแล้ว
ความเห็นจาก WHO
ข้อมูลล่าสุดเมื่อปี 2032 ขององค์การอนามัยโลก (WHO) เกี่ยวกับไมโครพลาสติกระบุว่า ปัจจุบันยังมีหลักฐานที่จำกัดสำหรับข้อสรุปเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพจากไมโครพลาสติก และจำเป็นต้องมีการวิจัยที่ชัดเจนยิ่งกว่านี้ เพื่อยืนยันถึงผลกระทบของไมโครพลาสติกต่อสุขภาพของมนุษย์ในอนาคต
ข้อมูลอ้างอิง :
https://www.snopes.com/fact-check/cutting-boards-microplastics/
https://www.yahoo.com/lifestyle/your-plastic-cutting-board-is-releasing-microplastics-that-can-get-into-food-does-that-mean-you-should-ditch-it-004918070.html
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter