11 พฤษภาคม 2567
แปลและเรียบเรียงบทความ : อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ข้อมูลที่ถูกแชร์ :
มีข้อมูลสร้างความเข้าใจผิดเผยแพร่ทาง Facebook ในต่างประเทศ โดยอ้างว่าการดื่มน้ำจากขวดพลาสติกที่ตากแดดในรถเป็นเวลานานเป็นอันตราย เนื่องจากร่างกายจะได้รับสารก่อมะเร็งชนิดไดออกซิน โดยอ้างว่า เชอรีล โครว นักร้องสาวชาวอเมริกันที่เคยป่วยเป็นมะเร็งเต้านม ก็มีสาเหตุจากการดื่มน้ำจากขวดพลาสติกที่ตากแดดในรถเช่นกัน
บทสรุป :
- Dioxin คือสารประกอบอินทรีย์ที่ไม่พึงประสงค์จากกระบวนการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์
- Dioxin ยังมาจากการชะละลายในพลาสติกที่มีส่วนประกอบของคลอรีน เช่น PVC (Polyvinyl Chloride)
- พลาสติกที่ใช้ทำขวดน้ำเช่น PET หรือ PC ไม่มีส่วนประกอบของคลอรีน จึงไม่มีทางทำให้น้ำปนเปื้อนสาร Dioxin ได้
- อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าขวดน้ำพลาสติกที่ถูกความร้อนนาน ๆ อาจทำให้น้ำปนเปื้อนสารก่อมะเร็งชนิดอื่น ๆ ได้
FACT CHECK : ตรวจสอบข้อเท็จจริง :
Dioxin
ไดออกซิน (Dioxin) คือสารประกอบอินทรีย์ที่ไม่พึงประสงค์ เกิดจากกระบวนการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ ถูกย่อยสลายได้ยาก ทำให้เกิดการตกค้างในสิ่งแวดล้อมเป็นเวลานาน มีคุณสมบัติละลายน้ำได้น้อย แต่ละลายได้ดีในไขมัน ทำให้สะสมในไขมันของสิ่งมีชีวิต มีความเป็นพิษสูงและยังเป็นสารก่อมะเร็ง หากได้รับในปริมาณสูงจะส่งผลกระทบต่อระบบประสาท ระบบภูมิคุ้มกัน และระบบการสืบพันธุ์
ข้อมูลจากสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐอเมริกาหรือ EPA ระบุว่า การพบสารไดออกซินปะปนในอากาศและแหล่งน้ำ มีสาเหตุมาจากกิจกรรมการเผา ทั้งการเผาขยะและเชื้อเพลิง
นิโคล แดเซียล รองศาสตราจารย์ ด้านระบาดวิทยาและสิ่งแวดล้อม คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเยล สหรัฐอเมริกา อธิบายว่า ช่องทางหลักที่มนุษย์ได้รับสารไดออกซินมาจากการกินผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ที่มีสารไดออกซิน ซึ่งสะสมอยู่ในเนื้อเยื่อไขมันของสัตว์เหล่านั้น
ไม่มี Dioxin ในขวดน้ำพลาสติก
อย่างไรก็ดี สารก่อมะเร็งจากขวดน้ำพลาสติกที่ถูกความร้อน ไม่ใช่สารไดออกซิน เนื่องจากไดออกซินเกิดจากการชะละลายของพลาสติกที่มีสารคลอรีนเป็นส่วนประกอบ แต่พลาสติกที่ใช้ผลิตขวดน้ำพลาสติกไม่มีคลอรีนเป็นส่วนประกอบนั่นเอง
หยางเจิ้นชาง ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยไทเป ไต้หวัน ชี้แจงว่า พลาสติกที่ใช้ผลิตขวดน้ำพลาสติกทั่วไป ไม่มีคลอรีนเป็นส่วนประกอบ ต่างจากพลาสติกชนิด PVC หรือ Polyvinyl Chloride ซึ่งเป็นพลาสติกที่มีคลอรีนเป็นส่วนประกอบ เป็นพลาสติกที่ทนความร้อนได้เพียง 65 องศาเซลเซียส หากสัมผัสความร้อนเกินกำหนดอาจทำให้มีสารไดออกซินปนเปื้อนมากับน้ำได้
อันตรายของน้ำจากขวดพลาสติกที่ผ่านความร้อน
รอล์ฟ ฮาวเดน ผู้อำนวยการศูนย์วิศวกรรมอนามัยสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยแอริโซนาสเตท สหรัฐอเมริกา ชี้แจงว่า ขวดน้ำพลาสติกที่สัมผัสความร้อน จะกระตุ้นการชะละลายทำให้สารเคมีปนเปื้อนในน้ำดื่ม โดยชนิดของสารเคมีที่ปนเปื้อนขึ้นอยู่กับชนิดของพลาสติกที่ใช้
หากเป็นขวดน้ำพลาสติกชนิดที่ใช้ครั้งเดียว ส่วนใหญ่จะใช้พลาสติกชนิดโพลีเอทิลีน เทเรฟทาเลต หรือ PET หากได้รับความร้อนมากกว่าที่กำหนด จะทำให้น้ำดื่มปนเปื้อนสารโลหะหนัก ซึ่งส่งผลกระทบต่อปอด หัวใจ และระบบทางเดินอาหาร
หากเป็นขวดน้ำพลาสติกชนิดที่สามารถนำกลับมาใช้หลายครั้ง จะใช้พลาสติกชนิดโพลีคาร์บอเนต หรือ PC จะบางชนิดอาจมีส่วนประกอบของสาร Bisphenol A หรือ BPA ซึ่งการทดลองในสัตว์พบว่า การได้รับสาร BPA จะทำให้เกิดความไม่สมดุลของฮอร์โมนในร่างกาย และมีส่วนทำให้เกิดมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งต่อมลูกหมากอีกด้วย
รอล์ฟ ฮาวเดน แนะนำให้ใช้ขวดน้ำที่ผลิตจากวัสดุที่มีความคงทนมากกว่าพลาสติก เช่น แก้วหรือสแตนเลส สำหรับใช้เป็นขวดน้ำที่เก็บไว้ในรถยนต์
เชอรีล โครว ไม่ได้พูดถึงสาร Dioxin ในขวดน้ำ
การตรวจสอบโดย USA TODAY ไม่พบหลักฐานว่า เชอรีล โครว เคยอ้างว่าเธอป่วยเป็นมะเร็งจากสาร Dioxin ในขวดน้ำพลาสติก พบเพียงข้อความบนเว็บไซต์ปี 2006 ที่นักร้องสาวเตือนถึงสารก่อมะเร็งจากขวดน้ำในรถยนต์ที่สัมผัสความร้อนเป็นเวลานาน แต่ไม่ได้ระบุว่าเป็นสารชนิดใด
ข้อมูลอ้างอิง :
https://www.usatoday.com/story/news/factcheck/2021/10/15/fact-check-plastic-water-bottles-leach-chemicals-but-not-dioxins/6048788001/
https://www.snopes.com/fact-check/can-water-from-plastic-bottles-be-toxic/
https://tfc-taiwan.org.tw/articles/10328
https://env.anamai.moph.go.th/th/dm-km/download?id=36692&mid=30431&mkey=m_document&lang=th&did=12697
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter