09 พฤษภาคม 2567
แปลและเรียบเรียงบทความโดย: อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ก่อนหน้าที่ สตู ปีเตอร์ส นักจัดรายการผู้มีแนวคิดอนุรักษ์นิยมสุดโต่ง จะโด่งดังกับสารคดีต่อต้านวัคซีนโควิด-19 ทั้ง Died Suddenly และ Final Days ช่วงกลางปี 2022 เขาได้นำเสนอสารคดีความยาว 45 นาทีเรื่อง Watch the Water เนื้อหาเป็นการสัมภาษณ์ ไบรอัน อาร์ดิส อดีตแพทย์ด้านการบำบัดโรคด้วยการจับกระดูกสันหลัง ผู้มีประวัติสร้างข่าวปลอมเกี่ยวกับความปลอดภัยของการใช้ยาต้านไวรัส Remdesivir รักษาผู้ป่วยโควิด-19
ทฤษฎีที่ ไบรอัน อาร์ดิส ชักจูงให้ผู้ชมคล้อยตามใน Watch the Water คือการอ้างว่า การระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นผลจากแผนอันชั่วร้ายที่เรียกว่า Plandemic จากการร่วมมือระหว่างศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (CDC) และคริสตจักรโรมันคาทอลิก โดยอ้างว่าไวรัสโควิด-19 แท้จริงแล้วเกิดมาจากพิษของงู, ยาต้านไวรัส Remdesivir มีส่วนประกอบของพิษงู และมีแผนแพร่เชื้อโควิด-19 ผ่านทางแหล่งน้ำอีกด้วย
Watch the Water ทำยอดรับชมผ่านทาง Rumble สื่อสังคมออนไลน์ของผู้ที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยมและต่อต้านมาตรการโควิด-19 มากกว่า 3 ล้านครั้ง
จากการตรวจสอบโดยเว็บไซต์ Fact Check ทั้ง Politifact และ Factcheck.org พบว่าข้อกล่าวอ้างใน Watch the Water ล้วนเป็นข้อมูลเท็จ โดยแยกเป็นประเด็นได้ดังนี้
- ไวรัสโควิด-19 คือพิษงู – ข้อมูลเท็จ
ไบรอัน อาร์ดิส เชื่อมโยงไวรัสโควิด-19 กับพิษงู ด้วยเหตุผลที่ว่า มีการใช้เซรุ่มพิษงูในการรักษาผู้ป่วยที่ถูกงูกัด เหมือนการแนะนำให้ใช้ Monoclonal Antibodies ที่สกัดจากผู้ที่หายป่วยโควิด-19 มารักษาตัวผู้ป่วยโควิด-19 อีกที
อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญต่างยืนยันว่า ไวรัสโควิด-19 กับพิษงู หรือเซรุ่มพิษงูกับ Monoclonal Antibodies มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน
การศึกษาและแยกตัวอย่างเชื้อโควิด-19 โดยนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก ยืนยันว่าโรคโควิด-19 เกิดจากการติดเชื้อไวรัสระบบทางเดินหายใจ แตกต่างจากพิษงูซึ่งเป็นสารคัดหลั่งที่มีพิษของงู พิษงูจะไม่แพร่ระบาดในอากาศเหมือนกับไวรัสระบบทางเดินหายใจ
ดร.โรเบิร์ต แกรี นักไวรัสวิทยาจากมหาวิทยาลัยทูเลน สหรัฐอเมริกา เปรียบเทียบว่า เซรุ่มพิษงูสร้างขึ้นด้วยการฉีดพิษงูเข้าไปในร่างกายสัตว์ที่มีภูมิป้องกันพิษงูในปริมาณมาก เช่น ม้าและแกะ จากนั้นจึงนำแอนติบอดีที่ได้จากสัตว์มาผลิตเซรุ่มพิษงู ส่วน Monoclonal Antibodies เป็นสิ่งที่สร้างขึ้นในห้องปฏิบัติการ เพื่อใช้เสริมสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโรคชนิดต่าง ๆ เช่น ไวรัสโคโรนา ปัจจุบันยังไม่มีการผลิต Monoclonal Antibodies สำหรับรักษาพิษงูแต่อย่างใด
ไบรอัน อาร์ดิส ยังนำงานวิจัย 4 ชิ้นที่เกี่ยวกับพิษงู มาชักจูงให้เชื่อว่าไวรัสโควิด-19 คือพิษงู
งานวิจัยชิ้นแรกเป็นของ ปิงหลิว นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยพิตต์สเบิร์ก สหรัฐอเมริกา ซึ่ง ไบรอัน อาร์ดิส อ้างว่าเป็นงานวิจัยที่พบว่าไวรัสโควิด-19 คือพิษงู แต่ผู้วิจัยถูกยิงเสียชีวิตเมื่อเดือนพฤษภาคมปี 2020 ซึ่งเขาอ้างว่าเป็นการฆาตกรรมปิดปากเพื่อป้องกันการเปิดเผยความจริงนี้
อย่างไรก็ดี มหาวิทยาลัยพิตต์สเบิร์กชี้แจงว่า คำกล่าวอ้างของ ไบรอัน อาร์ดิส ไม่ถูกต้องและไม่เป็นไปตามหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ส่วนรายงานจากเจ้าหน้าที่ตำรวจยืนยันว่า การเสียชีวิตชีวิตของ ปิงหลิว ไม่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยที่เขาทำ
งานวิจัยชิ้นที่ 2 ที่ ไบรอัน อาร์ดิส ยกมาอ้าง เป็นงานวิจัยเชื่อว่างูคือแหล่งรังโรคของไวรัสโควิด-19 แต่ ดร.โรเบิร์ต แกรี นักไวรัสวิทยาชี้แจงว่า ผลวิจัยชิ้นนี้เป็นแค่สมมติฐานทางทฤษฎี และถูกหักล้างในเวลาไม่นาน
งานวิจัยชิ้นที่ 3 ไบรอัน อาร์ดิส อ้างว่า พบว่ามีเอนไซม์ของพิษงูหางกระดิ่งในเลือดของผู้ป่วยโควิด-19 แต่ความจริงแล้ว งานวิจัยพบว่าในร่างกายของคนปกติ จะมีเอนไซม์ชนิดหนึ่งซึ่งคล้ายกับเอนไซม์ที่พบในพิษงูหางกระดิ่ง ทำหน้าที่ทำลายเชื้อแบคทีเรียในร่างกายมนุษย์ แต่เมื่อมีการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เอนไซม์ตัวนี้จะเพิ่มปริมาณมากกว่าปกติ จากการตรวจสอบร่างกายของผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 พบว่าเอนไซม์ตัวนี้ส่งผลต่อการอักเสบของอวัยวะหลาย ๆ ส่วนของผู้ตาย
งานวิจัยชิ้นที่ 4 พบว่า พิษ 19 ชนิดจากงูเห่าอินเดียสามารถใช้พัฒนาเซรุ่มพิษงูให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่ง ไบรอัน อาร์ดิส อ้างว่าตัวเลข 19 ในที่นี้ คือที่มาของการตั้งชื่อไวรัสโควิด-19 ซึ่ง กัส ไรท์ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเท็กซัส เอแอนด์เอ็ม หนึ่งในทีมวิจัยยืนยันว่า งานวิจัยของเขาไม่มีความเกี่ยวพันกับไวรัสโควิด-19 ตัวเลข 19 ของโควิด-19 เป็นที่รู้กันว่าตั้งจากปีที่พบการแพร่ระบาดเป็นครั้งแรก คำกล่าวอ้างของ ไบรอัน อาร์ดิส มีความผิดเพี้ยนและน่าหงุดหงิดอย่างมาก
ดร.เดวิด เรลแมน ศาสตราจารย์ด้านจุลชีววิทยาและภูมิคุ้มกันวิทยา มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา ยืนยันว่า ข้อกล่าวอ้างของ ไบรอัน อาร์ดิส ช่างห่างไกลจากความเป็นจริง สื่อถึงการขาดความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และการแพทย์อย่างยิ่งยวด และเต็มไปด้วยตรรกะที่บิดเบี้ยว เพราะไม่มีหลักฐานใด ๆ ยืนยันว่าไวรัส SARS-CoV-2 หรือโรคโควิด-19 เกิดจากงูหรือพิษงู ข้ออ้างของ ไบรอัน อาร์ดิส เหมือนเป็นการนำเกร็ดเล็ก ๆ น้อย ๆ จากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ มาปะติดปะต่อเป็นภาพลวงชิ้นใหญ่
ในช่วงท้ายของสารคดี ไบรอัน อาร์ดิส ถึงกับอ้างว่า เมื่อนำคำว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาหรือ Coronavirus Pandemic ไปแปลเป็นภาษาลาติน จะมีความหมายว่า การแพร่ระบาดของพิษงูจากพระสันตะปาปา (The pope’s venom pandemic) หรือการแพร่ระบาดของพิษงูจงอาง (King cobra venom pandemic)
มาสซิโม เซ นักพจนานุกรมจาก Thesaurus Linguae Latinae สถาบันพจนานุกรมภาษาลาตินที่ใหญ่ที่สุดในโลก ยืนยันว่าการแปลของไบรอัน อาร์ดิสผิดพลาดโดยสิ้นเชิง ชื่อไวรัสโคโรนาถูกใช้ในแวดวงวิทยาศาสตร์มาหลายทศวรรษ ส่วนคำว่าโคโรนาในภาษาลาตินก็ใช้มาแล้วหลายศตวรรษ โดยมีความหมายว่าทรงกลดที่ล้อมรอบดวงอาทิตย์และดวงจันทร์
- ยา Remdesivir มีพิษงู เป็นอันตรายต่อผู้ป่วยโควิด-19
ไบรอัน อาร์ดิส อ้างหลักฐานว่า การที่พิษงูและสภาพของยา Remdesivir ที่ถูกจัดเก็บ มีสีขาวอมเหลืองอ่อนเหมือนกัน ทำให้เชื่อว่า Remdesivir น่าจะมีส่วนประกอบของพิษงู
อย่างไรก็ดี Gilead Sciences บริษัทเวชภัณฑ์ผู้ผลิตยา Remdesivir ยืนยันว่าตัวยาไม่มีส่วนผสมของพิษงูตามที่กล่าวอ้าง
ดร.แคเธอรีน ซีลีย์-แรดท์กี ศาสตราจารย์ภาควิชาเคมีและชีวเคมี มหาวิทยาลัย University of Maryland ยืนยันว่ายา Remdesivir ไม่ได้ผลิตจากพิษของงู โครงสร้างของยา Remdesivir จัดอยู่ในกลุ่มยาต้านไวรัสชนิด Nucleoside Analogue ซึ่งทำหน้าที่ยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัสในเซลล์ที่ติดเชื้อ ส่วนโครงสร้างของพิษงูมีความซับซ้อนกว่ามาก
ไบรอัน อาร์ดิส ยังอ้างงานวิจัยที่พบว่า ผู้ป่วยโควิด-19 ที่รักษาตัวด้วยยา Remdesivir จะมีอัตราเสียชีวิตสูงถึง 53%
อย่างไรก็ดี งานวิจัยดังกล่าวเป็นการตรวจสอบประสิทธิผลของยา Remdesivir กับผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสอีโบลา และก็ไม่มีการยืนยันว่ายา Remdesivir คือสาเหตุการเสียชีวิตเหล่านั้นอีกด้วย
นอกจากนี้ผู้วิจัยยังไม่พบว่า อาการข้างเคียงจากการใช้ยา Remdesivir ของผู้ป่วยโควิด-19 มีความแตกต่างจากผู้ป่วยที่ไม่ใช้ยานี้ แม้จะไม่มียาชนิดไหนที่มีประสิทธิผล 100% แต่ก็ไม่มีหลักฐานว่ายา Remdesivir ทำให้ผู้ป่วยโควิด-19 มีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าการไม่ใช้ยา
- น้ำคือช่องทางแพร่ระบาดของโควิด-19
ไบรอัน อาร์ดิส ซึ่งเคยอ้างว่าวัคซีนโควิด-19 ทำให้ผู้รับวัคซีนมีพลังงานแม่เหล็ก ยังอ้างว่ามีการลอบแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 ตามแหล่งน้ำสาธารณะ โดยอ้างว่าเชื้อโควิด-19 ที่อยู่ในแหล่งน้ำน่าจะเป็นส่วนผสมระหว่างพิษงูสามเหลี่ยมและงูเห่า เมื่อดื่มเข้าไปแล้ว พิษจะแทรกซึมสู่ก้านสมอง ทำให้กะบังลมเป็นอัมพาต ส่งผลต่อการหายใจ
ไบรอัน อาร์ดิส โจมตีว่า แผนการดังกล่าวมาจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (CDC) เนื่องจากมีการส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบแหล่งน้ำหลายแห่ง และคิดว่าคริสตจักรโรมันคาทอลิกน่าจะมีส่วนรู้เห็นเรื่องเหล่านี้ด้วย
นอกจากนี้ยังมีการโชว์คลิปวิดีโอการตรวจหาเชื้อโควิด-19 จากน้ำในท่อประปาแล้วให้ผลเป็นบวก แม้จะเป็นคลิปที่ได้รับการพิสูจน์ในภายหลังว่าเป็นข้อมูลเท็จ
อย่างไรก็ดี การพิสูจน์อย่างชัดเจนยืนยันได้ว่าโรคโควิด-19 เกิดจากเชื้อไวรัส CDC และไม่พบว่าไวรัสโควิด-19 มีอยู่ในน้ำดื่มแต่อย่างใด
ไบรอัน อาร์ดิส ยังนำข้ออ้างดังกล่าว ไปเปรียบเทียบกับเรื่องราวในซีรีส์เรื่อง The Blacklist ซึ่งมีฉากที่ตัวละครถูกลอบวางยาด้วยพิษงู ซึ่งถูกแอบมาใส่ไว้ในเครื่องดื่ม
จอน โบเคนแคมป์ ผู้ผลิตซีรีส์ The Blacklist ยืนยันต่อทาง Factcheck.org ว่า เนื้อหาในซีรีส์ที่ถูกอ้างถึง ออกอากาศมาตั้งแต่ปี 2017 และไม่มีความเกี่ยวพันกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่อย่างใด
เนื้อหาในซีรีส์เป็นแผนการของวายร้ายที่แต่งขึ้นมาเพื่อความบันเทิงเท่านั้น การที่ซีรีส์ The Blacklist ออกอากาศมาอย่างยาวนาน จึงเป็นไปได้ที่เนื้อหาของซีรีส์จะไปตรงกับเหตุการณ์ในโลกแห่งความเป็นจริง
เช่น เนื้อหาในตอน The Troll Farmer ที่เผยแพร่เมื่อปี 2015 ที่กล่าวถึงการใช้ข้อมูลเท็จเป็นเครื่องมือสร้างความเข้าใจผิด จนลุกลามและส่งผลต่อเหตุการณ์ในโลกของความเป็นจริงในเวลาต่อมา
ข้อมูลอ้างอิง :
https://www.politifact.com/factchecks/2022/apr/19/watch-water/stew-peters-film-watch-water-ridiculously-claims-c/
https://www.factcheck.org/2022/04/scicheck-covid-19-is-caused-by-a-virus-not-snake-venom/
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter