หินปูนใต้เปลือกตาคืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร อันตรายต่อดวงตาหรือไม่ และมีวิธีการรักษาอย่างไร
🎯 ตรวจสอบข้อเท็จจริงและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ ศาสตราจารย์วุฒิคุณ นพ.ศักดิ์ชัย วงศกิตติรักษ์ ประธานวิชาการ ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย
ภาวะหินปูนเกาะบริเวณเยื่อบุตาด้านในพบได้บ่อยและเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการเคืองตา ซึ่งในหลายคนอาจจะมีอาการเคืองตา แต่ไม่ได้ไปรับการตรวจ อาจจะเข้าใจว่ามีเศษฝุ่นปลิวเข้าตา หรือเคืองตาจากโรคตาแห้ง
หินปูนหรือไขมันแข็ง ๆ ที่สะสมอยู่บริเวณเยื่อบุตาด้านใน ไม่ได้เป็นหินปูนหรือเศษฝุ่นที่ปลิวมาจากข้างนอก แต่เกิดจากการสะสมของหินปูนหรือไขมันที่ล่องลอยมาในเลือด และมาสะสมบริเวณที่มีการอักเสบเรื้อรังของเยื่อบุตาด้านใน
หินปูนเยื่อบุตาหรือนิ่วเยื่อบุตา (conjunctival concretion) มี 2 แบบ คือ แบบแข็ง (แคลเซียม หินปูน) และ แบบอ่อน (ก้อนไขมัน) ซึ่งสามารถพบได้ทั้ง 2 แบบ
กรณีเป็นแคลเซียมที่มาสะสมอยู่จะทำให้เกิดอาการเคืองมากกว่าแบบอ่อน (ก้อนไขมันนิ่ม ๆ)
คนกลุ่มไหนที่พบหินปูนในเยื่อบุตา
ส่วนใหญ่พบภาวะหินปูนเกาะตาในผู้สูงอายุ เพราะอาจมีอาการอักเสบเรื้อรังบริเวณเยื่อบุตา หรืออาจจะพบในคนอายุน้อยก็ได้ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีภูมิแพ้ขึ้นบริเวณดวงตา คือมีอาการคันตาเรื้อรัง เป็น ๆ หาย ๆ มานานแล้ว ก็จะทำให้เกิดความเสียหายของเยื่อบุตาบริเวณด้านในจึงทำให้เกิดการสะสมของหินปูน
ระยะแรกการสะสมของหินปูนจะอยู่ลึก ๆ ผู้ป่วยยังไม่มีอาการอะไร ตามกลไกของร่างกายก็จะมีการดันออก ทำให้เกิดการตื้นขึ้นเรื่อย ๆ อาจจะเริ่มเคืองน้อย ๆ พอหินปูนเริ่มสัมผัสกับบริเวณกระจกตาดำโดยตรง เวลากะพริบตาก็มีอาการเคืองตามากขึ้น พอหินปูนหลุดพ้นออกจากเยื่อบุตา อาการเคืองตาก็จะหายไป
โดยทั่วไป ภาวะหินปูนเกาะที่บริเวณด้านในเยื่อบุตามักไม่เป็นอันตรายอย่างรุนแรงกับกระจกตาหรือลูกตา แต่อาจจะทำให้เกิดอาการระคายเคืองเป็น ๆ หาย ๆ
หินปูนในเยื่อบุตา เกิดซ้ำได้หรือไม่ ?
หินปูนเกิดขึ้นใหม่เป็นลักษณะวนซ้ำ 2-3 สัปดาห์เริ่มเกิดอาการเคืองตา ประมาณ 3-4 วันเมื่อหินปูนหลุดอาการเคืองตาก็หายไป
อาการเคืองตาจะดีขึ้นเพียงชั่วครั้งชั่วคราว หินปูนก้อนใหม่เริ่มตื้นขึ้นมาแล้วจะหลุดก็ทำให้เกิดอาการเคืองตาอีกเช่นกัน
สำหรับการรักษาภาวะหินปูนเกาะบริเวณเยื่อบุตา ต้องรักษาโรคที่เป็นต้นเหตุ เช่น ภูมิแพ้ขึ้นตา หรือเยื่อบุตาอักเสบเรื้อรัง จักษุแพทย์อาจให้ยาบางชนิดเพื่อรักษาอาการอักเสบเรื้อรังนั้น
การรักษาแบบประคับประคองสำหรับคนที่มีปัญหาหินปูนสะสมบริเวณเยื่อบุตาบ่อย ๆ จักษุแพทย์มักจะให้เป็นน้ำตาเทียมหรือเจล ช่วยให้สบายตามากขึ้น
การตรวจเบื้องต้น กรณีสงสัยมีหินปูนเกาะบริเวณเยื่อบุตา ด้วยการดึงเปลือกตาด้านล่างลง และให้คนที่จะตรวจมองลงล่าง และให้เหลือบตาขึ้นบน จะทำให้ด้านในของเยื่อบุตาล่างปลิ้นออกมา มองเห็นเป็นจุดขาว หรือจุดสีเหลืองของไขมันหรือหินปูนที่เกาะได้
สำหรับเปลือกตาบน สามารถจับบริเวณโคนขนตาบน แล้วพลิกเปลือกตาบนขึ้นไป และใช้ไฟส่องดูจะเห็นเป็นจุดขาวเล็ก ๆ หรือสีเหลืองเป็นก้อนสะสมอยู่ แสดงว่ามีหินปูนเกาะบริเวณดวงตา ไม่ควรเขี่ยออกด้วยตนเอง
แนะนำให้ไปพบจักษุแพทย์เพื่อรักษาที่ต้นเหตุ และได้รับยามาช่วยลดอาการ
สัมภาษณ์โดย พีรพล อนุตรโสตถิ์
เรียบเรียงโดย คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ดูเพิ่มเติมรายการ…
ชัวร์ก่อนแชร์ FACTSHEET : หินปูนในเยื่อบุตา
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter