“รสเผ็ด” กินอย่างไร “เป็นยา” และ “มีประโยชน์หรือโทษ” ต้องกินอะไร “แก้เผ็ด” ได้ผล
🎯 มีคำอธิบายจากผู้เชี่ยวชาญ
1. ภกญ.ดร.ผกากรอง ขวัญข้าว หัวหน้าศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จังหวัดปราจีนบุรี
2. อาจารย์ นพ.อาลันณ์ จันท์จารุณี อาจารย์ประจำสาขาวิชาโรคทางเดินอาหารและตับ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
“แพทย์แผนไทย” กับรสเผ็ด
ภกญ.ดร.ผกากรอง ขวัญข้าว กล่าวถึง “ความเผ็ดร้อน” ที่แพทย์แผนไทยเรียกว่า “รสยา”
คำว่า “รส” แสดงถึงคุณสมบัติของตัวสมุนไพรที่ทำให้ร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลง
คนโบราณเรียนรู้สรรพคุณของยาผ่านการ “ชิม”
“รสเผ็ดร้อน” จะไปช่วยการไหลเวียนของเลือด และทำให้ลม ซึ่งเป็น 1 ใน 4 ธาตุของร่างกายกระจายออกไปจากจุดกำเนิดได้ดีมากยิ่งขึ้น ลดอาการปวดและอาการชาลงได้
ความเผ็ดร้อนในทางการแพทย์แผนไทยบอกว่าไปเพิ่มไฟย่อย เพิ่มน้ำย่อย ทำให้รู้สึกอยากอาหารแล้วกินอาหารได้ดีขึ้น
“อาหารรสเผ็ด” ปริมาณเท่าไหร่ที่มีความเหมาะสม ซึ่งแต่ละคนก็จะมีความสามารถทนรับความเผ็ดแตกต่างกัน
ถ้ากินแล้วยังรู้สึกว่าปกติดี ไม่ได้แสบร้อนมากเกินไป ไม่มีท้องเสีย ไม่มีมวนท้อง ก็ถือว่าเป็นปริมาณที่ร่างกายรับได้
“ความพอดี” อยู่ที่ว่ากินแล้วยังรู้สึกสบาย รับได้กับความเผ็ดนั้นโดยไม่ต้องไปหาทางแก้ความเผ็ดเลย
เวลากินอาหารรสเผ็ด การดื่มน้ำเปล่าลดเผ็ดได้ แต่ลดได้ชั่วคราวเท่านั้น และก็ต้องดื่มน้ำเพิ่มเข้าไปอีก
แพทย์แผนไทยลดความเผ็ดด้วย “อาหารรสเย็น”
วิถีชีวิตดั้งเดิมของคนไทย ถ้าร่างกายได้รับความเผ็ดมากเกินไป ก็จะกินสมุนไพรรสเย็นหรือขม เพื่อลดความเผ็ดร้อนในร่างกาย คือ ผักต้มของไทยมีรสเย็น เช่น ฟัก แฟง บวบ ผักบุ้ง จะไปคละฤทธิ์ ทำให้ร่างกายได้รับรสชาติหรือสรรพคุณที่มีความสมดุลกันมากขึ้น
ความเผ็ด “เป็นยาได้” ก็ด้วยการกินเป็นส่วนสผมในอาหาร ซึ่งเครื่องเทศทุกชนิดจัดเป็นของเผ็ดร้อนทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นใบกะเพรา โหระพา ยี่หร่า กระชาย ข่า ขิง ขมิ้น จะช่วยให้ระบบการย่อยอาหารทำงานได้ดียิ่งขึ้น
“แพทย์แผนปัจจุบัน” กับรสเผ็ด
องค์ความรู้แพทย์แผนปัจจุบันเกี่ยวกับรสเผ็ด อาจารย์ นพ.อาลันณ์ จันท์จารุณี อธิบายว่า
ขณะที่ร่างกายเกิดความรู้สึกเผ็ดนั้น มาจากการได้รับหรือสัมผัสสารที่ชื่อว่า “แคปไซซิน” (capsaicin) ไปจับกับตัวรับ (TRPV1) ทำให้เกิดการส่งกระแสประสาทกลับขึ้นมาว่ามีการระคายเคืองหรือการอักเสบเกิดขึ้น ทำให้ร่างกายผลิตน้ำย่อยเพิ่มเติมออกมา
“รสเผ็ด” ทำให้กินอาหารได้มากขึ้นในกลุ่มคนที่ชื่นชอบการกินอาหารรสเผ็ด กระตุ้นการบีบตัวของกระเพาะอาหารและลำไส้
นอกจากนี้ สารแคปไซซินในพริกจะกระตุ้นทำให้เกิดน้ำย่อยในส่วนที่ไม่ใช่กรดออกมามากขึ้น ในปริมาณที่พอดีก็จะทำให้การระคายเคืองกระเพาะอาหารดีขึ้นด้วยเหมือนกัน
การกินเผ็ดไม่ได้เป็นปัญหา ถ้าไม่ได้กินขนาดที่มาก ๆ เกินไปจนทำให้เกิดการอักเสบเฉพาะที่
ในคนที่กินเผ็ดไม่เป็น ก็ไม่มีความจำเป็นต้องหัดกินเผ็ด
สำหรับคนทั่วไปถ้ากินเผ็ดแล้วรู้สึกเจริญอาหาร รู้สึกว่าระบบการทำงานของทางเดินอาหารดี ก็กินร่วมด้วยได้ไม่มีปัญหา
คนที่ไม่ควรกินเผ็ดคือผู้ป่วยที่มีกระเพาะอาหารอักเสบ และจะต้องระมัดระวัง ถ้ากินแล้วรู้สึกมีอาการระคายเคืองมากขึ้นเกินไปจะต้องลดขนาดลง
มีหลายคนกินอาหารรสเผ็ดแล้วเชื่อว่าดื่มน้ำเปล่ามาก ๆ จะช่วยล้างความเผ็ดได้
ขอชี้แจงว่าการดื่มน้ำเปล่าไม่ได้ช่วยลดความเผ็ด ยกเว้นล้างความระคายเคืองต่าง ๆ ในช่องปากเท่านั้น
มีอาหาร 3 อย่าง แก้ความเผ็ด ลดการทำงานของตัวรับ (TRPV1) ดังนี้
1. การกินหรือดื่มอาหารที่มาจากผลิตภัณฑ์นม จะช่วยลดความเผ็ดได้
2. แคปไซซินเป็นสารด่าง อาหารที่มีความเป็นกรดหรือรสเปรี้ยว จะช่วยลดหรือหักล้างได้
3. กินอาหารกลุ่มแป้งเพิ่มเติม เพื่อปิดกั้นไม่ให้ตัวรับพบกับสารแคปไซซิน
อาหารรสเผ็ด กินอย่างไรเกิดประโยชน์หรือโทษ อยู่ที่ความพอดีและการรู้จักร่างกายตนเอง
จุดไหนเป็นจุดที่เกินพอดี จะต้องใช้การสังเกตร่างกายของแต่ละคน
เวลากินอาหารรสเผ็ดมาถึงระดับหนึ่ง ต่อมตัวรับก็จะมีการปรับตัวอัตโนมัติ
ถ้ากินมากเกินไป ตัวรับก็จะถอยตัวเองลงมา ทำให้การรับรู้น้อยลง
ดังนั้น ควรกินเท่าเดิม คือไม่จำเป็นต้องเพิ่มหรือลดลง
ดูเพิ่มเติมรายการ ชัวร์ก่อนแชร์ FACTSHEET : รสเผ็ดในตำราแพทย์ (แผนไทย-แผนปัจจุบัน), ชัวร์ก่อนแชร์ : ข้อดี-ข้อเสีย ของการกินเผ็ด จริงหรือ ?
สัมภาษณ์โดย พีรพล อนุตรโสตถิ์
เรียบเรียงโดย คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter