น้ำตาเทียมมีกี่ชนิด ชนิดไหนเหมาะกับใคร วิธีการใช้งานที่ถูกต้องเป็นอย่างไร
🎯 ตรวจสอบกับ ศาสตราจารย์วุฒิคุณ นพ.ศักดิ์ชัย วงศกิตติรักษ์ ประธานวิชาการ ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย
ธรรมชาติของดวงตาคนเราจำเป็นต้องมี “น้ำ” หล่อเลี้ยงดวงตา ฉาบบริเวณผิวตาดำและตาขาวอยู่ตลอดเวลา เพื่อช่วยในการหักเหของแสงให้ดวงตาทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เห็นภาพชัดขึ้น
ภาวะที่น้ำหล่อเลี้ยงลูกตาน้อยจะทำให้คนคนนั้นรู้สึกเคืองตา ตาแดง ตาแห้ง
แก้ปัญหา “ตาแห้ง” ด้วยน้ำตาเทียม
ปัจจุบันมีการใช้น้ำตาเทียมเพื่อแก้ปัญหาตาแห้ง
โดยทั่วไป “น้ำตาเทียม” ไม่ค่อยมีผลข้างเคียงหรือเป็นอันตรายกับดวงตา จึงมีการนำน้ำตาเทียมมาใช้อย่างแพร่หลาย แต่ถ้ามีปัญหาเรื่องเคืองตา ฝืดตา ตาแห้งมาก แนะนำว่าครั้งแรกควรจะไปพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจว่าภาวะนั้นไม่ได้เกิดจากโรคตาอื่น ๆ แต่เป็นจากภาวะตาแห้งอย่างเดียว เพราะถ้าเกิดจากโรคต่าง ๆ จะได้รักษาที่ต้นเหตุอย่างเหมาะสม
ภาวะ “ตาแห้ง” เกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง
ผลจากการใช้คอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือนานมากขึ้น รวมทั้งมลภาวะทางอากาศ ไม่ว่าจะเป็นฝุ่น PM2.5 ที่เกินค่ามาตรฐาน ก็จะยิ่งทำให้น้ำที่หล่อเลี้ยงลูกตาระเหยผิดปกติ
อีกสาเหตุที่พบบ่อยคือการมีโรคประจำตัวหรือกินยาบางชนิด แต่มีผลข้างเคียงทำให้น้ำหล่อเลี้ยงลูกตาน้อยลง
ประเภทของน้ำตาเทียม
“น้ำตาเทียม” แบ่งได้ 2 ชนิด คือ ชนิดที่ต้องใช้ให้หมดภายใน 24 ชั่วโมง และน้ำตาเทียมบรรจุขวดยาหยอดตา
1. ชนิดที่ต้องใช้ให้หมดภายใน 24 ชั่วโมง เป็นน้ำตาเทียมบริสุทธิ์บรรจุในหลอดเล็ก ๆ ที่ไม่มีสารกันเสียหรือสารกันแบคทีเรียเติบโต
น้ำตาเทียมชนิดนี้ไม่ค่อยระคายเคืองตา สามารถใช้หยอดได้วันละมากกว่า 4-5 ครั้ง (ตามความจำเป็น) จึงเหมาะสำหรับคนที่มีปัญหาตาแห้งค่อนข้างมาก และจำเป็นต้องหยอดน้ำตาเทียมวันละหลาย ๆ ครั้ง
2. น้ำตาเทียมบรรจุขวดยาหยอดตา มีขนาดบรรจุตั้งแต่ 5-15 ซีซี น้ำตาเทียมชนิดนี้มีสารกันเสียหรือสารกันการเติบโตของแบคทีเรียผสมอยู่มาก จึงสามารถเก็บไว้ใช้ได้หลังจากเปิดขวดนาน 1 เดือน
ข้อเสียของน้ำตาเทียมที่ใส่สารกันเสียก็คือ ถ้ามีการนำไปหยอดที่ดวงตาบ่อย ๆ มากกว่าวันละ 3-4 ครั้ง อาจจะทำให้เกิดการระคายเคือง เพราะฉะนั้นน้ำตาเทียมที่บรรจุขวดจึงเหมาะสำหรับคนที่มีอาการตาแห้งไม่มากนัก
การใช้ “น้ำตาเทียม” อย่างถูกต้อง
การใช้น้ำตาเทียมที่ถูกต้อง คือ ใช้อย่างสะอาด
เมื่อเปิดขวดแล้วจะต้องไม่สัมผัสบริเวณด้านในของขวด
ขณะหยอด จะต้องไม่สัมผัสกับบริเวณขนตา หรือเปลือกตา เพราะมีโอกาสที่เชื้อโรคจะย้อนเข้าไปในขวดได้
นอกจากนี้ การเก็บ “น้ำตาเทียม” ชนิดใช้งาน 1 เดือนก็ควรเก็บในตู้เย็นช่องธรรมดา จะทำให้เก็บไว้ได้ประมาณ 1 เดือน ถ้าเกินระยะเวลานั้น แนะนำให้ทิ้งแล้วเปลี่ยนขวดใหม่จะปลอดภัยกว่า
ใช้ดวงตาถูกต้อง ป้องกัน “ตาแห้ง”
นอกจากการใช้น้ำตาเทียมแล้ว แนะนำให้ปรับพฤติกรรมการใช้ดวงตา เช่น การไม่เพ่งตาต่อเนื่องยาวนาน หลีกเลี่ยงบริเวณอากาศร้อนและแห้ง รวมทั้งบริเวณที่มีลมเป่าถูกดวงตา
การกะพริบตาอย่างเหมาะสมนาทีละ 8-12 ครั้งก็ช่วยลดปัญหาตาแห้งโดยธรรมชาติได้อยู่แล้ว ซึ่งในคนทั่วไปก็ไม่ได้แนะนำว่าจะต้องใช้น้ำตาเทียมเสมอไป
น้ำตาเทียมสูตรเย็นและบำรุงสายตา อันตรายหรือไม่ ?
ปัจจุบัน “น้ำตาเทียม” มีจำหน่ายหลายยี่ห้อและหลายสูตร บางชนิดมีการผสมสารต่าง ๆ เข้าไป เช่น สารที่ทำให้รู้สึกว่าหยอดแล้วเย็นมากขึ้น หรือแอบอ้างว่าผสมสารอาหารหรือวิตามินเข้าไปเพื่อเป็นประโยชน์กับดวงตา
สารต่าง ๆ ที่ผสมในน้ำตาเทียมถือเป็น “สิ่งแปลกปลอม” ชนิดหนึ่งที่นำมาหยอดบนกระจกตาดำ ดังนั้นควรใช้น้ำตาเทียมชนิดที่ผ่านการรับรองมาตรฐานโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข ประเทศไทย และควรใช้เมื่อจำเป็นเท่านั้น เพราะสารเหล่านี้อาจเกิดผลเสียต่อดวงตาได้
ดูเพิ่มเติมรายการ ชัวร์ก่อนแชร์ FACTSHEET : น้ำตาเทียม
สัมภาษณ์โดย พีรพล อนุตรโสตถิ์
เรียบเรียงโดย คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter