ตาโหล เบ้าตาลึก เป็นอย่างไร และวิธีการแก้ไข ทำอย่างไร
🎯 ตรวจสอบกับ ศาสตราจารย์วุฒิคุณ นพ.ศักดิ์ชัย วงศกิตติรักษ์ ประธานวิชาการ ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย
เรื่อง “ตาโหล” และ “เบ้าตาลึก” เป็นลักษณะกายภาพของแต่ละคน
บางคนที่มีโหนกของบริเวณคิ้วสูง หรือบริเวณกระดูกเบ้าตาข้างล่างนูนเด่นชัดขึ้นมา จะทำให้รู้สึกเหมือนตาลึกเข้าไป
คนที่ “ตาโหล เบ้าตาลึก” มีขนาดลูกตาปกติถือเป็นเรื่องธรรมชาติที่เกิดขึ้นได้ แต่บางคนอาจรู้สึกว่าทำให้ดวงตาดูไม่สวยงาม
ตาโหล เบ้าตาลึก เป็นมาตั้งแต่กำเนิด ?
โดยทั่วไปภาวะ “ตาโหล เบ้าตาลึก” ถ้าไม่ได้เกิดจากโรคหรือความผิดปกติของโครโมโซมที่มีส่วนอื่นของร่างกายผิดปกติไปด้วย มักจะเป็นกรรมพันธุ์ที่ถ่ายทอดมาจากยีนคุณพ่อคุณแม่ ทำให้ลักษณะหน้าตาคล้าย ๆ กัน และมีโครงสร้างใบหน้าที่มีตาโหลหรือเบ้าตาลึกได้
คนที่มี “ตาโหล เบ้าตาลึก” มาตั้งแต่เกิด พบว่าช่วง 5-6 ขวบแรก จะมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก มีทั้งตาโหลหรือเบ้าตาลึกดีขึ้นและแย่ลง
เมื่อเด็กโตขึ้นอายุเกิน 5-6 ขวบไปแล้ว โครงสร้างของกระดูกบริเวณใบหน้าค่อนข้างอยู่ตัว อาจทำให้ลักษณะ “ตาโหล เบ้าตาลึก” ติดตัวจนโตเป็นผู้ใหญ่
“ตาโหล เบ้าตาลึก” กับการใช้สายตา
ในคนทั่วไปไม่เกิดปัญหาจากพฤติกรรมการใช้สายตาหรือการดำเนินชีวิตประจำวัน ยกเว้นเด็กบางคนชอบขยี้ตาจากการมองเห็นของตาไม่ค่อยดีข้างเดียวหรือทั้ง 2 ข้าง
การขยี้ตาของเด็กจะทำให้ไขมันซึ่งหนุนลูกตาอยู่ด้านหลังเกิดการละลายตัว ทำให้เบ้าตายิ่งลึกเข้าไปมากขึ้น
เด็กเล็กบางคนที่ยังพูดไม่รู้เรื่องขยี้ตาค่อนข้างรุนแรงตลอดเวลา อาจเป็นอาการเตือนได้ว่าเด็กมีปัญหากับดวงตาข้างนั้น ทำให้มองเห็นน้อยจึงต้องขยี้ตาเพื่อกระตุ้นการทำงานของดวงตา แต่การขยี้ตามาก ๆ จะยิ่งทำให้การทำงานของดวงตาข้างนั้นแย่ลง และเกิดภาวะเบ้าตาลึกมากยิ่งขึ้น
นี่คือลักษณะหนึ่งที่อาจจะเป็นพยาธิสภาพหรือโรคของตาที่จำเป็นต้องสังเกตแล้วพาไปพบจักษุแพทย์
กรณีตาโหล เบ้าตาลึก ไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษาอะไรเป็นพิเศษ เพราะเป็นเรื่องปกติตามธรรมชาติ
ถ้ามีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องความสวยงาม ปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่สามารถจะช่วยได้บ้าง เช่น การฉีดสารเพิ่มบริเวณเปลือกตาเพื่อให้ลักษณะการลึกของเบ้าตาดูน้อยลง อาจเป็นสารชนิดอื่นหรือไขมันของตัวผู้ป่วยเองก็ได้
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้
สิ่งสำคัญที่ต้องระมัดระวังมากก็คือ เทคโนโลยีการรักษาแบบนี้อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น ตัวสารที่ฉีดเข้าไปหรือแม้แต่ไขมันของตัวผู้ป่วยเองก็อาจกลายเป็นสิ่งแปลกปลอมที่หลุดเข้าไปอุดตันหลอดเลือดบริเวณอื่น ๆ ของร่างกาย
ดังนั้น การทำหัตถการใด ๆ ควรทำกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น
ดูเพิ่มเติมรายการ ชัวร์ก่อนแชร์ FACTSHEET : ตาโหล เบ้าตาลึก
สัมภาษณ์โดย พีรพล อนุตรโสตถิ์
เรียบเรียงโดย คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter