ปัญหาโรคตา หรือภาวะดวงตาผิดปกติที่เกิดขึ้นในเด็กมีอะไรบ้าง
จะป้องกันหรือรักษาได้อย่างไร
🎯 ตรวจสอบกับ ศาสตราจารย์วุฒิคุณ นพ.ศักดิ์ชัย วงศกิตติรักษ์ ประธานวิชาการ ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย
โรคตาในเด็กสามารถพบได้ตั้งแต่แรกคลอด จนถึงเด็กโต สามารถแบ่งได้เป็น 3 ช่วงวัย
ช่วงวัยที่ 1 แรกเกิด-ก่อนเริ่มเดินได้
สิ่งที่พบได้คือ โรคตาที่ผิดปกติแต่กำเนิด (ตาขาว ตาดำ เปลือกตา) และจอประสาทตาผิดปกติ
คุณพ่อคุณแม่ช่วยกันสังเกตว่าเด็กที่คลอดออกมาตา 2 ข้างมีขนาดเท่ากันหรือไม่
ตาดำมีลักษณะสีดำไม่เป็นสีขาว หรือเปลือกตาทั้ง 2 ข้างลืมขึ้นทั้ง 2 ข้างหรือไม่
ช่วงที่เด็กอายุ 2-3 เดือน โดยเฉพาะเด็กที่คลอดก่อนกำหนด จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคจอประสาทตาผิดปกติ และในเด็กที่มีอายุครรภ์น้อยกว่า 30 สัปดาห์ หรือน้ำหนักแรกคลอดน้อยกว่า 1,500 กรัม จะต้องพาไปพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจจอประสาทตาเมื่ออายุประมาณ 1 เดือน
ช่วงวัยที่ 2 อายุประมาณ 3-12 ปี
สิ่งที่พบบ่อยคือ ตาเข ตาเหล่ ค่าสายตาผิดปกติ ตาขี้เกียจ และตา 2 ข้างเห็นไม่เท่ากัน
ตาเข ตาเหล่ (strabismus) อาจจะเกิดได้จากเด็กที่มีภาวะสายตายาว จะทำให้เกิด “ตาเขเข้าใน”
ส่วนเด็กที่มีภาวะสายตาสั้นหรือสายตาเอียงก็จะทำให้เกิด “ตาเขออกนอก”
อีกส่วนหนึ่งอาจเกิดจากความไม่สมดุลของกล้ามเนื้อในการควบคุมดวงตาทั้ง 2 ข้าง ก็จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัด
นอกจากนี้ ยังมีภาวะค่าสายตาผิดปกติที่เด็กกลุ่มนี้อาจจะมีกรรมพันธุ์มาจากคุณพ่อคุณแม่ ลูกจึงมีค่าสายตาผิดปกติด้วย หรือเป็นในรุ่นของลูกเองก็ได้ ซึ่งปัจจุบันเริ่มเป็นตั้งแต่เข้าชั้นอนุบาลหรือประถมศึกษา เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการใช้สายตาของคนปัจจุบันเปลี่ยนไป เรื่องเหล่านี้ถ้าไม่ได้รับการแก้ไขทำให้การพัฒนาประสาทตาด้อยกว่าปกติ เรียกภาวะนี้ว่า “ตาขี้เกียจ” (Lazy eye)
ในเด็กวัยนี้ยังพบภาวะที่ตา 2 ข้างเห็นไม่เท่ากัน โดยที่พ่อแม่ไม่รู้เลยว่าเด็กอาจจะใช้ตาข้างเดียวตลอดเวลา
ช่วงวัยที่ 3 อายุประมาณ 10 ขวบขึ้นไป
ปัญหาหลักของกลุ่มนี้คือสายตาที่ผิดปกติ สั้น ยาว เอียง ซึ่งในเด็กยุคนี้อาจจะมีสายตาสั้นมากขึ้นอย่างรวดเร็ว
อุบัติเหตุกับดวงตาก็เป็นปัญหาของเด็กกลุ่มนี้ด้วย จากการเล่นกันและความซุกซนของเด็ก ถ้าเด็กมีความผิดปกติของดวงตา เช่น มีแผล หรือตาแดงมากผิดปกติ แนะนำให้ไปพบจักษุแพทย์ จะได้ตรวจว่าอุบัติเหตุส่งผลกระทบอะไรรุนแรงกับดวงตาหรือไม่
คำแนะนำจากจักษุแพทย์
“ดวงตา” มีความสำคัญต่อการพัฒนาและการเจริญเติบโตของตัวเด็ก สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำมีดังต่อไปนี้
1. สังเกตความผิดปกติทั่วไปของดวงตาลูกตั้งแต่แรกเกิด
2. สังเกตพฤติกรรมการมองเห็นของลูก ว่าเหมาะสมกับวัยหรือไม่ เช่น อายุ 2-3 เดือน ควรมองตามและจ้องหน้าคุณพ่อคุณแม่ได้ หรือเวลาดูโทรทัศน์จะต้องวิ่งเข้าไปดูใกล้ ๆ แล้วหยีตามอง เอียงคอมอง หรือเรียนหนังสือไม่ทันเพื่อน เหล่านี้อาจจะเป็นอาการเตือนว่าเด็กมีภาวะสายตาผิดปกติได้
3. ถ้าสงสัยว่าลูกมีตาเขหรือตาเหล่หรือไม่ ด้วยการใช้ไฟฉายส่องบริเวณระหว่างคิ้ว เพื่อจะดูเงาไฟฉายที่ตกกลางกระจกตาดำ ก็จะช่วยทดสอบได้ว่าลูกของเรามีภาวะตาเหล่ ตาเข หรือไม่
4. ทดสอบเด็กเล็ก ด้วยการใช้ฝ่ามือบังดวงตาทีละข้าง ถ้าเด็กมีอาการร้องไห้ หรือพยายามเอาหน้าหลบเมื่อเราบังดวงตาข้างใดข้างหนึ่งทุกครั้ง แสดงว่าเด็กอาจจะมีปัญหาการมองเห็นของ 2 ตาไม่เท่ากัน ควรไปพบจักษุแพทย์เพื่อทดสอบว่าเกิดจากสาเหตุอะไร
ดูเพิ่มเติมจากรายการ ชัวร์ก่อนแชร์ FACTSHEET : ปัญหาโรคตาในเด็ก
สัมภาษณ์โดย พีรพล อนุตรโสตถิ์
เรียบเรียงโดย คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter