4 มกราคม 2567
4 มกราคม 2567 – “ตำรวจไซเบอร์” เผยสาเหตุเปลี่ยนที่อยู่เว็บไซต์แจ้งความออนไลน์เป็น .go.th เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนและให้แยกเว็บไซต์จริงกับปลอมออกจากกันได้ แนะประชาชนตกเป็นผู้เสียหายโทร. 1441
พล.ต.ต.นิเวศน์ อาภาวศิน รองผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (บช.สอท.) เปิดเผยกับทีมข่าวไซเบอร์ ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ว่า แนวคิดในการเปลี่ยนชื่อ URL หรือชื่อโดเมนเนมของเว็บไซต์แจ้งความออนไลน์มีนานแล้ว แต่เนื่องจากช่วงต้นได้ประชาสัมพันธ์กับประชาชนไป ทำให้ต้องใช้เวลา และการจดชื่อโดเมนเนมใหม่ที่เป็น .go.th มีกลไกในการระบุตัวตน ถ้าเป็นโดเมนเนมในประเทศไทย ที่ลงท้ายว่า .th ต้องมีการลงทะเบียนชัดเจน สามารถระบุตัวตนได้ ดังนั้นหากเป็นเว็บไซต์ที่ลงท้ายด้วย .th จะไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องไปโกงหรือหลอกลวงผู้อื่น เป็นนโยบายระดับรัฐบาลที่ต้องการขับเคลื่อนให้เว็บไซต์ของหน่วยงานราชการเป็น .go.th ทั้งหมด และด้วยปัจจุบันมีเว็บไซต์ต่าง ๆ ได้ปลอมเป็นหน่วยงานราชการเยอะมาก โดยเฉพาะเว็บไซต์แจ้งความออนไลน์ เวลาประชาชนเห็นชื่อเว็บไซต์ .com ก็จะเข้าใจว่าเป็นเว็บไซต์ที่น่าเชื่อถือและทางตำรวจเคยประชาสัมพันธ์ แต่หากดูกลไกการลงทะเบียนชื่อเว็บไซต์จะพบว่า .com สามารถลงทะเบียนปลอมได้ ดังนั้นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนว่าอันไหนเป็นเว็บไซต์จริง เว็บไซต์ปลอม โดเมนเนมจึงมีความสำคัญมาก ทางตำรวจไซเบอร์จึงรีบเปลี่ยนชื่อเว็บไซต์แจ้งความออนไลน์ เป็น https://thaipoliceonline.go.th
สำหรับประชาชนที่ต้องการใช้บริการแจ้งความออนไลน์ สามารถดำเนินการได้ด้วยตนเองผ่านเว็บไซต์ https://thaipoliceonline.go.th เท่านั้น หากเคยลงทะเบียนไว้กับเว็บไซต์แจ้งความออนไลน์เดิม สามารถใช้บัญชีเดิมในการแจ้งความออนไลน์ได้ โดยไม่ต้องสมัครใหม่ และขอย้ำเตือนว่า หน่วยงานราชการไม่มีบริการให้ประชาชนแจ้งความผ่านเฟซบุ๊ก แชทไลน์ หรือ แจ้งความผ่าน direct message (DM) ของแอปพลิเคชันใดใดทั้งสิ้น
สถิติการแจ้งความออนไลน์ ตั้งแต่ 17 มีนาคม 2566 จนถึง ธันวาคม 2566 พบว่า มีผู้แจ้งความเกือบ 180,000 คดี ซึ่งเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างเยอะ และมีมูลค่าความเสียหายสูงถึง 21,222 ล้านบาท สำหรับค่าเฉลี่ยรายวัน พบว่า เดือนธันวาคม 2566 เป็นเดือนที่ประชาชนแจ้งความออนไลน์มากสุด สูงถึง 800 คดีต่อวัน ก่อนหน้านี้พบประมาณ 500 – 700 คดีต่อวัน สาเหตุมาจากการที่กระทรวงดิจิทัลได้บูรณาการร่วมกับตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ในการตั้งสูนย์ AOC 1441 ประชาชนก็เข้ามาแจ้งความผ่านทางออนไลน์และทางโทรศัพท์จำนวนมาก ทำให้สถิติในภาพรวมสูงขึ้น ซึ่งคดีที่ประชาชนได้รับความเสียหายมากสุด เป็นเรื่องหลอกให้รักแล้วไปลงทุน พบมูลค่าความเสียหายหลักล้านทุกวัน โดยคนส่วนใหญ่หลงเชื่อตัวเลขในแพลตฟอร์มปลอม คิดว่าเป็นของจริง เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ทางตำรวจไซเบอร์กำลังเร่งประชาสัมพันธ์ โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้มากกว่า 500,000 บาท ขึ้นไป ว่าอย่าไปหลงเชื่อและลงทุนกับมิจฉาชีพประเภท Hybrid Scam
นอกจากนั้น พล.ต.ต.นิเวศน์ อาภาวศิน ได้ให้คำแนะนำแก่ประชาชนในการเตรียมความพร้อมกับการแจ้งความออนไลน์ ว่า
“อันดับแรกให้โทรศัพท์ไปที่สายด่วน AOC 1441 หากติดต่อไม่ได้ สายไม่ว่างจริง ๆ สิ่งที่แนะนำ คือ ให้เข้าไปที่เว็บไซต์แจ้งความออนไลน์ https://thaipoliceonline.go.th และไปดูที่สายด่วนธนาคารที่ผู้เสียหายใช้ในการโอนเงินไปที่บัญชีปลายทางของคนร้าย เราใช้ธนาคารไหน ก็ไปดูที่ธนาคารนั้น และรีบโทรศัพท์ไปหาธนาคารเพื่อแจ้งอายัดก่อนเป็นอันดับแรก จากนั้นค่อยแจ้งความออนไลน์ด้วยตนเองผ่านเว็บไซต์ นอกจากนั้นอีกช่องทางหนึ่งที่อยากประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบ คือ หากซื้อของออนไลน์แล้วได้ของไม่ตรงปก แนะนำให้ใช้บริการ ศาลแพ่งออนไลน์ COJ ไม่มีค่าใช้จ่าย บางคนตอนนี้ก็เริ่มฟ้องธนาคารแล้วก็มี อย่างเช่น แอปพลิเคชันดูดเงิน บางคนโดนไปหมดตัว ไม่มีเงินจ้างทนาย แล้วก็ไปฟ้องธนาคาร ก็ใช้ช่องทางนี้เช่นเดียวกันครับ”
ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์
สำนักข่าวไทย อสมท
ผู้สื่อข่าว พีรพล อนุตรโสตถิ์และเสาวภาคย์ รัตนพงศ์
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter