06 พฤศจิกายน 2566
แปลและเรียบเรียงบทความโดย: อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ข้อมูลที่ถูกแชร์ :
มีข้อมูลบิดเบือนเผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์ในต่างประเทศ โดยมีการแชร์ภาพถ่าย 3 ภาพที่อ้างว่าเป็นชะตากรรมอันโหดร้ายที่เกิดกับเด็กชาวปาเลสไตน์ จากการโจมตีฉนวนกาซาอย่างต่อเนื่องของทางการอิสราเอล ในสงครามอิสราเอล-ฮามาสที่เปิดฉากโจมตีตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม 2023 เป็นต้นมา
บทสรุป :
- ทั้ง 3 ภาพที่ถูกแชร์ไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใสกาซา
- ภาพเด็กที่ประสบเหตุทั้ง 3 ภาพ นำมาจากประเทศซีเรีย ทั้งจากสงครามกลางเมืองและจากเหตุแผ่นดินไหว
FACT CHECK : ตรวจสอบข้อเท็จจริง :
ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขปาเลสไตน์เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2023 รายงานว่า จากการโจมตีฉนวนกาซาของกองทัพอิสราเอล ส่งผลให้มีชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตในฉนวนกาซาไม่น้อยกว่า 5,087 ราย โดยแบ่งเป็นผู้หญิง 1,119 ราย และเด็ก 2,055 ราย
อย่างไรก็ดี ภาพถ่ายทั้ง 3 ภาพที่นำมาแชร์เพื่อให้เชื่อว่าเป็นชะตากรรมของเด็กปาเลสไตน์ในเหตุสงคราม ได้รับการยืนยันว่าไม่มีความเกี่ยวข้องกับสงครามอิสราเอล-ฮามาสปี 2023 แต่อย่างใด
ภาพเด็กถูกสังหาร 7 ศพ
ภาพแรกที่โพสต์เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2023 ถูกตั้งชื่อว่า “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เด็กในปาเลสไตน์”
จากการตรวจสอบพบว่า ภาพดังกล่าวเผยแพร่ครั้งแรกโดยสำนักข่าว Shaam News Network สื่อของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลซีเรียเมื่อปี 2013 ในช่วงที่ชาวซีเรียต้องเผชิญกับสงครามกลางเมือง
รายงานระบุว่า ศพเด็กทั้ง 7 ราย เป็นผลจากการโจมตีของกองทัพฝ่ายรัฐบาลที่ใช้แก๊สซารินโจมตีที่ชานเมืองกรุงดามัสกัส เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2013 จนเป็นสาเหตุให้มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยราย
คลิปเด็กชายสูญเสียครอบครัวจากระเบิด
ข้อความและวิดีโอที่โพสต์ทาง Facebook ระบุว่า “เด็กชายในกาซากำลังร่ำไห้หลังสูญเสียพี่สาวน้องสาวจากการโจมตีทางอากาศโดยฝ่ายอิสราเอล”
จากการตรวจสอบพบว่า คลิปวิดีโอดังกล่าวเผยแพร่ครั้งแรกโดยสำนักข่าว Shaam News Network สื่อของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลซีเรียเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2014
คลิปเดียวกันที่โพสต์ทาง YouTube ระบุว่า “ชาวเมืองอะเลปโป ทั้งพลเรือนและเด็กรอดชีวิตจากการโจมตีด้วยระเบิดที่รุนแรง”
รายงานจาก Reuters เมื่อปี 2015 ระบุว่าสงครามกลางเมืองในประเทศซีเรียที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2011 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตเฉพาะปี 2014 ถึง 76,021 ราย และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของเด็กถึง 3,501 ราย
คลิปการกู้ทารกจากซากตึกถล่ม
ข้อความประกอบคลิปวิดีโอที่ถูกแชร์กล่าวหาว่า “อิสราเอลสังหารเด็ก จากการทิ้งระเบิดอย่างไม่เลือกเป้าหมาย ชาวปาเลสไตน์ออกมาช่วยกันค้นหาผู้รอดชีวิต พวกเขาได้ยินเสียงร้องของทารกดังมาจากซากตึกที่ถล่ม จึงช่วยกันคุ้ยซากด้วยมือเปล่า จนพบเด็กทารกที่ติดอยู่ในซาก แม้จะเจ็บหนักแต่ยังคงมีชีวิต เพราะได้รับการปกป้องจากอ้อมกอดของแม่ที่ยอมสละชีวิตเพื่อลูกน้อย #Palestine #Gaza”
จากการตรวจสอบพบว่า คลิปต้นฉบับถูกโพสต์ทางบัญชี X ของหน่วยงานเพื่อมนุษยธรรมในซีเรียชื่อ Syria Civil Defence ตั้งแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2023 ในช่วงที่ประเทศตุรกีและซีเรียเผชิญกับเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ช่วงต้นปี 2023 ที่ผ่านมา
ข้อมูลจากคลิปต้นฉบับระบุว่า “ช่วงเวลาอันเหลือเชื่อระหว่างการช่วยทารกที่ยังมีชีวิตรอดในซากตึก เด็กได้รับการปกป้องจากตัวของพี่สาว ในเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศซีเรีย #Aleppo #Syria”
เหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่ประเทศตุรกีและซีเรียเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2023 เป็นสาเหตุให้มีผู้เสียชีวิตถึง 50,783 รายในตุรกี และ 8,476 รายในซีเรีย
ข้อมูลอ้างอิง :
https://www.reuters.com/fact-check/old-syria-photograph-used-alongside-real-claims-palestinian-child-deaths-2023-10-17/
https://www.reuters.com/fact-check/clip-baby-rescued-rubble-unrelated-israel-hamas-conflict-2023-10-13/
https://www.reuters.com/fact-check/video-boy-crying-dates-2014-syria-2023-10-18/
https://edition.cnn.com/europe/live-news/israel-hamas-war-gaza-news-10-23-23/index.html
https://en.wikipedia.org/wiki/2023_Turkey%E2%80%93Syria_earthquakes
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter