04 กรกฎาคม 2566
แปลและเรียบเรียงบทความโดย: อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
บทสรุป :
- ไม่มีหลักฐานว่าบุคคลทั้ง 3 ต่อต้านการก่อตั้งระบบธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา
- อิซิดอร์ สเตราส์ ยังให้การสนับสนุนระบบธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา
- มาร์ติน รอธส์ไชด์ล สมาชิกตระกูลรอธส์ไชด์ล คือหนึ่งในผู้เสียชีวิตจากการอับปางของ Titanic
ข้อมูลที่ถูกแชร์ :
มีข้อมูลเท็จเผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์ในสหรัฐอเมริกา เมื่อมีการอ้างว่าการอับปางของเรือ Titanic แท้จริงแล้วเป็นส่วนหนึ่งของแผนการก่อตั้งระบบธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (Federal Reserve หรือ Fed) เนื่องจากผู้เสียชีวิตบนเรือทั้ง 3 ราย ล้วนเป็นผู้ที่มีแนวคิดคัดค้านการก่อตั้งระบบธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ เจ.พี. มอร์แกน นักลงทุนชาวอเมริกัน เจ้าของเรือ Titanic ก็เป็นตัวตั้งตัวตีในการก่อตั้งธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาอีกด้วย
FACT CHECK : ตรวจสอบข้อเท็จจริง :
มหาเศรษฐีผู้มีชื่อเสียงทั้ง 3 รายที่เสียชีวิตจากเหตุอับปางของเรือ Titanic ได้แก่ จอห์น เจคอป แอสเตอร์, เบนจามิน กุกเกนไฮม์ และ อิซิดอร์ สเตราส์
ข้อความอ้างว่า จากการที่บุคคลทั้ง 3 มีแนวคิดต่อต้านก่อตั้งระบบธนาคารกลาง ส่งผลให้ เจ.พี. มอร์แกน และมหาเศรษฐีตระกูลรอธส์ไชด์ล วางแผนฆาตกรรมด้วยการเชิญให้บุคคลทั้งสามร่วมเดินทางไปกับเรือ Titanic ซึ่ง International Mercantile Marine Company หรือ IMMC บริษัทของ เจ.พี. มอร์แกน เป็นเจ้าของ
แต่เดิม เจ.พี. มอร์แกนและตระกูลรอธส์ไชด์ล มีแผนที่จะเดินทางไปกับเรือ Titanic ด้วย แต่ยกเลิกการเดินทางกะทันหันโดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด เมื่อเรือ Titanic จมไปพร้อมกับแอสเตอร์ กุกเกนไฮม์ และสเตราส์ การก่อตั้งระบบธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาก็ประสบความสำเร็จในปี 1913
อย่างไรก็ดี ข้ออ้างดังกล่าวเป็นเพียงทฤษฎีสมคบคิดที่ไม่มีหลักฐานใด ๆ ยืนยัน
จอร์จ บีเฮ ผู้เชี่ยวชาญที่ศึกษาประวัติเรือ Titanic มาอย่างยาวนาน ยืนยันว่า ไม่มีหลักฐานที่พบว่าแอสเตอร์, กุกเกนไฮม์ และสเตราส์ มีแนวคิดต่อต้านระบบธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา
นอกจากนี้ รายงานหนังสือพิมพ์ New York Times เมื่อเดือนตุลาคม 1911 ยังพบว่า อิซิดอร์ สเตราส์ ให้การสนับสนุนระบบธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาอีกด้วย
ส่วนการยกเลิกการเดินทางกับเรือ Titanic อย่างกะทันหันของ เจ.พี. มอร์แกน และตระกูลรอธส์ไชด์ล ก็ไม่ได้เกิดจากความจงใจอีกด้วย
ไม่มีใครรู้ว่าเหตุใด เจ.พี. มอร์แกน จึงยกเลิกการขึ้นเรือ Titanic กระนั้น การอับปางจากการเดินทางเที่ยวแรกของเรือ Titanic ทำให้บริษัท IMMC ได้รับผลกระทบทางการเงินอย่างหนัก
อย่างไรก็ดี เมื่อได้รู้ชะตากรรมที่เกิดกับเรือ Titanic เจ.พี. มอร์แกน ได้กล่าวว่า ความสูญเสียทางการเงินเทียบไม่ได้กับชีวิตผู้คนที่จากไป นับเป็นจุดจบที่น่ากลัวยิ่งนัก
ไม่มีหลักฐานว่าตระกูลรอธส์ไชด์ลยกเลิกการเดินทางไปกับเรือ Titanic กะทันหัน นอกจากนี้ การตรวจสอบรายชื่อผู้โดยสารยังพบว่า มาร์ติน รอธส์ไชด์ล และ เอลิซาเบธ เจน แอน รอธส์ไชด์ล สามีภรรยาซึ่งเป็นทายาทของตระกูลดัง ได้ร่วมเดินทางไปกับเรือ Titanic อีกด้วย โดยเอลิซาเบธผู้เป็นภรรยาสามารถขึ้นเรือกู้ชีพได้สำเร็จ แต่มาร์ตินต้องกลายเป็นหนึ่งในผู้เสียชีวิตมากกว่า 1,500 รายในคืนนั้น
ข้อมูลยืนยันว่า ตระกูลรอธส์ไชด์ลก็ไม่ได้เป็นสมาชิกธนาคาร 12 แห่งของ Fed และ Fed ก็ไม่ได้ถูกควบคุมโดยสมาชิกจากธนาคารเหล่านั้นอีกด้วย
ตระกูลรอธส์ไชด์ล เป็นตระกูลชาวอเมริกันเชื้อสายยิวที่ตกเป็นเหยื่อการเชื่อมโยงกับทฤษฎีสมคบคิดบ่อยครั้ง สาเหตุมาจากแนวคิดต่อต้านยิวที่มองว่ามหาเศรษฐีชาวยิวมีแผนที่จะควบคุมการเงินของโลก
ข้อมูลอ้างอิง :
https://www.politifact.com/factchecks/2023/jan/26/instagram-posts/titanic-sinking-was-accident-caused-over-1500-deat/
https://www.snopes.com/fact-check/titanic-inside-job/
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter