ชัวร์ก่อนแชร์ : “บูลลี่” ในโรงเรียน

สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล


ข้อมูล : รศ.พญ.วนิดา เปาอินทร์ (กุมารแพทย์ เชี่ยวชาญด้านการคุ้มครองเด็ก)

🎯 เกิดเหตุการณ์เศร้าสะเทือนขวัญ วันอังคาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2566 ช่วงพักเที่ยง ณ โรงอาหารโรงเรียนแห่งหนึ่ง นักเรียนรุ่นพี่ อายุ 16 ปี ใช้ขวานจามศีรษะ นักเรียนรุ่นน้อง อายุ 14 ปี


ทั้งคู่มีเรื่องทะเลาะวิวาทกันมานานหลายเดือนแล้ว รุ่นพี่ต่อยแพ้รุ่นน้องตลอด และถูกเพื่อนร่วมชั้นบูลลี่ จนเกิดความอับอายและเครียด จึงก่อเหตุทำร้ายรุ่นน้องเสียชีวิต

🎯 ในภาษาไทยมีคำว่า กลั่นแกล้ง ข่มเหง รังแก และ ล้อเลียน

สำหรับภาษาอังกฤษที่คุ้นเคยกัน  คือ bully และ bullying


เมื่อพูดถึงการกลั่นแกล้ง ข่มเหง รังแก และ ล้อเลียน ส่วนใหญ่รู้จักคำทับศัพท์ “บูลลี่”

บางเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจาก “บูลลี่” มีความรุนแรงถึงขั้นบาดเจ็บและเสียชีวิต

👉 ประเภทของการบูลลี่

การบูลลี่บุคคลอื่น มี 3 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่

ทาง “วาจา” คือ การพูดสื่อความหมายล้อเล่น เหน็บแนม และขู่ว่าจะทำอันตราย

ทาง “สังคม” คือ การทำให้เกิดความอับอายและเสียหน้าต่อสาธารณะ หรือแกล้งทำให้ถูกตัดความสัมพันธ์กับผู้อื่น ด้วยความตั้งใจ เช่น ไล่ออกจากกลุ่ม ปล่อยข่าวเท็จให้เกิดความเสียหาย กีดกันอีกสารพัดเรื่อง

ทาง “ร่างกาย” คือ การกลั่นแกล้งเกี่ยวกับร่างกาย เช่น การทุบตี ทำร้าย ทำให้เกิดอุบัติเหตุ แย่งสิ่งของ แสดงออกด้วยท่าทางหยาบคาย

กลุ่มคนที่ถูกบูลลี่มีอยู่ทั่วไปทั้งในโรงเรียนระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และ มหาวิทยาลัย สถานที่ทำงาน และชุมชนที่อยู่อาศัยด้วย

ข้อมูลการสำรวจเยาวชน ปี 2563 จาก “เครือข่ายนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชน” พบว่า ในกลุ่มเด็กอายุ 10-15 ปี จาก 15 โรงเรียน จำนวน 1,500 คน มีเด็กมากถึง 91.79 เปอร์เซ็นต์ เคยถูกบูลลี่ 

วิธีบูลลี่ที่พบมากที่สุดคือ การตบหัว 62.07 เปอร์เซ็นต์ รองลงมา ล้อบุพการี 43.57 เปอร์เซ็นต์ พูดจาเหยียดหยาม 41.78 เปอร์เซ็นต์ และอื่น ๆ เช่น นินทา ด่าทอ ชกต่อย ล้อปมด้อย พูดเชิงให้ร้าย เสียดสีผ่านสื่อสังคมออนไลน์

นอกจากนี้ เด็ก 1 ใน 3 หรือ 35.33 เปอร์เซ็นต์ เคยถูกกลั่นแกล้งรังแกประมาณเทอมละ 2 ครั้ง และเด็ก 1 ใน 4 หรือ 24.86 เปอร์เซ็นต์ ถูกกลั่นแกล้ง 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์เลยทีเดียว 

บุคคลที่กลั่นแกล้งมักเป็นเพื่อนร่วมชั้นเรียน รุ่นพี่ รุ่นน้อง และเด็กมากกว่าครึ่ง หรือ 68.93 เปอร์เซ็นต์ มองว่า การบูลลี่ถือเป็นความรุนแรง 

ผลกระทบจากการถูกบูลลี่ ซึ่งเป็นข้อมูลจากการสำรวจ พบว่า

  • เด็กบางคนคิดโต้ตอบหรือต้องการเอาคืนมีมากถึง 42.86 เปอร์เซ็นต์
  • มีอาการเครียด 26.33 เปอร์เซ็นต์
  • ไม่มีสมาธิกับการเรียน 18.2 เปอร์เซ็นต์
  • ไม่อยากไปโรงเรียน 15.73 เปอร์เซ็นต์
  • เก็บตัว 15.6 เปอร์เซ็นต์
  • มีอาการซึมเศร้า 13.4 เปอร์เซ็นต์ 

👉 ตั้งใจบูลลี่คนอื่น

การบูลลี่ในโรงเรียน หรือ “school bully” สามารถดูจากภาพรวมได้หลายอย่าง เช่น คนบูลลี่เป็นอย่างไร พฤติกรรมการบูลลี่เป็นอย่างไร คนที่บูลลี่คนอื่นขาดอะไรและพร่องตรงไหน รวมถึงคนถูกบูลลี่เป็นแบบไหน

คนที่บูลลี่คนอื่นด้วยความตั้งใจ เป็นคนมีลักษณะพิเศษ คือ ความเห็นอกเห็นใจคนอื่นต่ำ ความรู้สึกวิตกกังวล (Anxity) ก็ต่ำด้วย

ถ้ามีองค์ประกอบ 2 อย่าง ทั้งความรู้สึกเห็นอกเห็นใจคนอื่นต่ำ และความวิตกกังวลว่าสิ่งที่ตัวเองทำกับคนอื่นก็ต่ำ จะทำให้คนนั้นเป็นคนที่บูลลี่คนอื่นได้ง่าย

“ความสามารถในการเห็นอกเห็นใจ” เป็นเรื่องที่ต้องถูกกล่อมเกลา หมายความว่า เด็กไม่ได้เติบโตมาด้วยความสามารถเห็นอกเห็นใจ แต่ต้องเติบโตขึ้นมาท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่เห็นใครทำเป็นแบบอย่าง จากการทำให้ดู มีประสบการณ์ได้รับการเห็นอกเห็นใจ เติบโตมาเรื่อย ๆ ตั้งแต่ก่อนเข้าโรงเรียน ได้เห็น ได้รับรู้จากตัวอย่างที่เห็นซ้ำ ๆ ในครอบครัว และตนเองก็ได้รับความเห็นอกเห็นใจอย่างต่อเนื่อง ทำให้สามารถเห็นอกเห็นใจคนอื่นถูกบ่มเพาะพร้อมกับวัยที่เพิ่มขึ้น

ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (compassion) เป็นการทำงานของสมองส่วนหน้า แต่สมองส่วนหน้าเป็นส่วนที่พัฒนาช้าที่สุด

สมองส่วนหน้าพัฒนาเต็มที่ต้องอายุ 25 ปี ช่วงระหว่างนี้ (ก่อน 25 ปี) เป็นช่วงที่อยู่ระหว่างการพัฒนา

ส่วนความวิตกกังวล เป็นพฤตินิสัยส่วนหนึ่ง ขึ้นกับพื้นนิสัยตั้งแต่เกิด ร่วมกับวิธีการเลี้ยงดูและบรรยากาศในการเติบโต ถ้าเป็นเด็กที่มีความเห็นอกเห็นใจ และไม่ตื่นตระหนกง่าย ก็จะมีความสามารถที่จะเข้ากับคนอื่นได้ง่าย แต่ถ้าไม่รู้สึกเห็นอกเห็นใจ และไม่ตื่นตระหนกง่าย ก็จะมีความเสี่ยงที่จะทำสิ่งรบกวน หรือรังแกคนอื่นได้

👉 ป้องกันการบูลลี่ในโรงเรียน

“โรงเรียน” เป็นสถานที่เกิดบูลลี่ได้ง่าย เป็นการรวมคนที่สมองอยู่ระหว่างการพัฒนาเพื่อให้เกิดความมั่นคงภายใน เมื่อเด็กอยู่รวมกัน มีโอกาสที่จะมีการกระตุ้นกัน ก่อกวนกัน ไม่ชอบใจกันได้ง่าย การบูลลี่จึงเกิดได้บ่อยในโรงเรียน

จะต้องทำอย่างไร การบูลลี่ถึงจะเกิดน้อย หรือเป็นศูนย์

เรื่องนี้ ต้องทำอย่างชัดเจนและจริงจัง

อย่างแรกเลย เรื่องนี้ต้องเป็นนโยบายของโรงเรียนและทุกคนรับรู้เรื่องนี้

“ผู้ใหญ่” ในโรงเรียนทุกคนต้องให้ความร่วมมือ

ผู้ใหญ่ในโรงเรียนก็คือครูทุกคน เจ้าหน้าที่ นักการภารโรง แม่บ้าน รวมถึงคนขายอาหารในโรงเรียน พ่อแม่ ผู้ปกครอง รวมถึงตัวนักเรียนด้วย

“ครู” อย่างน้อยต้องไม่เป็นคนบูลลี่เด็กนักเรียน มีบางพื้นที่ครูเป็นตัวอย่างของการบูลลี่ในโรงเรียน แม้จะน้อยกว่าอดีตเนื่องจากการมีกฎหมายห้ามตีเด็ก

ครูทุกคนต้องได้รับการอบรมเรื่องนี้อย่างชัดเจน การกระทำอะไรที่เรียกว่าบูลลี่ และมีกติกาชัดเจนว่า ครูต้องไม่บูลลี่เด็ก รวมถึงมาตรการการลงโทษที่จริงจังกับครูที่บูลลี่เด็ก เรื่องนี้มีความจำเป็นเพราะยังมีครูจำนวนมากที่มีความเชื่อ และทัศนคติที่บิดเบือนว่าการลงโทษเป็นสิ่งที่ควรทำ เมื่อยังไม่สามารถเปลี่ยนความเชื่อที่เป็นอันตรายกับเด็ก จึงต้องมีกฎที่เข้มงวดเพื่อกำกับจากภายนอก

ครูบางคนเมื่อเป็นนักเรียนเคยถูกตีหลายครั้ง แล้วมาบอกว่า “ผมมีวันนี้ได้เพราะครูคนนั้นตีผม”

แล้วเขากลายเป็นใคร… กลายมาเป็นคนที่มาบังคับให้คนอื่นเชื่อฟัง กลายเป็นคนที่ยอมกับอำนาจที่เหนือกว่า เขาเชื่อว่าเขารอดมาได้เพราะสิ่งนี้

ส่วนตัวคิดว่าเขายังไม่รอดอยู่ดี เขาจะรอดได้ดีกว่าถ้าครูในวันนั้นไม่ตีเขา และมีวิธีการอื่นที่ดีกว่า

ถ้าครูยังทำไม่ได้ ต้องไปช่วยให้ครูทำได้ด้วย ต้องไปแก้ทุกข์ให้ครู ครูปรารถนาดีกับเด็กใช่มั้ย ครูเชื่อใช่มั้ยว่าตีแล้วได้ผล เนื่องจากตีตอนนี้ไม่ได้แล้ว จะทำอะไรได้บ้าง ครูรอไหวหรือเปล่าที่จะเห็นผลในระยะที่ไกลออกไป ไม่ได้เห็นผลทันที แต่เห็นผลแล้วยั่งยืนกว่า

ครูรอไม่ไหว ยังต้องตีเด็ก ครูก็ต้องอยู่ในกติกา ที่ต้องถูกลงโทษ

คนเราก็ต้องปรับ ในเมื่อมีบทลงโทษกับตัวเอง หลายโรงเรียน ถ้าผู้บริหารมีนโยบายที่เข้มแข็งมาก ครูถึงแม้จะอยากตีก็ไม่ตีอยู่แล้ว

ครูจำนวนมากนอกจากเชื่อว่าต้องตีเด็ก ต้องทำโทษเด็กแล้ว ยังเชื่อว่าต้องตำหนิเด็ก ทำให้เด็กสำนึกผิดเด็กถึงจะปรับตัวเป็นเด็กดีได้ แต่ในทฤษฏีการพัฒนาเด็กที่แท้จริง ต้องพัฒนาจากการทำให้เด็กเชื่อว่าเด็กเป็นเด็กที่ดีพอ เก่งพอ ที่จะปรับพฤติกรรมของตัวเอง เรียกว่าเป็นการปรับจากภายในของเด็กเอง เด็กกำลังสร้างตัวเอง กำลังพัฒนาตัวเอง พ่อแม่หรือครู ต้องบอกว่า “ตรงนี้หนูทำได้ดีแล้ว หนูทำได้ดีกว่านี้อีก” เด็กจึงจะดีขึ้น

ไม่ใช่บอกว่า “หนูยังไม่ได้เรื่อง หนูยังแย่ หนูจะต้องทำให้ดีขึ้น” ยิ่งทำให้พลังงานที่จะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นกลับลดน้อยลง ซึ่งเด็กจะแปลความรู้สึกได้หลายอย่าง เช่น ครูไม่ชอบเขา ความรู้สึกตรงนี้จะไปรบกวนใจและความคิด ทำให้การใช้เหตุผล และความสามารถปรับตัวทำได้น้อยลง

การควบคุมตัวเองของเด็กต้องเกิดขึ้นในสถานการณ์ที่สงบ เงียบ และมั่นคง ถ้าถูกดุ ถูกตำหนิ ถูกตี เด็กอาจหยุดพฤติกรรมเพราะอำนาจภายนอก แต่ความสามารถในการควบคุมตัวเองจากภายในจะทำได้น้อยลง

สรุปสำหรับสมองที่กำลังเติบโต ต้องใช้ “ชมนำ” ไม่ได้ชมว่าเขาทำผิด ชมในส่วนที่เขาทำได้ดี เพื่อไปพัฒนาในส่วนที่เขายังทำได้ไม่ดี ทำแบบนี้ เด็กจะปรับพฤติกรรมได้ดีกว่า ความมั่นคงภายในจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งยังช่วยให้เด็กพัฒนาความเห็นอกเห็นใจ การที่จะไปบูลลี่คนอื่นก็จะลดน้อยลง

ทั้งอดีตและปัจจุบัน มีครูทำสิ่งที่ตรงกันข้าม ยังใช้การตี การทำโทษ เพื่อปรับพฤติกรรม

สาเหตุที่ครูเชื่อว่าสำเร็จ เพราะเมื่อครูพูดดี ๆ เด็กก็ไม่เชื่อ มีเด็กบางคนจะทดสอบพลังครู… ครูจึงต้องตี เด็กยอมทำได้ทันที ครูหลายคนจึงคิดว่าต้องตี..จึงจะสำเร็จ

“ยอมทันที” ความหมายก็คือ “ทำให้เด็กยอมรับความรุนแรง” เพราะครูเป็นตัวอย่างของความรุนแรง ส่งผลให้เกิดบรรยากาศของความกลัว ทำให้บรรยากาศในการเรียนรู้เสียหาย ทำให้เด็กไม่กล้าถาม ไม่กล้าเสนอความคิดเห็น  

ในที่สุดกลายเป็นว่า ถ้าเด็กไม่แข็งข้อก้าวร้าว ก็กลายเป็นเด็กยอมตามเพื่อเอาตัวรอด ซึ่งเราไม่ต้องการทั้งสองอย่าง

เราไม่ต้องการคนก้าวร้าว และไม่ต้องการคนยอมตาม

เราต้องการเด็กที่เติบโตมั่นคง สามารถคิด วิเคราะห์ เพื่อนำเสนอความคิดของตัวเองได้โดยไม่ต้องกลัวถูกทำโทษ ถูกตำหนิ ทั้งนี้สิ่งนี้ยังเกิดขึ้นน้อยมากในโรงเรียนในประเทศไทย (ความสามารถคิด วิเคราะห์ เป็นงานสำคัญของสมองที่ไม่ได้ถูกสนับสนุนให้ฝึกอย่างเป็นรูปธรรมในโรงเรียน)

ผู้ใหญ่ในโรงเรียน ไม่ว่าตำแหน่งไหน ก็ต้องได้เรียนรู้เรื่องเหล่านี้ด้วย

เขาต้องได้เรียนรู้ว่าอะไรที่เรียกว่าบูลลี่ อะไรที่เขาจะทำได้เมื่อเห็นการบูลลี่ เขาจะไม่ปล่อยผ่านไป เขาจะต้องรายงานใคร ตัวเขาเองก็ต้องไม่บูลลี่ มีมาตรการที่เข้มแข็ง

👉 นักเรียน “ถูกบูลลี่” และ “หยุดบูลลี่”

นักเรียนมีความสำคัญมาก เพราะการจะหยุดบูลลี่ได้จริง ๆ ต้องใช้นักเรียน เพราะส่วนใหญ่เวลาบูลลี่ เป็นเหตุการณ์ที่ครูไม่อยู่

“บูลลี่ในโรงเรียน” หยุดได้จริง ๆ คือนักเรียนที่อยู่ในเหตุการณ์

คนถูกบูลลี่ จะมีพลังอำนาจน้อยในตัวเองอยู่แล้ว และอาจมีจุดอ่อน หรือความต่าง ทำให้เป็นเป้าหมายของการบูลลี่

ส่วนคนบูลลี่ มักมีปัญหาภายในของตัวเอง ทำให้หยุดตัวเองยาก ผู้ชมนั่นแหละที่จะหยุดคนบูลลี่ได้

สิ่งที่โรงเรียนต้องทำ คือ ต้องซักซ้อมผู้ชมหรือนักเรียนที่อยู่ในเหตุการณ์ว่าถ้าเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ ตัวอย่างแบบนี้ทุกคนต้องทำอย่างไร

กรณีมีเหตุการณ์บูลลี่เกิดขึ้น ทุกคนเห็นดีเห็นงามเชียร์ก็เท่ากับยอมรับบูลลี่เกิดขึ้น แต่ถ้าทุกคนยืนขึ้นมา อาจจะมีสัญลักษณ์อะไรบางอย่าง หรือให้เด็กช่วยกันคิดก็ได้ว่าสัญลักษณ์แบบนี้คือสัญลักษณ์ขอให้หยุด โดยให้เด็กคิดเองจะง่ายกว่า เพราะถ้าผู้ใหญ่ไปสั่งให้เด็กทำ ซักซ้อมจนเด็กสามารถช่วยกันทำด้วยกัน 

👉 “บูลลี่” มีคนสร้าง

บูลลี่เป็นเรื่องของความไม่เท่ากันของ “อำนาจ” คนกลุ่มหนึ่ง กับเด็กคนหนึ่ง และมีผู้ชมจำนวนมาก  

ครอบครัวเป็นปัจจัยหลักในการสร้างความมั่นคงภายในให้เด็ก ป้องกันไม่ให้เป็นทั้งคนบูลลี่ และคนถูกบูลลี่

บูลลี่ไม่ได้เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่มีคนสร้าง จึงต้องไปดูต้นตอหรือสาเหตุที่เกิดบูลลี่

เด็กที่เติบโตในครอบครัวที่มีปัญหาต่างๆ การทำหน้าที่ของครอบครัวพร่อง (dysfunctional family) เช่น ครอบครัวที่ใช้ความรุนแรง เด็กอาจกลายเป็นคนยอมตาม หวาดกลัว ทำให้ถูกบูลลี่ได้ง่าย หรืออาจจะก้าวร้าวและใช้อำนาจเหนือคนอื่น  

นอกจากนี้ เด็กที่มีรูปร่างแปลกกว่าเด็กอื่น เช่น ตัวเล็กกว่า ผิวพรรณแตกต่างจากคนอื่น มีแนวโน้มจะถูกบูลลี่ได้มากกว่า

👉 บอกให้ผู้ใหญ่รับรู้… ถูกบูลลี่

มีรายงานว่า เด็กเคยบอกครูว่าถูกบูลลี่ แต่ครูตอบสนองน้อยกว่าครึ่ง

ครู (บางคน) มองเป็นเรื่องธรรมดา มีความทนมากขึ้น เริ่มไม่ท้าทาย และเริ่มชิน

เด็กถูกสอนให้อยู่ใต้อำนาจ โตกลายเป็นผู้ใหญ่อยู่ในวงจรอำนาจ

ปรับที่เด็กถูกบูลลี่ และเด็กที่บูลลี่แต่ละคนไม่ได้ผล

ปรับที่ครูคนเดียวก็ไม่ได้ผล

ต้องปรับทั้งระบบ ทั้งโรงเรียน

เด็กบูลลี่ ไม่ใช่อาชญากร…

ถ้าไม่หยุดให้เร็วพอ อาจจะกลายเป็นอาชญากรจริง ๆ

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม

https://www.moj.go.th/view/56312
https://mgronline.com/crime/detail/9640000068961
https://www.facebook.com/hashtag/เครือข่ายนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชน
https://www.antifakenewscenter.com/คลังความรู้/กลั่นแกล้ง-ให้ร้ายทางไซเบอร์-ผิดกฎหมาย-โทษทั้งจำทั้งปรับ/
ดูข่าวเพิ่มเติม

หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare

สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter

หมายเหตุ : โฆษณาที่ปรากฏอยู่บนหน้าเว็บไซต์นี้ แสดงผลโดยอัตโนมัติจากบริษัทผู้ให้บริการโฆษณา ไม่ใช่การสนับสนุนหรือส่งเสริมจากศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์แต่อย่างใด

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

ยิงสส.กัมพูชา

ออกหมายจับชายไทย วัย 41 มือยิง ‘ลิม กิมยา” ดับกลางกรุงเทพฯ

ออกหมายจับชายไทย วัย 41 มือยิง ‘ลิม กิมยา” อดีต สส.ฝ่ายค้านกัมพูชา ดับใกล้วัดดังกลางกรุง พบเหยื่อมีบทบาทในการตรวจสอบรัฐบาลฮุนเซน

ครม.เห็นชอบร่างกฎกระทรวงเพิ่มบุหรี่ไฟฟ้า-บารากู่ไฟฟ้า เป็นของต้องห้าม

ครม. เห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดการประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา เพิ่มบุหรี่ไฟฟ้า-บารากู่ไฟฟ้า เป็นของต้องห้าม พร้อมกำหนดบทลงโทษหากพบเข้าไปข้องเกี่ยว

สุดเจ๋ง! นศ.วอศ.เสาวภา-วอศ.สระบุรี ชนะเลิศแข่งขันแกะสลักหิมะนานาชาติ 2025

สุดเจ๋ง! นศ.วอศ.เสาวภา และ วอศ.สระบุรี ชนะเลิศในการแข่งขันแกะสลักหิมะนานาชาติ 2025 ณ เมืองฮาร์บิน สาธารณรัฐประชาชนจีน

ข่าวแนะนำ

“เด็ก-เยาวชน” ส่ง ส.ค.ส.อวยพร “ปีใหม่-วันเด็ก” ให้นายกฯ

“เด็ก-เยาวชน” ส่ง ส.ค.ส.อวยพรปีใหม่ 2568 – วันเด็ก ให้ “นายกฯ พี่อิ๊งค์” มีความสุข สุขภาพแข็งแรง ตั้งใจทำงานเพื่อบ้านเมือง อยู่คู่ตึกไทยคู่ฟ้า บริหารประเทศไปนานๆ พร้อมฝากความคิดถึง “อดีตนายกฯ ทักษิณ”

16 บอสดิไอคอน แถลงปฏิเสธทุกข้อหา ศาลนัดตรวจพยานหลักฐาน 10 ก.พ.

16 บอส ดิไอคอนกรุ๊ป แถลงปฏิเสธทุกข้อหา ศาลนัดสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐาน 10 ก.พ.นี้ ขณะที่ “ทนายวิฑูรย์” เผย “บอสพอล-บอสกันต์” ดีใจ หลัง “แซม-มิน” ได้ปล่อยตัว ส่วนท่าทีทั้งคู่ดูสบายๆ ปกติ ล่าสุดมีรายงาน “บอสวิน” ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว อยู่ระหว่างรอผล

ภรรยา “ลิม กิมยา” ให้ปากคำกับพนักงานสอบสวน

ภรรยา “ลิม กิมยา” ให้ปากคำกับพนักงานสอบสวน รวมถึงดำเนินการเกี่ยวกับเอกสารและการติดต่อรับศพนายลิม ที่แผนกนิติเวช รพ.วชิรพยาบาล