🎯 ตามที่มีการแชร์แนะนำว่า “ทำท่าสิงโตแก้นอนกรน ให้แลบลิ้นยาว ๆ เหลือบตามองบน บริหารก่อนนอน ทำต่อเนื่องอย่างน้อย 7 วัน อาการนอนกรนหายแน่นอน” นั้น
📌 บทสรุป : ❌ ไม่จริง ไม่ควรแชร์ต่อ มีคำอธิบายเพิ่มเติม ❌
👉 ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ตรวจสอบกับผู้เชี่ยวชาญ พญ.นวรัตน์ เกษมสุข ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
การแลบลิ้น เหลือบตา แบบท่าสิงโต แก้อาการนอนกรน มีบางส่วนถูก แต่ก็มีบางส่วนที่ผิดอยู่
ท่าแลบลิ้นที่แนะนำ คล้ายคลึงกับการออกกำลังกายโคนลิ้น ซึ่งในระยะหลังมีคำแนะนำการออกกำลังกายบริเวณช่องคอและโคนลิ้น เพื่อเพิ่มความตึงตัวของกล้ามเนื้อบริเวณคอหอย คาดว่ากล้ามเนื้อมีความตึงตัวดี การนอนกรนและการหยุดหายใจขณะหลับก็จะดีมากขึ้นด้วย
👉 การออกกำลังกายโคนลิ้น ทางการแพทย์เรียกว่าอะไร ?
การออกกำลังกายโคนลิ้น โดยทั่วไปมีแนวทางอยู่หลายท่า เช่น มีการขยับปาก ขยับลิ้น แตะกระพุ้งแก้มซ้าย-ขวา แตะเพดาน หรือใส่อุปกรณ์เข้าไป เพื่อให้ผู้ป่วยขยับลิ้นไปแตะ หรือมีอุปกรณ์เป่า
ทั้งหมดจะช่วยเพิ่มความตึงตัวของกล้ามเนื้อได้ โดยทั่วไปต้องอยู่ภายใต้การแนะนำ ดูแล และติดตามของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เช่น แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูหรือนักกายภาพบำบัด เพื่อให้สามารถออกกำลังกายได้อย่างถูกต้องเหมาะสม จึงจะช่วยทำให้ตัวกล้ามเนื้อช่องคอแข็งแรงได้อย่างเหมาะสมจริง ๆ ในทางการแพทย์
👉 การออกกำลังกายโคนลิ้น ช่วยแก้อาการนอนกรนได้ไหม ?
จากการศึกษาพบว่าการออกกำลังกายโคนลิ้นอย่างถูกต้องและเหมาะสม สามารถช่วยลดการกรน เพิ่มคุณภาพการนอนในผู้ป่วยโรคหยุดหายใจขณะหลับได้ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย
ถ้ามีปัญหาเรื่องนอนกรน ประเมินความรุนแรงก่อนและวางแผนให้เหมาะสมน่าจะดีที่สุด เพราะถ้าผู้ป่วยมีลักษณะที่เหมาะสม สามารถรักษาได้ด้วยการออกกำลังกายโคนลิ้นร่วมด้วย และฝึกฝนให้ถูกต้องภายใต้การดูแลของแพทย์
👉 ท่าออกกำลังกายในคลิปที่มีการแชร์กัน ช่วยได้มั้ย ?
จากคลิปวิดีโอ การแลบลิ้น อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่มีการขยับ คล้าย ๆ กับบางท่าในการออกกำลังกายโคนลิ้น อย่างไรก็ตาม บางส่วนจากท่าทางในวิดีโอ เช่น การเหลือบตาขึ้น อาจจะไม่ได้ประโยชน์ที่แน่ชัดมากนัก
สำหรับคนที่ต้องการออกกำลังกายตามคลิปวิดีโอ ควรหาท่าออกกกำลังกายโคนลิ้นและฝึกตามท่าทางให้ถูกต้องจะดีกว่า เพราะโรคนอนกรนและหยุดหายใจขณะหลับ แต่ละคนมีความรุนแรงต่างกัน กรณีผู้ป่วยนอนกรนอย่างเดียวและความรุนแรงไม่มาก โอกาสที่การนอนกรนและหยุดหายใจขณะหลับมีแนวโน้มดีขึ้น ถ้าเทียบกับไม่ทำอะไรเลย
อย่างไรก็ตาม ถ้าการนอนกรนและหยุดหายใจขณะหลับมีความรุนแรงค่อนข้างมาก หรือผู้ป่วยมีปัจจัยบางอย่าง เช่น โรคประจำตัวหรือง่วงกลางวันค่อนข้างมาก ก็จะแนะนำให้ประเมินและวางแผนการรักษาให้เหมาะสมกับตัวโรคของผู้ป่วยมากกว่า เพราะผู้ป่วยทุกคนไม่ได้เหมาะกับการรักษาวิธีนี้เพียงอย่างเดียว อาจจะต้องร่วมกับการรักษารูปแบบอื่น ๆ ด้วย
โดยภาพรวมแล้ว คลิปวิดีโอท่าสิงโตยังมีส่วนที่ไม่ถูกต้อง จึงไม่แนะนำให้แชร์ต่อ
การปฏิบัติอย่างถูกวิธี ช่วยแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ตรวจสอบโดย : พีรพล อนุตรโสตถิ์
เรียบเรียงโดย : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
สามารถรับชมคลิปรายการ ชัวร์ก่อนแชร์ : บริหารใบหน้าด้วย “ท่าสิงโต” แก้นอนกรนได้ จริงหรือ ?
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter