04 พฤษภาคม 2566
แปลและเรียบเรียงบทความ : อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
บทสรุป :
- หน้ากากอนามัยทั่วไปออกแบบเพื่อป้องกันเชื้อโรคที่มีขนาดใหญ่กว่าฝุ่น PM2.5 จึงไม่มีประสิทธิภาพด้านการป้องกันมลพิษทางอากาศเท่าที่ควร
- ควรเลือกหน้ากากที่ออกแบบเพื่อป้องกันมลพิษทางอากาศ เช่น N95 และ N99
FACT CHECK : ตรวจสอบข้อเท็จจริง :
หน้ากากอนามัยที่ใช้ป้องกันการแพร่เชื้อและติดเชื้อโรคระบบทางเดินหายใจ ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอสำหรับป้องกันมลพิษทางอากาศ เนื่องจากช่องว่างในหน้ากากอนามัยมีขนาดประมาณ 5-10 ไมครอน ขณะที่ละอองฝุ่น PM2.5 มีขนาดเพียง 2.5 ไมครอน จึงสามารถลอดผ่านเส้นใยของหน้ากากอนามัยได้
งานวิจัยในสาธารณรัฐประชาชนที่เผยแพร่ผ่านทางวารสาร British Medical Journal เมื่อปี 2018 พบว่า การสวมใส่หน้ากากอนามัยทั่ว ๆ ไปทำให้ผู้สวมใส่สัมผัสมลพิษทางอากาศถึง 68%
หน้ากากที่แนะนำสำหรับป้องกันมลพิษทางอากาศได้แก่ หน้ากาก N95 ที่สามารถป้องกันการสัมผัสมลพิษทางอากาศได้ถึง 95% และหน้ากาก N99 ที่ป้องกันการสัมผัสมลพิษทางอากาศได้ถึง 99%
อย่างไรก็ดี ในประเทศจีนมีการนำหน้ากากที่อ้างว่าสามารถป้องกันฝุ่น PM2.5 มาทำการทดสอบกับอาสาสมัคร พบว่าหน้ากากหลายยี่ห้อไม่สามารถป้องกันฝุ่น PM2.5 ได้อย่างมีประสิทธิภาพตามที่กล่าวอ้าง เนื่องจากหน้ากากไม่ได้ถูกออกแบบมาให้เข้ากับใบหน้าของผู้ใช้ส่วนใหญ่
รศ.ดร.พานิช อินต๊ะ หัวหน้าหน่วยวิจัยสนามไฟฟ้าประยุกต์ในงานวิศวกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ให้ความเห็นต่อทางชัวร์ก่อนแชร์ว่า การเลือกหน้ากากเพื่อป้องกันฝุ่น PM2.5 อย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องเลือกหน้ากากที่เข้ากับรูปหน้าของตัวเอง เช่น บางรายเหมาะกับหน้ากาก N95 ทรงถ้วย (Cup-Shaped) บางรายเหมาะกับหน้ากาก N95 ทรงปลา (Fish-Shaped) หรือแบบ KF94 หรือ KN95 ผู้ใช้ควรเลือกทรงของหน้ากากให้เข้ากับรูปหน้าของตัวเอง
สามารถตรวจสอบด้วยการเป่าลมแรง ๆ ระหว่างสวมหน้ากาก หากมีลมออกจากหน้ากากบริเวณข้างแก้มและข้างจมูกมาก ๆ แสดงว่าหน้ากากชนิดที่สวมใส่ไม่เข้ากับรูปหน้า
นอกจากนี้ หน้ากากที่เหมาะสำหรับป้องกันฝุ่น PM2.5 มีการตรวจสอบมาตรฐานปริมาณการรั่วเข้าของอากาศภายนอก (Total Inward Leakage หรือ TIL) โดยหน้ากาก N95 ต้องมีค่า TIL ไม่เกิน 1% ส่วนหน้ากาก KF94 และ KN95 ต้องมีค่า TIL ไม่เกิน 8% ต่างจากหน้ากากอนามัยทั่วไปที่ไม่มีการทดสอบค่า TIL
นอกจากนี้ รศ.ดร.พานิช อินต๊ะ ยังย้ำว่า ควรเลือกหน้ากากที่มีค่าความแตกต่างของความดันอากาศ (Pressure Drop) ต่ำ ๆ เพราะแม้หน้ากากที่ป้องกันฝุ่นได้ดี หากมีค่า Pressure Drop สูง จะปิดกั้นการถ่ายเทอากาศในหน้ากากอย่างมาก ทั้งการหายใจเข้าและหายใจออก ทำให้ผู้ใช้หายใจลำบากเมื่อสวมใส่เป็นเวลานาน ผู้ใช้จึงควรพิจารณาหน้ากากที่มีค่า TIL ต่ำและมีค่า Pressure Drop ต่ำ เพื่อการสวมใส่หน้ากากได้อย่างมีประสิทธิภาพและไม่อึดอัดเกินไป
ข้อมูลอ้างอิง :
https://weather.com/en-IN/india/pollution/news/2019-10-18-7-myths-air-pollution-debunked-delhi-deaths-exaggeration
https://oem.bmj.com/content/75/6/446
https://www.youtube.com/watch?v=9TlDdr1bfiw
ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ ฝุ่น PM2.5 ในไทย และต่างประเทศ
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter