ระวัง ! SMS “ทิพยประกันภัย” ปลอม อ้างมอบสิทธิพิเศษ หวังดูดเงิน | ชัวร์ก่อนแชร์ CyberAlert!🚨

วิธีหลอก : แอบอ้างเป็นพนักงานของบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน)
อุบาย : ส่งข้อความสั้น (SMS) อ้างว่า มอบสิทธิพิเศษมูลค่าสูงตามแต่ละโอกาสสำคัญ  พร้อมแนบลิงก์เพิ่มเพื่อนกับบัญชีไลน์ปลอม เมื่อเหยื่อเข้าไปติดต่อสอบถาม จะทำการขอข้อมูลส่วนตัว จากนั้นหลอกให้เหยื่อติดตั้งแอปพลิเคชันที่เป็นไฟล์อันตราย เพื่อควบคุมอุปกรณ์ และสวมรอยทำธุรกรรมโอนเงินออกจากบัญชีของเหยื่อในที่สุด
ช่องทาง : ข้อความสั้น (SMS), แอปพลิเคชัน LINE

ตำรวจไซเบอร์เตือนภัย มิจฉาชีพแอบอ้างเป็นพนักงานของทิพยประกันภัย ส่ง SMS พร้อมแนบลิงก์เพิ่มเพื่อนบัญชีไลน์ปลอม หลอกขอข้อมูลส่วนตัว และให้ติดตั้งแอปพลิเคชัน หวังดักรหัสผ่านไปทำธุรกรรม เป็นเหตุให้สูญเงิน ด้านทิพยประกันภัย ย้ำ ! ไม่มีช่องทางการติดต่อดังกล่าว และการมอบสิทธิพิเศษในลักษณะนี้

กรุงเทพฯ 25 เม.ย. 66 – พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษกกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) หรือ ตำรวจไซเบอร์ ออกประชาสัมพันธ์เตือนภัย กรณีมิจฉาชีพส่ง SMS หลอกลวงให้ติดตั้งแอปพลิเคชัน ผ่านทางบัญชีไลน์ปลอม และลิงก์ไฟล์อันตราย หวังดักรหัสผ่านแอปพลิเคชันธนาคารไปสวมรอยทำธุรกรรมโอนเงินออกจากบัญชีของเหยื่อ

แอบอ้างชื่อ-สิทธิพิเศษ อยากรับสิทธิ์ต้องแอดไลน์
มิจฉาชีพจะอ้างตนเป็นพนักงานจากบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด โดยเข้าหาเหยื่อผ่านวิธีการส่งข้อความสั้น (SMS) ที่มีเนื้อความกล่าวอ้างถึงชื่อบริษัท การมอบสิทธิพิเศษมูลค่าสูงตามแต่ละโอกาสสำคัญ และลิงก์เพิ่มเพื่อนทางแอปพลิเคชันไลน์ที่ใช้ติดต่อ เพื่อรับสิทธิ์นั้น ๆ เช่น “สวัสดีค่ะ บริษัททิพย์ประกันภัย ยินดีให้บริการค่ะ ติดต่อสอบถาม ยืนยันรับสิทธิ์เงินปันผลจำนวน 2,000 บาท หรือบริการด้านต่าง ๆ เกี่ยวกับประกันสามารถแจ้งได้เลยค่ะ” หรือ “เรียนลูกค้า สงกรานต์สุขใจ ห่วงใยทุกการเดินทางจากทิพยประกันภัย ขอมอบบัตรเติมน้ำมัน มูลค่า 3,000 บาท ยืนยันรับสิทธิ์ .. http://bit.ly/3zKr3gg” ซึ่งบัญชีไลน์ดังกล่าว แม้จะมีการใช้ชื่อ ภาพ Profile และภาพปกจากบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด แต่กลับเป็นบัญชีปลอมที่ทางมิจฉาชีพสร้างขึ้น เพื่อก่อให้เกิดความเข้าใจผิด โดยอาศัยความน่าเชื่อถือขององค์กร ประกอบกับความไม่รู้ของประชาชน

ลวงว่าต้องโหลดแอปฯ ที่แท้จะดักเอารหัสผ่าน
เมื่อเหยื่อกดเพิ่มเพื่อนผ่านทางบัญชีไลน์ เพื่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม จะถือเป็นการเปิดทางให้มิจฉาชีพได้สอบถามข้อมูลสำคัญบางส่วนไป ไม่ว่าจะเป็น ชื่อ นามสกุล หรือเบอร์โทรศัพท์มือถือที่ใช้ในการติดต่อกลับก็ตาม สำหรับการให้ข้อมูลสำคัญในลักษณะนี้ มีความเสี่ยงสูงที่ทางมิจฉาชีพจะนำข้อมูลสำคัญไปใช้ต่อในการสร้างความเสียหายได้ ซึ่งภายหลังจะมีเบอร์โทรศัพท์มือถือที่ไม่รู้จักติดต่อมายังเหยื่อ เริ่มบทสนทนาด้วยการกล่าวอ้างว่าเป็นพนักงาน และอธิบายขั้นตอนในการรับสิทธิ์ตามลำดับ พร้อมทั้งส่งลิงก์ติดตั้งแอปพลิเคชัน (http://dhipoya.co-th.cc) ไปยังห้องสนทนาก่อนหน้านี้ด้วย โดยลวงว่าต้องขอสิทธิ์ผ่านช่องทางนี้เท่านั้น

เมื่อเหยื่อกดลิงก์ดังกล่าว จะพบการขอสิทธิ์ติดตั้งแอปพลิเคชันที่ไม่รู้จัก ในบางอุปกรณ์อาจขึ้นแจ้งเตือนว่า “เป็นไฟล์ หรือซอฟต์แวร์ที่อาจเป็นอันตราย (ไฟล์นามสกุล .apk)” ภายในแอปพลิเคชัน เหยื่อต้องตั้งรหัสผ่าน 6 หลักจำนวนหลายครั้ง รวมถึงให้สิทธิ์ในการควบคุมอุปกรณ์ด้วย ขั้นตอนนี้ เป็นกับดักที่มิจฉาชีพ อาจได้รหัสผ่านในการทำธุรกรรมทางการเงินบนแอปพลิเคชันธนาคารไป จนในท้ายที่สุด มิจฉาชีพจะทำให้อุปกรณ์เสมือนว่ามีอาการค้าง และแสดงข้อความอย่าง “อยู่ระหว่างดำเนินการตรวจสอบ” หรือ “ห้ามใช้งานโทรศัพท์มือถือ” แน่นอนว่า ระหว่างนั้นมิจฉาชีพจะสามารถนำรหัสผ่านที่เหยื่อกรอกไว้ ไปทำการโอนเงินออกจากบัญชีของเหยื่อ

ทิพยประกันภัย ย้ำ ! ไม่มีช่องทางการติดต่อ และการมอบสิทธิพิเศษในลักษณะนี้
บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด ได้ประกาศแจ้งเตือนว่า ข้อความสั้น (SMS) ที่มีการแนบลิงก์ รวมถึงลิงก์ขอสิทธิ์ติดตั้งแอปพลิเคชันอันตรายดังกล่าว ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับบริษัทฯ แต่อย่างใด เนื่องจากช่องทางการติดต่อกับทางบริษัท ณ ปัจจุบัน มีเพียง 3 ช่องทางเท่านั้น คือ เว็บไซต์ทางการ  (https://www.dhipaya.co.th), แอปพลิเคชัน TIP Insure และคอลเซ็นเตอร์ โทร.1736 ดังนั้น หากได้รับข้อความสั้น (SMS) หรือลิงก์ลักษณะนี้ อย่าหลงเชื่อเป็นอันขาด อีกทั้งควรแจ้งเตือนไปยังบุคคลใกล้ชิด หน่วยงานภาครัฐ หรือหน่วยงานที่ถูกแอบอ้าง ให้ช่วยตรวจสอบทันที โดยแนวทางการป้องกัน ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ มีดังนี้
1. ไม่กดลิงก์ที่เเนบมากับข้อความสั้น (SMS) หรือที่ส่งมาทางสื่อสังคมออนไลน์ อีกทั้งไม่กดลิงก์ติดตั้งแอปพลิเคชันต่าง ๆ เพราะอาจเป็นการดักรับข้อมูล หรือการฝังมัลแวร์ของมิจฉาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มาพร้อมกับข้อความในลักษณะการให้สิทธิพิเศษ ให้รางวัล หรือโปรโมชัน
2. หากได้รับโทรศัพท์จากเบอร์ที่ไม่คุ้นเคย และมีการแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่าง ๆ ให้ขอชื่อ นามสกุล และเบอร์โทรศัพท์มือถือ สำหรับติดต่อกลับของเจ้าหน้าที่ โดยแจ้งว่าจะติดต่อกลับไปภายหลัง
3. ตรวจสอบก่อนว่า มาจากหน่วยงานนั้น ๆ จริงหรือไม่ โดยการโทรศัพท์ไปสอบถามผ่านเบอร์คอลเซ็นเตอร์ หรือผ่านเว็บไซต์ทางการของหน่วยงานนั้นโดยตรง รวมถึงตรวจสอบว่า มีการประกาศแจ้งเตือนการหลอกลวงในลักษณะดังกล่าวหรือไม่
4. ระวัง LINE Official Account ปลอม โดยสังเกตบัญชีที่ผ่านการรับรองจะมีสัญลักษณ์โล่สีเขียว หรือสีน้ำเงิน หากเป็นโล่สีเทา หรือไม่มีโล่เลย จะเป็นบัญชีทั่วไปที่ยังไม่ได้ผ่านการรับรอง ต้องตรวจสอบยืนยันให้ดีเสียก่อน
5. ไม่ติดตั้งโปรแกรม หรือแอปพลิเคชันที่ผู้อื่นส่งมาให้โดยเด็ดขาด แม้จะเป็นชื่อที่รู้จักก็ตาม เพราะอาจเป็นแอปพลิเคชันปลอม โดยหากต้องการใช้งานให้ทำการติดตั้งผ่าน App Store หรือ Play Store เท่านั้น
6. ไม่อนุญาตให้ติดตั้งแอปพลิเคชันที่ไม่รู้จัก ไฟล์ที่อาจเป็นอันตราย (ไฟล์นามสกุล .apk) หรือซอฟต์แวร์ที่เป็นอันตราย
7. ไม่อนุญาตให้เข้าถึงอุปกรณ์ ควบคุมอุปกรณ์ หรือโทรศัพท์มือถือโดยเด็ดขาด
8. ไม่กรอกข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลทางการเงินใด ๆ ลงในลิงก์ หรือแอปพลิเคชันในลักษณะดังกล่าวเด็ดขาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งรหัสผ่าน 6 หลัก ที่ซ้ำกับรหัสผ่านแอปพลิเคชันของธนาคาร
9. หากท่านติดตั้งแอปพลิเคชันปลอมแล้ว ให้รีบทำการ Force Reset หรือการบังคับให้อุปกรณ์นั้น Restart (ส่วนใหญ่เป็นการกดปุ่ม Power พร้อมปุ่มปรับเสียงค้างไว้) ส่วนกรณีเกิดอาการค้าง ไม่ตอบสนอง ควรตัดสัญญาณ ไม่ให้โทรศัพท์มือถือสามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้ ซึ่งทำได้หลากหลายวิธี เช่น เปิดโหมดเครื่องบิน (Airplane Mode), ปิดเครื่อง, ถอดซิมการ์ดออก หรือปิด Wi-fi Router
10. อัปเดตระบบปฏิบัติการของโทรศัพท์มือถือ หรืออุปกรณ์ให้เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ

ทีมข่าวไซเบอร์ ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์
ผู้สื่อข่าว : สุวัชรียา จันทร์บัว
พิสูจน์อักษร : จิรัชยา นวลนิ่มน้อย


ดูข่าวเพิ่มเติม

หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare

สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter

หมายเหตุ : โฆษณาที่ปรากฏอยู่บนหน้าเว็บไซต์นี้ แสดงผลโดยอัตโนมัติจากบริษัทผู้ให้บริการโฆษณา ไม่ใช่การสนับสนุนหรือส่งเสริมจากศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์แต่อย่างใด

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

มุกใหม่มิจฉาชีพ

มุกใหม่มิจฉาชีพ! ป่วนโทรแจ้ง ตร. เกิดเหตุร้ายที่บ้านเหยื่อ

อินฟลูฯ สาว สายทำอาหาร ถูกมิจฉาชีพอ้างเป็นตำรวจโทรหา แต่เธอไม่เชื่อ โดนท้าอีก 10 นาทีเจอกัน ปรากฏว่า มีตำรวจจาก 2 โรงพักบุกมาที่บ้านจริง

“วราวุธ” ระบุการแข่งขัน อบจ.-สุพรรณบุรี ไม่มีปัญหา

“วราวุธ” ระบุการแข่งขัน อบจ.-สุพรรณบุรี ไม่มีปัญหา บอกสนามใหญ่ ไม่เข้าไปก้าวก่ายสนามท้องถิ่น ซ้ายก็เพื่อน ขวาก็พวก

ครม.เคาะแจกเงินหมื่นเฟส 2 ผู้สูงอายุ 60 ปี

“จุลพันธ์” เผย ครม.เห็นชอบโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกลุ่มผู้สูงอายุ วงเงิน 4 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะดำเนินการทันก่อน 29 ม.ค.68 รวม 3 มาตรการ สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบ 1.4-1.5 แสนล้านบาท

ข่าวแนะนำ

ข่าวแห่งปี 2567 : รวมฉ้อโกง “ดารา-คนดัง” ไม่รอด

ตลอดปี 2567 ยังมีผู้คนตกเป็นเหยื่อของกลโกง มิจฉาชีพ ที่มาในรูปแบบต่างๆ รวมถึงการลงทุนรูปแบบใหม่ๆ บางคนถึงขั้นสิ้นเนื้อประดาตัว และที่น่าตกใจเริ่มมีคนดังเข้ามาเกี่ยวข้องกับคดีมากขึ้น

หมอชิต 2 คึกคัก ประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนาฉลองปีใหม่

บรรยากาศการเดินทางหมอชิต 2 คึกคัก ประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนาและท่องเที่ยวในช่วงหยุดยาวปีใหม่ ด้าน รฟท. คาดผู้โดยสารเดินทางขาออกวันนี้ 1 แสนคน

รถเริ่มแน่น! สายเหนือ-อีสาน การจราจรชะลอตัว

ประชาชนทยอยเดินทางกลับภูมิลำเนา หยุดยาวปีใหม่ ถ.พหลโยธิน มุ่งหน้าสายอีสาน รถแน่น ส่วนถนนสายเอเชีย ขึ้นเหนือ รถเคลื่อนตัวได้ช้า