วิธีหลอก : สร้างคลิปวิดีโอโฆษณาชวนเชื่อ เกี่ยวกับการรับสมัครผู้ทดสอบการนอนโรงแรม
อุบาย : ให้ทดลองงานออนไลน์ และให้ค่าตอบแทนจริง แต่หลังจากนั้นจะหลอกให้เข้ากลุ่มผ่านแอปพลิเคชัน Telegram เพื่อทำภารกิจเสริม โดยต้องโอนเงินร่วมลงทุนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนท้ายที่สุดจะอ้างเหตุผลที่ไม่สามารถถอนเงินดังกล่าวกลับมาได้
ช่องทาง : เผยแพร่โฆษณาทางแอปพลิเคชัน Facebook, TikTok หรือ Instagram ส่วนการหลอกลวงให้เสียเงินจะเกิดขึ้นทางแอปพลิเคชัน LINE และ Telegram
ตำรวจไซเบอร์เตือนภัย มิจฉาชีพสร้างโฆษณารับสมัครผู้ทดสอบการนอนโรงแรม หลอกแอดไลน์ อ้างเรื่องทดลองงาน ก่อนต้มซ้ำให้เข้ากลุ่ม Telagram ไปทำภารกิจเสริม พาสูญเงิน ด้านโฆษกแนะให้ระมัดระวังการหารายได้ในลักษณะนี้ พร้อมแนบ “แนวทางการป้องกันการถูกหลอกลวงหารายได้จากการทำกิจกรรมผ่านสื่อสังคมออนไลน์“
กรุงเทพฯ 20 เม.ย. 66 – พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษกกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) หรือ ตำรวจไซเบอร์ ออกประชาสัมพันธ์เตือนภัย กรณีมิจฉาชีพสร้างคลิปวิดีโอโฆษณาชวนเชื่อ หลอกลวงให้เหยื่อทดลองงานในฐานะผู้ทดสอบการนอนโรงแรม นอกจากนี้ยังใช้อุบายกลุ่มภารกิจเสริมบนแอปพลิเคชันอื่น ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว คือ กลุ่มอันตราย หลอกให้โอนเงินลงทุน โดยท้ายที่สุดเหยื่อจะไม่สามารถถอนเงินดังกล่าวกลับมาได้ สร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง
สร้างโฆษณาชวนเชื่อ อ้างเป็นงานสบาย ล่อลวงเหยื่อให้ติดกับดัก
บช.สอท. พบผลจากการตรวจสอบในระบบการรับแจ้งความออนไลน์ว่า ก่อนหน้านี้ได้รับแจ้งร้องทุกข์เกี่ยวกับการหลอกลวงให้ทำงาน หรือทำภารกิจออนไลน์ เพื่อหารายได้ผ่านคลิปวิดีโอโฆษณาตามช่องทางสื่อสังคมออนไลน์เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น Facebook, TikTok หรือ Instagram ก็ตาม โดยเป็นงานในตำแหน่งผู้ทดสอบการนอนโรงแรม ซึ่งได้รับแจ้งร้องทุกข์มาเป็นอันดับต้น ๆ เนื่องจากคำกล่าวอ้างบนโฆษณาชวนเชื่ออย่าง “แค่นอนก็ได้เงิน” หรือ “เป็นงานสบายที่ได้ผลตอบแทนสูงกว่า 30,000 บาทต่อเดือน รวมถึงได้รับสวัสดิการ ค่าเดินทาง ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ฟรี” ย่อมดึงดูดให้ประชาชนที่อาจไม่เท่าทันกลโกง และต้องการหารายได้ทางออนไลน์อยู่แล้ว หลงเชื่อจนติดต่อเข้าไปขอรายละเอียดเพิ่มเติมทางแอปพลิเคชันไลน์
การติดต่อดังกล่าว เป็นจุดเริ่มต้นของอุบายแรก โดยแอดมินปลอมจะกล่าวอ้างถึงรายละเอียดงาน และสวัสดิการทั้งหมด แต่จะมุ่งเน้นไปยังการทดลองงานออนไลน์มากที่สุด ทางผู้สมัครจะต้องส่งข้อมูลส่วนตัว เช่น ชื่อนามสกุล อายุ เพศ อาชีพ หมายเลขโทรศัพท์มือถือ และที่อยู่ ประกอบกับหลักฐานการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับโรงแรมต่าง ๆ ซึ่งผู้สมัครไม่จำเป็นจะต้องไปทดสอบนอนโรงแรม ณ สถานที่จริงแต่อย่างใด เพียงแสดงความสามารถเบื้องต้นผ่านการกดให้ดาว และเขียนแสดงความคิดเห็นในทางที่ดี จำนวน 50 คำขึ้นไปบนระบบ Google Map เพื่อนำมาประเมินว่า ผู้สมัครมีความสามารถเพียงพอหรือไม่ ควรได้รับการว่าจ้างให้ทดสอบการนอนในสถานที่จริงหรือไม่ เป็นเวลา 7 วัน หากผู้สมัครทำตามขั้นตอนข้างต้นแล้วก็จะได้รับค่าตอบแทนจริง เป็นจำนวนเงิน 50-80 บาทต่องาน ซึ่งการกระทำเช่นนี้ สร้างความเข้าใจผิดให้กับเหยื่อว่า องค์กรเบื้องหลังมีความน่าเชื่อถือ สามารถไว้วางใจที่จะทำงานต่อไปได้
ต้มซ้ำให้เข้ากลุ่ม Telagram ไปทำภารกิจเสริม พาสูญเงิน
หลังจากนั้นแอดมินปลอมจะเริ่มอุบายถัดไป คือ แจ้งให้เข้าร่วมกลุ่มในแอปพลิเคชัน Telegram เพราะมีงานภารกิจเสริมให้ทำ แต่เมื่อเหยื่อเข้าร่วมกลุ่มดังกล่าว กลับถูกแอดมินปลอมหลอกลวงให้โอนเงิน เพื่อลงทุนเทรดหุ้นจากคำกล่าวอ้างที่ว่า “จะได้รับกำไรมากกว่านี้” โดยการโอนเงินร่วมลงทุนในครั้งแรก จะเป็นเพียงเงินจำนวนไม่มากและได้รับกำไรคืนมาจริง แต่ในครั้งถัดไปจะหลอกลวงให้เพิ่มจำนวนเงินมากขึ้นเรื่อย ๆ จนท้ายที่สุดจะอ้างเหตุผลที่ไม่สามารถถอนเงินดังกล่าวกลับมาได้
โฆษก บช.สอท. แนะให้ประชาชนระมัดระวังการหารายได้ในลักษณะนี้
ด้านโฆษก บช.สอท. กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า นอกจากการหลอกลวงในลักษณะนี้แล้ว ยังพบว่ามีการหลอกลวงในลักษณะอื่น ๆ ที่คล้ายกันอีกตามแต่ที่มิจฉาชีพออกอุบาย โดยอาศัยการสร้างโฆษณา ประกาศเชิญชวนผ่านสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ ในบางกรณีอาจส่งข้อความสั้น (SMS) ไปยังเหยื่อโดยตรง เพื่อให้กดลิงก์เข้ากลุ่มทำงานปลอม จนกระทั่งถูกหลอกลวงไปตามลำดับ ดังนั้นการทำกิจกรรม หรือธุรกรรมใด ๆ บนโลกออนไลน์ต้องมีสติ ระมัดระวัง และรู้เท่าทันกลโกงของมิจฉาชีพ สำหรับแนวทางการป้องกันการถูกหลอกลวงหารายได้จากการทำกิจกรรมผ่านสื่อสังคมออนไลน์ มีดังนี้
1. เมื่อพบคำเชิญชวนให้ทำงานออนไลน์ผ่านทางข้อความสั้น (SMS) หรือประกาศโฆษณาผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เช่น Facebook, Instagram และ Tiktok อย่าเข้าไปติดต่อสมัครทำงานเป็นอันขาด มักจะมีการแอบอ้างสัญลักษณ์ของหน่วยงาน หรือบริษัทที่เกี่ยวข้องมาเพิ่มความน่าเชื่อถือ
2. หลีกเลี่ยงข้อเสนอที่ฟังดูดี หรือมีผลตอบแทนสูง ทำง่าย มีขั้นตอนไม่ซับซ้อน
3. หากต้องการจะทำงานจริง ๆ ให้ปรึกษาสายด่วนของตำรวจไซเบอร์ที่หมายเลข 1441 หรือ 08-1866-3000 เพื่อปรึกษา สอบถามว่า งานดังกล่าวเข้าข่ายหลอกลวงเป็นมิจฉาชีพหรือไม่
4. หากพบว่ามีการให้โอนเงินมัดจำ เงินลงทุน หรือสำรองเงินใด ๆ ก่อน สันนิษฐานได้ทันทีว่ากำลังโดนมิจฉาชีพหลอกลวง อย่าโอนเงินไปเด็ดขาด
5. ไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลทางการเงินใด ๆ มิจฉาชีพมักจะให้เหยื่อส่งหลักฐาน ข้อมูลส่วนตัว อ้างว่าใช้ในการสมัครงาน เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ
6. ระมัดระวังการโอนผ่านบัญชีของบุคคลธรรมดา ควรตรวจสอบหมายเลขบัญชีธนาคาร หรือชื่อนามสกุลเจ้าของบัญชี ก่อนโอนเงินทุกครั้งว่า มีประวัติไม่ดีหรือไม่ ผ่าน https://www.blacklistseller.com หรือ https://www.chaladohn.com เป็นต้น
7. ช่วยกันตรวจสอบ สอดส่องบุตรหลาน บุคคลใกล้ชิดว่า มีพฤติกรรมทางการเงินผิดปกติหรือไม่ เพื่อจะได้สามารถให้คำปรึกษา ยับยั้งความเสียหายที่จะเกิดขึ้นได้ทันท่วงที
ทีมข่าวไซเบอร์ ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์
ผู้สื่อข่าว : สุวัชรียา จันทร์บัว
พิสูจน์อักษร : จิรัชยา นวลนิ่มน้อย
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter