12 เม.ย. 66
หากพูดถึงปัญหาร้อนแรงที่เยาวชนกำลังประสบปัญหามากกว่า 1.4 ล้านคน และยังคงเพิ่มจำนวนอย่างต่อเนื่อง คงจะหนีไม่พ้น เรื่อง เยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษา การทำงาน หรือการฝึกอบรม ซึ่งสามารถเรียกกลุ่มคนเหล่านี้ ได้ว่า “NEET”
ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดกลุ่มเยาวชน NEET
ข้อมูลจาก “งานวิจัยเชิงลึกเกี่ยวกับเยาวชนที่ไม่ได้อยู่ในการทำงาน การศึกษา หรือการฝึกอบรม (Youth Not in Employment, Education, or Training: NEET) ในประเทศไทย” จัดทำโดย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสนับสนุนโดยองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ระบุว่า เยาวชนไทย NEET มีอายุเฉลี่ยระหว่าง 15-24 ปี ประมาณ 1.4 ล้านคน เป็นร้อยละ 15 ของเยาวชนทั้งหมด ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้มีความหลากหลาย ประกอบไปด้วย นักเรียนที่ออกจากระบบการศึกษาก่อนกําหนด เยาวชนว่างงานที่กําลังหางานทํา และไม่มีส่วนร่วมใด ๆ หรือเยาวชนที่รู้สึกท้อแท้ รวมถึงผู้ที่อยู่นอกเหนือตลาดแรงงาน ไม่ว่าจะเป็น ผู้ที่ต้องดูแลครอบครัว คุณแม่วัยใสเยาวชนผู้พิการ และปัจจัยเสี่ยงที่ทําให้เยาวชนกลายเป็น NEET เช่น เพศ การศึกษา และการขาดทักษะที่เหมาะสม สภาพเศรษฐกิจ สังคม การย้ายถิ่นฐาน ภูมิหลังทางชาติพันธุ์ สถานการณ์ด้านสุขภาพ สภาพแวดล้อมในครอบครัว และที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ เป็นต้น
ปัญหา NEET เป็นหนึ่งในความท้าทาย ที่หลายภาคส่วนต้องให้ความสำคัญ
ดร.ปฎิมา จงเจริญธนาวัฒน์ ผู้อำนวยการกองศึกษาและวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ยืนยันว่า ปัญหา NEET มีความสำคัญ ที่ทั้งหน่วยงานภาครัฐ และภาคส่วนอื่น ๆ ต้องสนับสนุนให้เร่งแก้ไข และช่วยเหลือเป็นอย่างยิ่ง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ตั้งเป้าไว้ว่า สิ้นปี 2570 จะต้องทำให้สัดส่วนของ NEET ลดลง จากร้อยละ 15 เหลือร้อยละ 5 ให้ได้ ซึ่งเป็นความท้าทายอย่างมาก สำหรับการแก้ไขปัญหา NEET ภายใน 5 ปี
อย่างไรก็ตาม กระทรวงแรงงาน ยอมรับว่า ยังไม่ได้กำหนดแนวทางพัฒนาสำหรับเยาวชนกลุ่ม NEET โดยเฉพาะ นางสาวนภสร ทุ่งสุกใส ที่ปรึกษาวิชาการแรงงานกระทรวงแรงงานชี้แจงเหตุผลว่า ขณะนี้กลุ่ม NEET รวมอยู่กับกลุ่มเปราะบาง แรงงานกลุ่มเฉพาะ แรงงานนอกระบบ และผู้สูงอายุ จึงยังไม่ได้เจาะลึกลงไปที่กลุ่ม NEET อย่างชัดเจน จึงทำให้ไม่ทราบว่า เยาวชนที่เป็น NEET คือใคร แล้วกระทรวงแรงงานจะนำเยาวชนที่เป็น NEET เข้าสู่การพัฒนาทักษะ และเข้าสู่ตลาดแรงงานได้อย่างไร ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งความท้าทายของกระทรวงแรงงานเช่นกัน
ปัจจัยหนึ่งที่กลุ่ม NEET ยังขาด คือ ระบบการศึกษาที่ยังไม่ครอบคลุม
หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่กลุ่ม NEET ยังขาดอยู่ คือ การศึกษา แต่แม้ประเทศไทยจะดำเนินนโยบายเรียนฟรี 15 ปีมาระยะหนึ่งแล้ว แต่การศึกษาก็ยังไม่ครอบคลุมถึงเด็กทุกคน ซึ่งนางสาวโอ๋ ผู้แทนคณะกรรมการที่ปรึกษาเยาวชนองค์การยูนิเซฟประเทศไทย อธิบายว่า นโยบายเรียนฟรี 15 ปี ยังไม่สามารถตอบสนองปัจจัยสำคัญได้เพียงพอ เพราะยังมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น การเดินทางไปโรงเรียน หรือค่าขนมในแต่ละวัน จึงเป็นหลายข้อจำกัด ที่ทำให้เด็กไม่สามารถเข้าสู่ระบบการศึกษาได้
“ท้ายที่สุดแล้ว รากฐานการเข้าสู่ตลาดแรงงาน ก็ยังวนเวียนในเรื่องของการศึกษา ดังนั้น การผลักดันให้เด็กเข้าสู่ระบบการศึกษาให้ได้มากที่สุดจึงเป็นสิ่งที่สำคัญต่อการแก้ปัญหานี้” นางสาวโอ๋กล่าว
ไม่เพียงเท่านี้หลายคนอาจยังเข้าใจว่ากลุ่มเยาวชน NEET เกิดจากปัญหาทางการเงินเพียงอย่างเดียว แต่จริงๆ แล้ว อาจมาจากหลายสาเหตุ เช่น ความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษาที่ยังไม่ครอบคลุมถึงเด็กทุกคน
การมีทักษะที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ดังนั้น ระบบการศึกษาเป็นอีกปัจจัยที่สำคัญที่ควรเน้นย้ำ การเรียนการสอนควบคู่กับการฝึกอบรมทักษะอาชีพ รวมถึงความรู้ด้านดิจิทัลเพื่อเยาวชนจะสามารถนำความรู้ ทักษะต่าง ๆ ไปประกอบอาชีพและก่อให้เกิดประโยชน์ต่อตัวเองและสังคมได้
ทีมข่าวรู้เท่าทัน ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์
ผู้สื่อข่าว : มัญชุกาญจน์ นาคเถื่อน
พิสูจน์อักษร : จิรัชยา นวลนิ่มน้อย
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter