วิธีหลอก : ส่ง SMS ปลอมให้ลงทะเบียนรับสิทธิโครงการเราเที่ยวด้วยกันเฟส 5
อุบาย : แนบลิงก์ให้เพิ่มเพื่อนบัญชีไลน์ปลอม หลอกติดตั้งแอปพลิเคชันเพื่อดักเอาข้อมูลสำคัญ
ช่องทาง : ข้อความสั้น (SMS), LINE, โทรศัพท์มือถือ
ตร.ไซเบอร์ เตือนภัยมิจฉาชีพ ส่ง SMS ปลอม ให้ลงทะเบียนรับสิทธิโครงการเราเที่ยวด้วยกันเฟส 5 แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ สร้างความน่าเชื่อถือ ก่อนส่งลิงก์ให้เหยื่อโหลดแอปฯ ปลอม หลอกให้ตั้งรหัสผ่าน 6 ตัวซ้ำหลายครั้ง จากนั้นขอสิทธิ์ควบคุมอุปกรณ์ หวังใช้รหัสผ่านเข้าแอปฯ ธนาคารหลอกโอนเงิน
กรุงเทพฯ 1 เม.ย. 66 – พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษกกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ประชาสัมพันธ์เตือนภัยกรณีมิจฉาชีพแอบอ้างเป็นหน่วยงานรัฐ ส่งข้อความสั้น (SMS) ไปยังประชาชน เพื่อหลอกลวงให้กดลิงก์ลงทะเบียนรับสิทธิโครงการเราเที่ยวด้วยกันเฟส 5
แนบลิงก์ SMS เพิ่มเพื่อนไลน์ปลอม อ้างเป็นเจ้าหน้าที่สร้างความน่าเชื่อถือ
ตามที่ปรากฏในสื่อสังคมออนไลน์กรณีประชาชนหลายรายได้รับ SMS จากหมายเลขโทรศัพท์ที่ไม่ทราบแหล่งที่มา แจ้งข้อความว่า “โครงการเราเที่ยวด้วยกันเฟส 5 พร้อมลงทะเบียนรับสิทธิ์แล้ว เริ่ม 7 มีนาคม – 30 เมษายน 2566” พร้อมแนบลิงก์น่าสงสัยมากับข้อความดังกล่าว หากกดลิงก์แล้วจะเป็นการให้เพิ่มเพื่อนทางแอปพลิเคชันไลน์ปลอมชื่อ “โครงการเราเที่ยวด้วยกันเฟส 5” มิจฉาชีพจะอ้างเป็นเจ้าหน้าที่และทำการสอบถามข้อมูลทั่วไปของเหยื่อ เช่น เคยลงทะเบียนมาก่อนหรือไม่ แจ้งเงื่อนไขการลงทะเบียน และแจ้งสิทธิส่วนลดต่าง ๆ ซึ่งเป็นการคัดลอกมาจากเว็บไซต์โครงการของจริง เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ
หลอกให้โหลดแอปฯ ขอสิทธิ์ควบคุมอุปกรณ์
จากนั้นมิจฉาชีพจะส่งลิงก์ให้เหยื่อติดตั้งแอปพลิเคชันโครงการเราเที่ยวด้วยกันปลอม มีการขอสิทธิ์ติดตั้งแอปพลิเคชันที่ไม่รู้จัก (ไฟล์ที่อาจเป็นอันตราย หรือไฟล์นามสกุล .APK) ให้กรอกข้อมูลส่วนบุคคล หลอกลวงให้ตั้งรหัสผ่าน 6 หลัก จำนวนหลาย ๆ ครั้ง เพื่อหวังให้เหยื่อกรอกรหัสผ่านชุดเดียวกับรหัสผ่านการเข้าถึง หรือทำธุรกรรมการเงินของแอปพลิเคชันธนาคารต่าง ๆ ในโทรศัพท์มือถือ รวมไปถึงขอสิทธิ์ในการควบคุมอุปกรณ์ หรือโทรศัพท์มือถือ โดยในขั้นตอนนี้ หากเหยื่อไม่สามารถทำได้ด้วยตนเอง มิจฉาชีพจะแสร้งหวังดีสอนเหยื่อว่า จะต้องทำอย่างไร หรือในบางกรณีจะโทรผ่านไลน์มาบอกวิธีการ กระทั่งเมื่อมิจฉาชีพได้สิทธิ์ควบคุมอุปกรณ์หรือโทรศัพท์มือถือแล้ว จะทำการล็อกหน้าจอโทรศัพท์มือถือ ทำให้เสมือนว่าเกิดการค้าง และมักจะแสดงข้อความว่า “อยู่ระหว่างดำเนินการตรวจสอบ ห้ามใช้งานโทรศัพท์มือถือ” ซึ่งขณะนั้น ทางมิจฉาชีพจะนำรหัสผ่านที่เหยื่อเคยตั้งหรือกรอกไว้ก่อนหน้านี้มาเข้าแอปพลิเคชันธนาคาร เพื่อโอนเงินไปยังบัญชีม้าที่เปิดรอไว้
โฆษก บช.สอท. กล่าวอีกว่า การหลอกลวงในรูปแบบดังกล่าว มิจฉาชีพจะปรับเปลี่ยนหมุนเวียนชื่อหน่วยงานไปตามวันเวลา และสถานการณ์ในช่วงนั้น ๆ เพื่อสร้างเรื่องมาหลอกลวงประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการได้รับสิทธิต่าง ๆ การหลอกให้อัปเดตข้อมูล หรือหลอกลวงอย่างไรให้เหยื่อกดลิงก์ติดตั้งแอปพลิเคชันปลอมของหน่วยงานที่แอบอ้าง ซึ่งปรากฏในหลากหลายกรณี เช่น กรมสรรพากร, กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI), กรมที่ดิน, การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค, การประปา, สายการบิน Thai Lion Air, บริษัท ไทยประกันชีวิต, กระทรวงพาณิชย์ และโครงการของรัฐต่าง ๆ โดยอาศัยความไม่รู้ของประชาชน ประกอบกับใช้สัญลักษณ์ของหน่วยงานนั้น ๆ สร้างความน่าเชื่อถือ อย่างไรก็ตาม ขอฝากไปยังประชาชน ให้ระมัดระวัง มีสติอยู่เสมอ ไม่กดลิงก์ที่แนบมากับ SMS หรือติดตั้งแอปพลิเคชันที่ไม่น่าเชื่อถือจากบุคคลอื่น รู้เท่าทันกลโกงของมิจฉาชีพ รวมไปถึงฝากเตือนไปยังบุคคลใกล้ชิด หรือแจ้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยตรวจสอบ เพื่อลดการตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ
ทีมข่าวไซเบอร์ ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์
ผู้สื่อข่าว : เบญจมา ส้มเช้า
พิสูจน์อักษร : สุวัชรียา จันทร์บัว
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter