19 กุมภาพันธ์ 2566 – สิ่งนี้…มักมาในรูปแบบของอีเมลหรือเว็บไซต์ปลอม สิ่งนี้…พบเจอการพยายามโจมตีมากถึง 11 ล้านรายการต่อปี
และสิ่งนี้ ถูกจัดอยู่ใน 6 อันดับของภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่พบเจอมากที่สุดคือคำว่า PHISHING
PHISHING คืออะไร?
PHISHING คือ การหลอกลวงโดยใช้อีเมลหรือหน้าเว็บไซต์ปลอมเพื่อให้ได้มาซื่งข้อมูล เช่น ชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน หมายเลขบัตรเครดิต ข้อมูลธนาคาร เป็นต้น โดยแฮกเกอร์มักจะใช้ Phishing ด้วยการล่อลวงด้วยการส่ง Link หรือ URL เพื่อให้เราหลงคลิก LINK นั้นเพื่อหลอกเอาข้อมูลสำคัญ
การหลอกล่อแบบ Phishing มีหลายหลายรูปแบบมาก
แบบเดิมมีการหลอกลวงแบบ Email Phishing คือ การปลอมอีเมล ให้ดูเหมือนของหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ เช่น ธนาคารโดยเขียนข้อความในอีเมลเชิงหลอกล่อเพื่อให้เหยื่อส่งข้อมูลส่วนตัวกลับไป หรือให้เหยื่อคลิกลิงก์ไปยังหน้าเว็บไซต์ปลอม
ปัจจุบันมีการหลอกลวงแบบ Vishing Phishing คือ การหลอกโดยใช้เสียง เช่น การดาวโหลดแอปพลิเคชัน ที่มีการติดตั้งหลอกล่อผู้ให้บริการ เพื่อให้เข้าถึง ควบคุมระบบ นำไปสู่การสูญเสียเงิน มีการโอนเงินออกไปโดยการหลอกลวงผ่านเสียง
โดยกลวิธีหลอกล่อ อาจมีลักษณะดังนี้
- ขอข้อมูลส่วนบุคคลหรือข้อมูลทางการเงิน
- ขอให้คุณคลิกลิงก์หรือดาวน์โหลดซอฟต์แวร์
- แสดงตัวเป็นองค์กรที่เชื่อถือได้ เช่น ธนาคารของคุณ เว็บไซต์โซเชียลมีเดียที่คุณใช้ หรือที่ทํางานของคุณ
- แอบอ้างเป็นบุคคลที่คุณรู้จัก เช่น สมาชิกในครอบครัว เพื่อน หรือเพื่อนร่วมงาน
- ดูมีลักษณะเหมือนกับข้อความจากองค์กรหรือบุคคลที่คุณไว้วางใจ
คำแนะนำการป้องกัน “Phishing”
1. ไม่คลิกลิงก์ที่แนบมาในอีเมล์ หรือในข้อความแชทของคนที่เราไม่รู้จัก ถ้าต้องการเข้าเว็บไซต์ ให้พิมพ์ URL เอง
2. ไม่ส่งข้อมูลส่วนตัวให้กับบุคคลที่เราไม่รู้จัก
3. สังเกตให้แน่ใจว่าเว็บไซต์ที่ทำธุรกรรมออนไลน์เป็นของธนาคารจริงก่อนให้ข้อมูลส่วนตัว
หากพบเห็นเว็บไซต์หลอกลวงซึ่งมีจุดประสงค์ในการ “Phishing” หรือขโมยข้อมูลส่วนบุคคล ประชาชนสามารถแจ้งเบาะแสการกระทำความผิดของคนร้ายไปยัง กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) หรือ แจ้งความออนไลน์ได้ด้วยตนเองที่เว็บไซต์ https://www.thaipoliceonline.com ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
เรื่องนี้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกับ : พันตำรวจเอก มรกต แสงสระคู ผู้กำกับการ 2 กองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 3 กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี
สัมภาษณ์เมื่อ : 9 กุมภาพันธ์ 2566
ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย : จิรัชยา นวลนิ่มน้อย จิราภา อ่อนเกลี้ยง และมัญชุกาญจน์ นาคเถื่อน
เรียบเรียงโดย : ชยานิษฐ์ ผ่องใส
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter