พรรคประชาธิปตย์ 3 ก.พ.- “ราเมศ” ย้ำ นิรโทษกรรม ต้องไม่รวมคดี 112 – คดีทุจริต – คดีอาญาสำคัญ
นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวถึง กรณีที่สภาผู้แทนได้มีมติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ว่า ในส่วนของพรรคเห็นด้วยที่มีความจำเป็นที่จะต้องตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางให้เกิดความชัดเจนทั้งในเรื่องของ เจตนารมณ์ในการนิรโทษกรรมฐานความผิดใดบ้างที่อยู่ในข่ายที่จะได้รับนิรโทษกรรมรวมไปถึงกระบวนการในการพิจารณาพิจารณาวินิจฉัยว่ามีบุคคลใดบ้างที่จะได้รับประโยชน์จากกฎหมายนิรโทษกรรม ซึ่งมีความจำเป็นต้องแยกให้ชัดว่าคดีประเภทใดที่เกิดขึ้นจากมูลเหตุจูงใจทางการเมือง เหตุเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมืองความคิด ความคิดทางการเมือง ต้องพิจารณาด้วยความละเอียดรอบคอบ
นายราเมศ กล่าวอีกว่า หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่มีร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฉบับของพรรคก้าวไกล ซึ่งบรรจุอยู่ในระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อที่จะเข้าสู่การพิจารณาในวาระหนึ่ง ฉบับดังกล่าวนี้ ในส่วนของพรรคไม่เห็นด้วยในหลายประเด็นทั้งในเรื่องของการกำหนดความผิด อำนาจของคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาด บุคคลที่จะได้รับการนิรโทษกรรมจากร่างกฎหมายฉบับนี้ก็จะรวมคดีเกี่ยวข้องกับมาตรา 112 ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วยในส่วนของคดีทุจริตก็จะได้รับประโยชน์จากกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้ด้วยรวมถึงคดีอาญาที่สำคัญไม่ว่าจะเป็นความผิดต่อชีวิตความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์รวมถึงความผิดในทางแพ่งที่เกิดขึ้นเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาที่ร้ายแรงดังกล่าว
และการยอมรับจากผู้เสนอร่างฉบับนี้คือนายชัยธวัช ตุลาธน ว่าร่างนิรโทษกรรมฉบับของพรรคก้าวไกลรวมถึงการนิรโทษกรรมให้กับบุคคลที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ด้วย ซึ่งการกระทำความผิดมาตรา 112 หลักความเป็นจริงแล้วไม่ได้เกี่ยวข้องในเรื่องแนวความคิดทางการเมืองไม่ได้มีมูลเหตุจูงใจในทางการเมืองที่จะนำมาเป็นประเด็นนำไปสู่การนิรโทษกรรมเป็นการตั้งใจกระทำความผิดโดยมีมูลเหตุจูงใจมาจากวาระที่ซ่อนเร้น ซึ่งในมาตรา 4 ของร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวจะเป็นประเด็นปัญหาที่นำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองอย่างไม่มีที่สิ้นสุด รวมถึงการกำหนดให้มีคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดในมาตรา 5 ที่มีนักการเมืองผู้มีส่วนได้เสียร่วมเป็นองค์ประกอบของคณะกรรมการมีการกำหนดให้ผู้พิพากษาและตุลาการเข้าไปมีส่วนร่วมซึ่งจะทำให้ขัดต่อกระบวนการถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายบริหารฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายตุลาการ
นายราเมศ กล่าวว่า ถ้าไปดูอำนาจของคณะกรรมการชุดนี้จะเห็นได้ว่ามีการกำหนดอำนาจไว้มากกว่าอำนาจตุลาการไม่ว่าจะเป็นการวินิจฉัยฐานความผิดการวินิจฉัยในข้อสงสัยว่าคดีใดจะอยู่ภายใต้ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมนี้หรือไม่ กำหนดให้มีอำนาจสั่งให้ศาลระงับการพิจารณาคดี สั่งให้มีการปล่อยตัวจำเลย ร่างกฎหมายฉบับนี้ส่งผลกระทบต่อกระบวนการยุติธรรมทางอาญาทั้งระบบ และเมื่อไปสอบถามความคิดเห็นของประชาชนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 77 ปรากฏว่าประชาชนไม่เห็นด้วยกว่า 70% และยืนยันได้จากผลจากการวิเคราะห์ผลกระทบอันเกิดจากร่างกฎหมายนิรโทษกรรมของพรรคก้าวไกลจะส่งผลกระทบต่อกระบวนการยุติธรรมทางอาญาทั้งระบบ.-316 -สำนักข่าวไทย