เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม นพ.วารินทร์ ตัณฑ์ศุภศิริ รองประธานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ เป็นประธานในพิธิเปิดการอบรมสัมมนาสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับสารต้องห้าม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ โดยมี ดร.ศักดิ์ชาย ทัพสุวรรณ อดีตผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) และนายกสมาคมมวยไทยสมัครเล่นแห่งประเทศไทยฯ พร้อมผู้บริหาร และคนวงการกีฬาเข้าร่วมกันอย่างเนืองแน่น
![](https://tna.mcot.net/wp-content/uploads/2023/07/26/1690371512_171960-tnamcot-1024x768.jpg)
การจัดการอบรมโครงการสัมมนาสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับสารต้องห้าม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 จัดโดยการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ร่วมกับกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ (NSDF) และสมาคมกีฬามวยอาชีพแห่งประเทศไทย ระหว่างวันที่ 26-28 กรกฎาคม 2566 ที่โรงแรมรามาการ์เดนส์
การจัดโครงการอบรมสัมมนาครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อสร้างการรับรู้ เรื่องสารต้องห้ามให้แก่นักกีฬา โค้ชและผู้ที่เกี่ยวข้องด้านกีฬา เพื่อเป็นการสร้างการรับรู้เรื่องสารต้องห้ามให้แก่นักกีฬา โค้ช หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น หากโดนสุ่มเก็บตัวอย่าง จะต้องเข้าใจกระบวนการ และขั้นตอนต่างๆ ให้ละเอียด สร้างความเข้าใจแก่บุคลากรที่เกี่ยวข้อง หากพิสูจน์ความผิดพบว่าจริง ก็จะมีบทลงโทษคือห้ามยุ่งเกี่ยวกับวงการกีฬา ถือว่ารุนแรงมาก
![](https://tna.mcot.net/wp-content/uploads/2023/07/26/1690371535_027947-tnamcot-1024x768.jpg)
สำหรับการจัดอบรมครั้งนี้มีกลุ่มเป้าหมายเข้ารับการอบรมจากทั่วประเทศกว่า 200 คนจาก กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ, สำนักงานคณะกรรมการกีฬามวย, บุคลากรทางการกีฬา, บุคคลวงการกีฬามวย, สำนักงานการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) 25 จังหวัด, สมาคมมวยไทยสมัครเล่นแห่งประเทศไทยฯ, สมาคมกีฬาคิกบ๊อกซิ่งแห่งประเทศไทย,สมาคมกีฬาปันจักสีลัตแห่งประเทศไทย, สมาคมกีฬามวยอาชีพแห่งประเทศไทย ซึ่งทั้งหมดเข้าพักและสัมมนาที่โรงแรมรามาการ์เดนส์ เป็นเวลา 2 คืน เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจเรื่องสารต้องห้ามอย่างถูกต้องจากวิทยากรที่มีความรู้ด้านสารต้องห้ามอย่างองค์การต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก (WADA) ทั้งในและต่างประเทศ สร้างความใจให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องด้านกีฬาทุกส่วน และสามารถนำความรู้ความเข้าใจไปเผยแพร่สู่องค์กรตัวเองได้อย่างถูกต้อง และเห็นถึงความสำคัญในการได้รับบทลงโทษเมื่อเกี่ยวข้องกับสารต้องห้าม โดยการตรวจพบสารต้องห้ามในปัจจุบัน ส่วนใหญ่มาจากการใช้แบบรู้เท่าไม่ถึงการณ์ นักกีฬาหน้าใหม่ จึงมีความจำเป็นต้องศึกษาและได้รับความรู้เรื่องสารกระตุ้นให้ละเอียด ซึ่งเป็นเรื่องที่นักกีฬาและบุคคลากรด้านกีฬาทุกคนต้องมีความเข้าใจ
นพ.วารินทร์ ตัณฑ์ศุภศิริ รองประธานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า เรื่องสารต้องห้ามเป็นประเด็นที่ใหญ่มาก เป็นเรื่องคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) และ WADA ให้ความสำคัญเป็นอันดับ 1 และจะไม่ยอมให้นักกีฬาและผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าไปพัวพันกับการใช้สารต้องห้ามอย่างเด็ดขาด ฉะนั้นนักกีฬาไทย ผู้ฝึกสอน รวมทั้งผู้บริหารสมาคมกีฬา ต้องตระหนักและศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยเฉพาะปัจจุบัน มีสารต้องห้ามชนิดใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย ดังนั้นจะต้องศึกษหาความรู้อย่างถ่องแท้เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นมา ซึ่งไม่ได้กระทบต่อตัวนักกีฬาและผู้ที่เกี่ยวข้องเท่านั้น แต่ยังรวมถึงชื่อเสียงของประเทศชาติด้วย
นพ.วารินทร์ กล่าวต่อว่า ในศึกเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 19 ที่นครหางโจว ประเทศจีน ในเดือน กันยายน 2566 ก็เช่นเดียวกัน ทางสภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย (โอซีเอ) ได้กำหนดให้ศูนย์ตรวจสารต้องห้ามของแต่ละประเทศ จัดการอบรมให้ความรู้กับนักกีฬาของแต่ละชาติ พร้อมทั้งต้องออกหนังสือรับรองการผ่านการตรวจสารต้องห้ามของนักกีฬาส่งให้ทางโอซีเอด้วย ซึ่งในส่วนของประเทศไทยนั้นมีสำนักงานควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา (DCAT) เป็นผู้ดำเนินการ
ขณะที่ ดร.ศักดิ์ชาย ทัพสุวรรณ นายกสมาคมกีฬามวยไทยสมัครเล่นฯ บรรยายว่า การควบคุมการใช้สารต้องห้ามในนักกีฬามีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งในบริบทของกีฬา องค์กรระดับโลกอย่างคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) ต้องการให้นักกีฬาทุกชาติทั่วโลกปราศจากการใช้สารต้องห้าม ซึ่งทุกคนที่เข้ารับการอบรมเราหวังว่าจะนำความรู้ไปปฏิบัติและทำความเข้าใจกระบวนการตรวจสารต้องห้ามนักกีฬาของหน่วยงานในประเทศอย่างสำนักงานควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา (DCAT) การกีฬาแห่งประเทศไทย รวมไปถึง WADA เพื่อจะได้ป้องกัน และหลีกเลี่ยงเรื่องสุ่มเสี่ยงที่นักกีฬาของไทยจะไปยุ่งเกี่ยวกับสารต้องห้าม สำหรับกรณีของกัญชา แม้ว่าประเทศไทยจะปลดล็อกเรื่องเสรีกัญชาแต่อยากให้นักกีฬาและคนวงการกีฬาเข้าใจว่า ยังเป็นสารต้องห้ามตามบัญชีสารต้องห้ามที่ WADA ควบคุมอยู่ ประเด็นนี้ยังอยู่ระหว่างการศึกษา และไม่อยากให้นักกีฬาไปใช้กัญชาเพราะจะทำให้เสียสมาธิไป