กรุงเทพฯ – 4 ธ.ค. 2565 การแข่งขันวิ่งมาราธอนในเมืองหลวง รายการเดียวที่ได้รับการรับรองจากสมาคมกรีฑาโลก รายการ อะเมซิ่ง ไทยแลนด์ มาราธอน Amazing Thailand Marathon Bangkok 2022 Presented by Toyota ชิงถ้วยพระราชทาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ ปิดฉากอย่างยิ่งใหญ่ โดยเมื่อคืนวันที่ 3 ธันวาคม (เช้าตรู่วันที่ 4 ธันวาคม) มีนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเป็นประธาน โดยจุดสตาร์ทอยู่ที่ ราชมังคลากีฬาสถาน (ระยะทาง 42.195 กิโลเมตร, 21.1 กิโลเมตร) และโลหะปราสาท ถ.ราชดำเนิน (ระยะทาง 10 กิโลเมตร, 5 กิโลเมตร) ผ่านเส้นทางที่เป็นแลนมาร์คสำคัญของกรุงเทพมหานคร ได้แก่ พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระที่นั่งอนันตสมาคม, สะพานพระราม 8, อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ, วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร, วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร (ภูเขาทอง) ฯลฯ ก่อนจะเข้าเส้นชัยที่ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยมีนักวิ่งทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเข้าร่วมแข่งขันกว่า 25,000 คน รวมทั้ง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และคณะเข้าร่วมแข่งขันในประเภทฮาล์ฟมาราธอน (ระยะทาง 21.1 กิโลเมตร) ด้วย
ผลการแข่งขัน ระยะมาราธอน 42.195 กิโลเมตร ชายทั่วไป (โอเวอร์ออล) แชมป์ตกเป็นของ อาริ ยิเมอร์ จากเอธิโอเปีย 2.21.36 ชั่วโมง ได้ครองถ้วยพระราชทาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมเงินรางวัล 1 แสนบาท อันดับ 2 สัญชัย นามเขต 2.24.24 ชั่วโมง รับเงินรางวัล 50,000 บาท อันดับ 3 ณัฐวุฒิ อินนุ่ม 2.27.07 ชั่วโมง รับเงินรางวัล 30,000 บาท
ระยะมาราธอน 42.195 กิโลเมตร หญิงทั่วไป (โอเวอร์ออล) แชมป์ได้แก่ เชลมิธ มูริวกี จากเคนยา 2.39.38 ชั่วโมง ได้ครองถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี พร้อมเงินรางวัล 1 แสนบาท อันดับ 2 อเล็กซานดรา โมโรโซว่า จากรัสเซีย 2.49.07 ชั่วโมง รับเงินรางวัล 50,000 บาท อันดับ 3 มากาเร็ต เอ็นจูกูน่า จากเคนยา 2.50.14 ชั่วโมง รับเงินรางวัล 30,000 บาท
ประเภท มาราธอน 42.195 กิโลเมตร นักวิ่งสถิติดีที่สุดชาวไทย ชาย อันดับ 1 สัญชัย นามเขต 2.24.24 ชั่วโมง ได้ครองถ้วยพระราชทาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมเงินรางวัล 50,000 บาท อันดับ 2 ณัฐวุฒิ อินนุ่ม 2.27.07 ชั่วโมง รับเงินรางวัล 30,000 บาท อันดับ 3 ธนาทิพย์ ดีฉิม 2.36.13 ชั่วโมง รับเงินรางวัล 20,000 บาท
ประเภท มาราธอน 42.195 กิโลเมตร นักวิ่งสถิติดีที่สุดชาวไทย หญิง อันดับ 1 ลินดา จันทะชิด 2.55.30 ชั่วโมง ได้ครองถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี พร้อมเงินรางวัล 50,000 บาท อันดับ 2 โสรยา ต๊ะวงศ์ 3.12.15 ชั่วโมง รับเงินรางวัล 30,000 บาท, อันดับ 3 ระเบียง รังเพียง 3.16.00 ชั่วโมง รับเงินรางวัล 20,000 บาท
ระยะฮาล์ฟมาราธอน 21.1 กิโลเมตร ชายทั่วไป (โอเวอร์ออล) แชมป์ได้แก่ เกปา ออนเจรี ออนดิมา จากเคนยา 1.04.07 ชั่วโมง ได้ครองถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ พร้อมเงินรางวัล 50,000 บาท อันดับ 2 อเล็กซานเดอร์ เอนจาย จากเคนยา 1.04.09 ชั่วโมง รับเงินรางวัล 25,000 บาท อันดับ 3 คินดู ซิวเมออน จากเอธิโอเปีย 1.04.24 ชั่วโมง รับเงินรางวัล 15,000 บาท
ระยะฮาล์ฟมาราธอน 21.1 กิโลเมตร หญิงทั่วไป (โอเวอร์ออล) แชมป์ได้แก่ มาร์ทา ไบฮาน จากเอธิโอเปีย 1.19.47 ชั่วโมง ได้ครองถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ พร้อมเงินรางวัล 50,000 บาท อันดับ 2 แอน มูกูฮี จากเคนยา 1.20.36 ชั่วโมง รับเงินรางวัล 25,000 บาท อันดับ 3 ฟายา ฮัสเซน จากเคนยา 1.21.50 ชั่วโมง รับเงินรางวัล 15,000 บาท
ประเภท ฮาล์ฟมาราธอน 21.1 กิโลเมตร นักวิ่งสถิติดีที่สุดชาวไทย ชาย อันดับ 1 ณัฐวัฒน์ อินนุ่ม 1.09.58 ชั่วโมง ได้ครองถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ พร้อมเงินรางวัล 30,000 บาท อันดับ 2 ชุติเดช ถนอมทรัพย์ 1.13.47 ชั่วโมง รับเงินรางวัล 15,000 บาท อันดับ 3 วงศ์บวร พัศดี 1.15.03 ชั่วโมง รับเงินรางวัล 10,000 บาท
ประเภท ฮาล์ฟมาราธอน 21.1 กิโลเมตร นักวิ่งสถิติดีที่สุดชาวไทย หญิง อันดับ 1 อรอนงค์ วงศร 1.24.17 ชั่วโมง ได้ครองถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ พร้อมเงินรางวัล 30,000 บาท อันดับ 2 อรนุช เอี่ยมเทศ 1.27.40 ชั่วโมง รับเงินรางวัล 15,000 บาท อันดับ 3 ณัฐธยาน์ ธนรณวัฒน์ 1.28.06 ชั่วโมง รับเงินรางวัล 10,000 บาท
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้สัมภาษณ์หลังจากเข้าเส้นชัยว่า ตนตัดสินใจมาวิ่งรายการนี้ในวินาทีสุดท้าย โดยร่วมวิ่งในระยะฮาล์ฟมาราธอน 21 กิโลเมตร
“การแข่งขันรายการนี้จัดได้อย่างยอดเยี่ยม นักวิ่งได้ วิ่งผ่าเมืองจริง ๆ ตลอดเส้นทางได้มาตรฐาน มีความสวยงามได้ผ่านแลนด์มาร์คต่างๆ ของกรุงเทพมหานคร การปิดถนนทำได้ดี และปลอดภัย เรื่องของน้ำดื่ม ขนม ไฟสว่าง ห้องน้ำมีตลอดทาง ต้องขอบคุณผู้จัดการแข่งขันอย่างมาก โดยหลังจากนี้ กรุงเทพมหานคร จะได้หารือกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และผู้จัดงานภาคเอกชน เพื่อเตรียมยกระดับการแข่งขันครั้งต่อไปให้ยิ่งใหญ่กว่านี้ สมกับที่ได้รับรองจากสมาคมกรีฑาโลก”
อนึ่ง การแข่งขัน อะเมซิ่ง ไทยแลนด์ มาราธอน Amazing Thailand Marathon Bangkok 2022 เป็นรายการที่จัดในเมืองหลวงเพียงรายการเดียวที่ได้รับการรับรองจากสมาคมกรีฑาโลก โดยในปัจจุบัน รายการนี้ ถือเป็น 1 ใน 5 ของมาราธอนในเมืองหลวงที่จัดได้ดีที่สุดในทวีปเอเชีย ซึ่งการแข่งขันรายการนี้ ประกอบไปด้วยกิจกรรมระดับโลกมากมาย อาทิ งานเอ็กซ์โป ที่ได้มาตรฐานสากล หรือ การประชุมสัมมนากรีฑาโลก “เวิลด์ แอธเลติก โกลบอล รันนิ่ง คอนเฟอเรนซ์ 2022” จัดขึ้นโดยความร่วมมือจากสมาคมกรีฑาโลก ซึ่งในระหว่างการประชุมผู้บริหารระดับสูงของสมาคมกรีฑาโลก ได้หารือกับ ททท. และผู้จัดมืออาชีพ ไทยแลนด์ไตรลีก เพื่อหารือถึงความเป็นไปได้ในการมอบสิทธิ์ให้รายการนี้ เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันวิ่งฮาล์ฟมาราธอนชิงแชมป์โลก ในอีก 3 ปีข้างหน้านี้ ปี 2025 (พ.ศ. 2568) โดยฝ่ายผู้จัดไทยได้รับข้อหารือ และจะได้นำเรียนต่อ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในลำดับต่อไป