กรุงเทพฯ 15 พ.ย. – การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ที่ประเทศกาตาร์ มายังประเทศไทย ยังไม่คืบหน้า ผู้ว่าการ กกท. ยื่นหนังสือตรงถึงฟีฟ่า เพื่อขอลดค่าลิขสิทธิ์ และไม่การันตีว่าแฟนบอลไทยจะได้ดูหรือไม่
เหลือเวลาอีก 5 วันเท่านั้น ศึกฟุตบอลโลกที่แฟนบอลทั่วโลกต่างรอคอย กำลังมาถึง แต่การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ที่ประเทศกาตาร์ ระหว่างวันที่ 20 พ.ย.-18 ธ.ค.65 มายังประเทศไทย ยังไม่คืบหน้า ซึ่งล่าสุด ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการ กกท. ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการเจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand ทางช่อง 9 ว่า แม้ กสทช.ให้เงินสนับสนุนมาแล้ว 600 ล้านบาท และยังต้องหาอีก 1,000 ล้านบาท เพื่อซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกครั้งนี้ ดังนั้น มีความเป็นไปได้ทั้ง 2 ทาง คือ ได้ดู และไม่ได้ดู ยอมรับว่า ข้อที่ “อินฟรอนท์” เอเย่นต์ฟีฟ่า เสนอมา เป็นเงื่อนไขที่เรายังรับไม่ได้ ทั้งงบประมาณและความเหมาะสม และตอนนี้ส่งเรื่องตรงถึงฟีฟ่าแล้ว ยืนยันว่า เรายืนตัวเลขที่เรามีกำลัง เราไม่ได้อยู่ในสถานะการเงินร่ำรวย รัฐบาลต้องใช้เรื่องการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ตอนนี้เราคงต้องรอให้เขาตัดสินใจ ขณะเดียวกันก็หาเพิ่มเติมมาสมทบจากเอกชน โดยมีหลายราย
ส่วนการใช้เงินกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาตินั้น ในข้อกฎหมายทำไม่ได้ แต่เราสามารถใช้เงินก่อน แล้วนำกลับมาคืน แต่ไม่ให้กระทบแผนงานต่างๆ ของกองทุน ดังนั้น ต้องเร่งเจรจาต่อรองให้เสร็จก่อนวันที่ 20 พ.ย. ถ้าไม่ทัน อาจต้องยอมรับกันว่าอาจได้ดูไม่ครบทุกแมตช์ เมื่อเริ่มแข่งแล้ว มีโอกาสถ่ายหรือไม่นั้น ยังพูดคุยกับฟีฟ่า
สำหรับเปอร์เซ็นต์ที่คนไทยจะได้ดูฟุตบอลโลก ผู้ว่าการ กกท. กล่าวว่า ให้ไม่ได้จริงๆ ยังวิเคราะห์ยากจริงๆ โอกาสยังเป็นไปได้ทั้ง 2 ทาง
ด้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวเพียงสั้นๆ ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี วันนี้ (15 พ.ย.) ถึงความคืบหน้าของงบประมาณที่จะใช้ในการจ่ายค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการติดต่อประสานงาน
นายวรวุฒิ โรจนพานิช ผู้มีประสบการณ์สูงในการนำบริษัท ทศภาค จํากัด ซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2002 ที่เกาหลีใต้และญี่ปุ่น และฟุตบอลโลก 2006 ที่เยอรมนี เปิดเผยว่า ตอนนั้น ทศภาค ซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2002 กับ 2006 แบบรวมกัน แต่ตนไม่สามารถเปิดเผยตัวเลขค่าลิขสิทธิ์ได้ เพราะมีกฎของฟีฟ่าในการห้ามเปิดเผยความลับทางการค้า ซึ่งเป็นคู่ค้ากับฟีฟ่า การเจรจาของไทยที่ยังไม่ลงตัวในครั้งนี้ ตนขอพูดในแง่ของหลักการและให้ความรู้ เรื่องแรก ฟีฟ่าเปิดขายลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด 3 แพ็กเกจ 4 ปีล่วงหน้า นับตั้งแต่จบฟุตบอลโลกแต่ละครั้ง แพ็กเกจ A จะมีฟุตบอลโลก รวมกับรายการต่างๆ ของฟีฟ่า รวม 8 รายการ และจะมีแพ็กเกจ B และแพ็กเกจ C สำหรับประเทศต่างๆ ที่สนใจเฉพาะฟุตบอลโลกรายการเดียว โดยอัตราค่าลิขสิทธิ์ที่เอเย่นต์ฟีฟ่าเรียกเก็บจะไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับจำนวนประชากร, ฟุตบอลเป็นกีฬายอดนิยมอันดับ 1 ของประเทศนั้นๆ หรือไม่, เศรษฐกิจ, สังคม, การเมือง หรือพูดกันภาษาชาวบ้านว่า แต่ละประเทศที่จะซื้อมีศักยภาพเท่าใดนั่นเอง ตนมองว่า ปัญหาของไทยคราวนี้คือ การเจรจากับฟีฟ่าล่าช้าเกินไป
ด้านนายเกษมสันต์ วีระกุล ประธานกรรมการ บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กว่า จากประสบการณ์ที่เคยถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก อยากให้รัฐบาลตรวจสอบ 3 เรื่อง คือ สัญญาณการถ่ายทอดสด เซ็นตรงกับฟีฟ่าหรือไม่ ถ้าต้องเซ็นกับนายหน้า ต้องขอดูค่าถ่ายทอดสด ต้องขอสัญญาที่เขาเซ็นกับฟีฟ่ามาดู จะได้เห็นว่าเขาจ่ายไปเท่าไร และเอามาขายรัฐบาลเท่าไร และสัญญาที่จะเซ็น เป็นแพ็กเกจที่รวมเพื่อนบ้าน สมัยก่อน สิทธิการถ่ายทอดสด ไทย กัมพูชา เมียนมา ถูกรวมไว้เป็นแพ็กเกจเดียวกัน บริษัทนายหน้าก็เอาเงินเจ้าสัวไปเอาสิทธิมา พอได้สิทธิกัมพูชา และเมียนมา ไปแบ่งขายแบบเนียนๆ เงินเข้าบริษัทตัวเอง ฟันกำไรไปอีกต่อ. – สำนักข่าวไทย