กรุงเทพฯ 27 ก.ค.- ผู้บริหาร บมจ.เคหะสุขประชา แจงกรณีถูกพาดพิงในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ยืนยัน “เซ็มโก้” มีสภาพคล่องทางการเงินและมีกำไร สามารถรับงานได้ ขณะที่ “โครงการเคหะสุขประชา” เป็นธุรกิจเพื่อสังคม สามารถบริหารให้คืนทุนได้ภายใน 10 ปี ไม่ต้องใช้เวลาถึง 200 ปี ตามที่ถูกกล่าวอ้าง
นายพิษณุพร อุทกภาชน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เคหะสุขประชา จำกัด (มหาชน) ชี้แจงถึงกรณีถูกพาดพิงในการอภิปรายไม่ไว้วางใจในประเด็นที่ว่า บริษัทจัดการทรัพย์สินและชุมชน จำกัด หรือ CEMCO (เซ็มโก้) ไม่มีเงินแล้วมารับงานของการเคหะแห่งชาติ (กคช.) ได้อย่างไร
กรณีนี้นายพิษณุพร ชี้แจงว่า การกล่าวหาในประเด็นดังกล่าวอาจเกิดจากการเข้าใจข้อมูลที่คลาดเคลื่อน และผิดช่วงเวลา ทั้งนี้ บริษัทเซ็มโก้ ก่อตั้งเมื่อปี 2538 เป็นบริษัทในเครือการเคหะแห่งชาติ ร่วมกับบริษัทบีทีเอส กรุ๊ป โฮดิ้ง จำกัด (มหาชน), บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ด้วยทุนจดทะเบียน 20 ล้านบาท มีวัตถุประสงค์เพื่อบริหารจัดการนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร, นิติบุคคลอาคารชุด, นิติบุคคลอาคารเช่า พัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนและพัฒนาชุมชนให้น่าอยู่ และดำเนินการด้านอื่นๆ ตามภารกิจที่การเคหะแห่งชาติมอบหมาย
ในยุคก่อนที่ตนเข้ามาบริหารประมาณปี 2558 สตง.ตรวจพบปัญหาความผิดปกติเกี่ยวกับผลประโยชน์ทับซ้อนในบริษัทเซ็มโก้ มีการตั้งญาติของอดีตผู้บริหาร กคช.มาเป็นผู้จัดการเซ็มโก้ ที่นำทรัพย์สินบางส่วนของ กคช.ไปให้สมาคมเช่า แต่รายได้กลับไม่เข้า กคช. ต้องเปลี่ยนแปลงกับระบบนายทุนผูกขาดที่หากินกับการเคหะแห่งชาติมายาวนาน คณะกรรมการฯ ออกระเบียบและข้อบังคับการจัดการทรัพย์สินให้ชัดเจน มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและส่งรายงานไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช. ถึง 3 เรื่อง พร้อมเร่งคืนเงินประกันซึ่งเก็บไว้ประมาณเกือบ 10 ปี สูงถึง 1,400 ล้านบาท ที่บริษัททั้งหลายมาวางค้ำประกันไว้ โดยผู้บริหาร กคช.นำเงินคืนให้บริษัททั้งหลายภายใน 3 เดือน 90% ของงบ พร้อมปรับภารกิจของธุรกิจเซ็มโก้ เพื่อให้สถานะทางการเงินเข้มแข็งตามข้อเสนอของ สตง. รวมถึงให้ปรับปรุงสถานะทางการเงินให้ฟื้นตัวจากขาดทุนมาเป็นกำไร และตั้งกรรมการปิดบัญชีเอื้ออาทร ซึ่งเป็นภาระให้รัฐบาลมานานมาก
นายพิษณุพร ย้ำว่าเมื่อรัฐมนตรีและคณะกรรมการชุดใหม่เข้ามาบริหาร โดยกู้เงินมาแก้ปัญหาเดิม และเร่งสร้างกำไร ก็ทำให้เซ็มโก้เริ่มกลับมามีกำไรตั้งแต่ปี 62 จำนวน 100,000 บาท/ปี 63 จำนวน 4 ล้านบาท/ กระทั่งปี 64 สามารถพลิกฟื้นบริหารองค์กรให้สามารถกลับมารับงานได้ และมีกำไรสะสมอีกกว่า 2.4 ล้านบาท โดยใช้เวลาฟื้นฟูกิจการได้ภายใน 4 ปี จากที่เคยมีพนักงาน 200 คนในปี 59 ตอนนี้มีเพิ่มเป็น 1,300 คน และจากที่เคยมีรายได้ ปีละ 70 ล้านบาท ตอนนี้เพิ่มเป็นกว่า 800 ล้านบาท พร้อมย้ำบริษัทเซ็มโก้ ไม่เคยรับเงินวางค้ำประกัน 15% ไม่เคยใช้สิทธิ์นี้ เพราะต้องใช้หลักประกันเพิ่ม
ส่วนอีกประเด็นที่ถูกพาดพิงว่าโครงการเคหะสุขประชา ต้องใช้เวลา 200 ปี กว่าจะคืนทุน ก็ไม่ใช่ความจริง เพราะหากเป็นเช่นนั้นไม่มีทางที่ ครม.จะอนุมัติอย่างแน่นอน โดย บมจ.เคหะสุขประชา จัดตั้งตามที่การเคหะแห่งชาติได้รับอนุมัติจาก ครม.เมื่อ 9 พ.ย.2564 เพื่อช่วยให้ชาวบ้านมีที่อยู่อาศัยและมีอาชีพ โดยการเคหะแห่งชาติถือหุ้น 49% และผนึกกำลังกับพันธมิตรถือหุ้น 51% โดยมีเป้าหมายสร้างบ้าน 100,000 หน่วย ภายใน 5 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2564- 2568 โดยสร้างปีละ 20,000 หน่วย รวมทั้งช่วยสร้างอาชีพ และรายได้ให้ผู้อยู่อาศัย ซึ่งขึ้นอยู่กับความเหมาะสมในการพัฒนาโครงการของแต่ละพื้นที่ โดยจะมี 6 อาชีพในโครงการ ได้แก่ เกษตรอินทรีย์ ปศุสัตว์ อาชีพบริการชุมชนและชุมชนข้างเคียง ตลาด อุตสาหกรรมขนาดเล็ก และศูนย์การค้าปลีก – ส่ง เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
โดยมีทุนจดทะเบียน 500 ล้านบาท และได้มีการแต่งตั้งบอร์ดบริหาร ซึ่งมีการตรวจสอบเป็นอย่างดี และกรรมการแต่ละท่านก็ไม่ได้อยู่ในภาคอสังหาฯ จึงไม่มีการเอื้อประโยชน์ให้เอกชนอย่างแน่นอน เนื่องจากเป็นการระดมทุนเองจากเอกชนในตลาด หาเม็ดเงินมาทำโครงการให้ กคช. โดยไม่ได้ใช้เงินจากรัฐบาล แต่ทำงานเพื่อรัฐ และที่ไม่มีภาคเอกชนเข้ามาทำงานในครั้งนี้ เพราะเรากำหนดเรื่องค่าเช่าบ้านไว้ ที่จะสามารถอยู่ได้ต่อปี ไม่มากแค่ 5% ถ้าจะให้สูงกว่านี้ 13-15% เหมือนตลาดอสังหาฯ ทั่วไป ชาวบ้านก็อยู่ไม่ได้ และคิดว่าเอกชนรายอื่นก็จะไม่สามารถทำได้ เลยต้องให้บริษัทลูกทำงาน คือ บมจ.เคหะสุขประชา โดยดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด และอนาคตมีเป้าหมายที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์อยู่แล้ว เพราะมีกระบวนการตรวจสอบ และโปร่งใสอย่างชัดเจน และการเข้าตลาดไม่ใช่เข้าไปเก็งกำไร แต่มันคือการระดมทุนเม็ดเงินมาทำงานเพื่อสร้างที่อยู่อาศัยให้คนยากไร้ และพร้อมกับอาชีพให้ด้วย
สำหรับโครงการนี้เป็นธุรกิจเพื่อสังคม สามารถบริหารให้คืนทุนได้ภายใน 10 ปี โดยมีรายได้มาจากค่าเช่าและค่าบริหารจัดการธุรกิจอื่นๆ ภายในโครงการ และที่ถูกพาดพิงว่าต้องใช้เวลา 200 ปี กว่าจะคืนทุนนั้น ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง เพราะสภาพัฒน์คงไม่อนุมัติโครงการแบบนี้ได้ แต่สิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลง คือ วิธีการทำงาน วิธีคิด จากการทำกำไรในเชิงพาณิชย์ มาเป็นการคืนกำไรแก่สังคม เปลี่ยนการขายบ้านมาให้คนรายได้น้อยเช่าราคา 999-3,500 บาท แล้วแต่ขนาด ถูกกว่าตลาด 40% ประชาชนอยู่ได้ตลอดชีวิต และไม่ใช่แค่การสร้างบ้าน แต่เป็นการสร้างบ้านพร้อมส่งเสริมอาชีพเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ที่การเคหะแห่งชาติไม่เคยทำมาก่อน แต่รัฐบาลชุดนี้ได้ทำและทำอย่างจริงจัง เพื่อแก้ปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้า จึงได้จัดตั้ง บมจ.เคหะสุขประชา มาเร่งดำเนินการ.-สำนักข่าวไทย