กรุงเทพฯ 21 เม.ย. – หัวหน้าศูนย์จีโนม รพ.รามาฯ ยืนยันไทยยังไม่พบโควิด-19 สายพันธุ์ย่อยโอไมครอน BA.2.12.1 ชี้ทุกการกลายพันธุ์ หรือมีสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้น สายเดิมจะค่อย ๆ หายไปใน 2-3 เดือน
ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า โควิดสายพันธุ์ย่อยโอไมครอนในไทยขณะนี้ BA.1 ลดระดับลงจนอาจสูญพันธุ์ไปแล้ว ขณะที่ BA.2 ก่อนหน้านี้ระบาดหนักเริ่มพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลง แต่มีการกลายพันธุ์แตกตัวลูกออกมาเป็น BA.2.12 เป็นตัวที่แพร่ระบาดทั่วโลกในขณะนี้ เพียงแต่เราไม่ได้ให้ความสนใจมากนัก เนื่องจากความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด (relative growth advantage) ไม่ต่างจากตัวแม่ BA.2 มากนัก แต่ที่กำลังแผลงฤทธิ์เป็นตัวลูกที่แตกย่อยออกมาอีกทีคือ BA.2.12.1 ซึ่งพบว่าตัวมีการกลายพันธุ์บางตำแหน่งนิดเดียว แต่ปรากฏว่าหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันและแพร่ระบาดได้มากขึ้น โดยเฉพาะในนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา พบอัตราการแพร่ระบาดเพิ่มเป็นเท่าตัว ทั้งนี้ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาข้อมูลจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค สหรัฐเอเมริกา (U.S. CDC) พบว่าการแพร่ระบาดของ BA.2.12.1 อย่างรวดเร็วในสัดส่วน 1 ใน 5 ของผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั่วประเทศ และพบมากที่สุดในรัฐนิวยอร์ก มีการกลายพันธุ์ต่างจากไวรัสดั้งเดิม “อู่ฮั่น” มากกว่า 90 ตำแหน่ง และมีอัตราการแพร่ระบาดถึง 96% เหนือกว่า BA.2
ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ กล่าวด้วยว่า สำหรับประเทศไทยขณะนี้ยังไม่พบ BA.2.12.1 แต่ยังต้องเฝ้าระวังเพราะเรามีตัวแม่ BA.2.12 ซึ่งข้อมูลล่าสุดวันที่ 19 เม.ย.ในฐานข้อมูลกลางโควิดโลก หรือ GISAIDพบ BA.2.12 ในไทยจากการสุ่มถอดรหัสพันธุกรรมไม่น้อยกว่า 186 ตัวอย่าง แต่คาดว่าหน้างานจริงอาจจะมีมากกว่านั้น โดยธรรมชาติการกลายพันธุ์ของไวรัสเมื่อมีไวรัสตัวใหม่โผล่ขึ้นมาก ไวรัสตัวเดิม ก็จะค่อย ๆ ลดลงจนหายไปใน 2-3 เดือน ส่วนลูกผสมตระกูล X ทั่วโลกขณะนี้พบมีกว่า 20 ตระกูล แต่ละตระกูล พบจำนวนน้อยมากเพียงหลักสิบหลักหน่วยเท่านั้น ไม่ได้พบว่ามีการแพร่ระบาดมากขึ้น ก่อนหน้าที่ศูนย์จีโนมฯ พบ XE 1 คน ก็ยังไม่ได้พบมากขึ้น
ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ กล่าวอีกว่า ข้อมูลล่าสุดจากนักวิทยาศาสตร์ในต่างประเทศได้ทดสอบนำแอนติบอดีของผู้ติดเชื้อโอไมครอนมาทดสอบภูมิคุ้มกัน พบว่าป้องกันได้เฉพาะโอไมครอน แต่สายพันธุ์อื่น ๆ ในอดีต หรือในอนาคตอาจจะป้องกันได้ไม่ดีนัก ต่างกับคนที่ฉีดวัคซีน ดังนั้น การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นจึงมีความสำคัญ.-สำนักข่าวไทย