กรุงเทพฯ 13 ม.ค. – กรมอนามัย แนะผู้ป่วยโควิด-19 ที่เป็นผู้สูงอายุติดเชื้อแยกกักตัวอยู่ที่บ้าน ยึด 10 แนวทางปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน มีแนวโน้มผู้ติดเชื้อมากขึ้น ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง อาจไม่จำเป็นต้องได้รักษาแบบผู้ป่วยในของโรงพยาบาล แต่ให้แยกกักตัวที่บ้าน Home Isolation (HI) เพื่อสังเกตอาการได้ ซึ่งกลุ่มผู้สูงอายุติดเชื้อที่มีอายุไม่เกิน 75 ปีบริบูรณ์ มีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว และควรได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดแล้ว สามารถกักตัวที่บ้านได้
ทั้งนี้ ขอให้ยึด 10 แนวทางปฏิบัติ ดังนี้ 1. แยกรับประทานอาหาร และแยกของใช้ส่วนตัวกับผู้อื่นภายในบ้าน 2. งดออกจากบ้านพักตลอดเวลา 3. ใช้ห้องน้ำแยกจากผู้อื่น กรณีไม่สามารถแยกได้ ให้ใช้ห้องน้ำเป็นคนสุดท้าย ปิดฝาชักโครกก่อนกดทุกครั้ง และทำความสะอาดจุดสัมผัส เช่น ปุ่มกดชักโครก ก๊อกน้ำ และบริเวณอื่นๆ ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อทันที 4. ควรสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่ต้องพบหรือพูดคุยกับญาติ และผู้ดูแล รวมถึงต้องเว้นระยะห่างอย่างน้อย 1 เมตร 5. งดให้บุคคลอื่นมาเยี่ยมที่บ้านขณะแยกกักตัว
นพ.สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า ข้อปฏิบัติถัดมา คือ 6. ล้างมือด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์ เป็นประจำ 7. แยกซักเสื้อผ้า ผ้าปูที่นอน ด้วยน้ำอุ่นและผงซักฟอก แล้วตากแดดให้แห้ง 8. แยกล้างภาชนะบรรจุอาหารด้วยน้ำและน้ำยาล้างจาน 9. ทิ้งขยะที่สัมผัสสารคัดหลั่ง เช่น หน้ากากอนามัย กระดาษชำระ ในถุงขยะสีแดง และปิดปากถุงให้แน่น แต่ในกรณีที่ไม่มีถุงขยะสีแดง ให้เขียนกำกับบนถุงให้ชัดเจนว่า “ขยะติดเชื้อ” แล้วแยกทิ้งในถังขยะติดเชื้อ กรณีเป็นขยะที่ไม่สัมผัสสารคัดหลั่ง ให้เช็ดหรือราดด้วยแอลกอฮอล์ 70% แล้วทิ้งเป็นขยะทั่วไปได้ และ 10. แยกกักตัวเป็นเวลาอย่างน้อย 10 วัน นับจากวันที่เริ่มป่วย หรือตรวจพบเชื้อ
“ญาติของผู้สูงอายุติดเชื้อที่ต้องแยกกักตัวที่บ้าน ต้องเฝ้าติดตามอาการของผู้สูงอายุอย่างใกล้ชิด หากจำเป็นต้องพูดคุยกับผู้สูงอายุ ให้สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา เว้นระยะห่างอย่างน้อย 1 เมตร หมั่นล้างมือด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์ เป็นประจำ ส่วนการจัดส่งอาหารและน้ำดื่ม อาจใช้วิธีแขวนที่ลูกบิดประตูห้องที่มีความสูงจากพื้นอย่างน้อย 60 เซนติเมตร ทั้งนี้ ให้ผู้สูงอายุที่ติดเชื้อหรือญาติคอยสังเกตอาการผู้สูงอายุ โดยวัดอุณหภูมิ และ oxygen saturation ทุกวัน หากมีอาการไข้สูงมากกว่า 39 องศาเซลเซียส หายใจหอบเหนื่อย วัดค่าออกซิเจนปลายนิ้วได้น้อยกว่า 94% ซึ่งต่ำกว่าค่าปกติของระดับออกซิเจนที่วัดได้อยู่ที่ 96-100% ให้รีบโทรติดต่อโรงพยาบาล หรือสถานพยาบาลใกล้บ้านทันที” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว.-สำนักข่าวไทย