กทม. 27 พ.ย.- ครบ 19 ปีก้าวสู่ปีที่ 20 ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สปสช.ย้ำยึดมั่นเป้าหมายให้ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณสุขและไม่ล้มละลายจากการเจ็บป่วย แต่จะปรับระบบการทำงานให้สอดคล้องกับพฤติกรรมและโลกยุค Disrupted มากขึ้น
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวในงานเสวนาในหัวข้อ “เข้าสู่ 2 ทศวรรษ ระบบหลักประกันสุขภาพไทยไปไกลแค่ไหน” เนื่องในโอกาสครบรอบ 19 ปี วันสถาปนาสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2564 ที่ผ่านมา โดยระบุว่า หลักการของระบบหลักประกันสุขภาพที่ สปสช. ยึดถือมาตลอด 19 ปี คือหลักการที่ให้ประชาชนเข้าถึงบริการและไม่ล้มละลายจากการเจ็บป่วย เป็นเป้าหมายในภาพใหญ่ที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง ซึ่งนับตั้งแต่มีการจัดตั้งขึ้นมา ระบบหลักประกันสุขภาพประสบความสำเร็จความสำเร็จในแง่การเพิ่มการเข้าถึงบริการของประชาชนและลดการล้มละลายจากการเจ็บป่วย ขณะเดียวกันยังมีความสำเร็จที่โดดเด่นอีกประการ คือการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สปสช.มีการรับฟังความคิดเห็นและนำปัญหาของประชาชนมาจัดทำนโยบาย อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จในอดีตที่ผ่านมาไม่ได้เป็นเรื่องรับประกันความสำเร็จในอนาคต สปสช.ยังมีความท้าทายที่ต้องปิดจุดอ่อนและทำให้ระบบก้าวหน้าต่อไป
นพ.จเด็จ กล่าวว่า ตอนนี้เป็นการก้าวย่างเข้าสู่ปีที่ 20 ของระบบหลักประกันสุขภาพในประเทศไทย ซึ่งทิศทางการพัฒนาระบบในอนาคตนั้น ในส่วนของเป้าหมายยังไม่เปลี่ยนแปลง กล่าวคือทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพและไม่ล้มละลายจากการเจ็บป่วย อย่างไรก็ดี ในระยะ 3-4 ปีข้างหน้า หากจะทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพสำเร็จมากขึ้น สปสช. ต้องใช้ทฤษฎีในการทำงานที่ต่างไปจากเดิม ซึ่งตนในฐานะเลขาธิการ สปสช.จะเน้นหนักใน 2 ทฤษฎีในการขับเคลื่อนงานคือทฤษฎีเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม ซึ่งอธิบายว่าจริงๆแล้วมนุษย์ไม่ค่อยมีเหตุผลแต่ สปสช.ทำได้ ตัวอย่างเช่น อยากให้คนเข้าถึงบริการมากขึ้น แต่ก็อยากได้รับบริการที่รวดเร็วด้วย ซึ่ง สปสช. ได้พัฒนาระบบบริการในเรื่องตามทฤษฎีนี้ เช่น การส่งยาที่บ้าน การผ่าตัดวันเดียวกลับ การให้ยามะเร็งที่บ้าน เป็นต้น ซึ่งระบบบริการลักษณะนี้ สมัยก่อนทำไม่ได้แต่ปัจจุบันทำได้และจะมีเพิ่มเข้ามาเรื่อยๆ
นอกจากนี้ ยังมีทฤษฎีที่ว่าด้วยโลกกำลังจะ Disrupted บริการบางอย่างไม่จำเป็นต้องเป็นของใหม่ที่แพงกว่ามาแทนที่ของเก่า บางครั้งของใหม่ที่ถูกกว่าเดิมมาแทนของเก่าก็มี เช่น ช่วงเดือน ก.ค. 2564 ที่ผ่านมา ผู้คนยังไม่เชื่อมั่นในเรื่อง Home Isolation ซึ่งมีต้นทุนบริการประมาณ 10,000 บาท/คน มีแต่คนบอกว่าเป็นไปไม่ได้ สู้ Hotel Isolation ซึ่งมีต้นทุนบริการประมาณ 60,000 บาทไม่ได้ แต่ สปสช. พบว่าผู้ติดเชื้อโควิดไม่ชอบไปโรงแรมแต่อยากอยู่บ้านแล้วส่งยามาให้มากกว่า แสดงว่าบริการที่ต้นทุนถูกกว่าไม่ได้แย่เสมอไป ความเชื่อที่ว่าเทคโนโลยีต้องแพงถึงจะดีก็อาจจะไม่จริง ดังนั้นในระยะต่อไป สปสช.ต้องปรับวิธีทำงานโดยนำทฤษฎีใหม่ๆ มาประยุกต์
“อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือความรวดเร็ว สปสช.พยายามเอาความรวดเร็วมาประยุกต์ เช่น เมื่อเราได้รับการติดต่อให้จัดงบประมาณสำหรับผู้ได้รับความเสียหายจากการฉีดวัคซีนโควิด เมื่อวิเคราะห์แล้วพบว่าปัจจัยที่จะทำให้นโยบายนี้ล้มเหลวคือการจ่ายเงินช้า เราถึงพยายามจ่ายเยียวยาให้เร็วที่สุดใน 5 วัน และต้องไม่ใช่ 5 วันทำการเพราะธนาคารยังสามารถจ่ายเงินวันเสาร์-อาทิตย์ได้ เป็นต้น ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ต้องปรับเพื่อไปสู่เป้าหมาย ถ้าเราปรับกระบวนการ ปรับวิธีคิด ปรับบุคลิก แม้เป้าหมายจะเหมือนเดิมแต่ความสำเร็จจะแตกต่างออกไป” นพ.จเด็จ กล่าว
ด้าน น.ส.ศิรินทิพย์ ขัติยะกาญจน์ ประธานมูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง กล่าวว่า ที่ผ่านมาเครือข่ายผู้ป่วยโรคมะเร็งได้รับการช่วยเหลือจาก สปสช. อย่างมากในเรื่องสิทธิประโยชน์ อีกทั้งผู้ป่วยยังเชื่อมั่นในเรื่องมาตรฐานการรักษาที่ทัดเทียมกับกองทุนสุขภาพอื่นๆ ทั้งนี้ โรคมะเร็งเป็นโรคที่ต้องแข่งกับเวลา มีความยุ่งยากในการรักษา มีค่าใช้จ่ายสูง ไม่ได้เดือดร้อนเฉพาะผู้ป่วยแต่ยังกระทบถึงครอบครัวด้วย ผู้ป่วยหลายคนไม่ได้เตรียมงบประมาณไว้ล่วงหน้าแต่การมีระบบหลักประกันสุขภาพก็สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยและครอบครัวหลายครอบครัวให้ผ่านเวลาที่ยากลำบากมาได้ พร้อมกล่าวถึงข้อเสนอการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพในอนาคตจากมุมมองผู้ป่วยว่ามี 4 ประเด็นหลักคือ
1.โรคมะเร็งป้องกันได้โดยการตรวจคัดกรอง แต่ยังมีบางชุดสิทธิประโยชน์ที่ไม่เอื้อให้มาตรวจคัดกรอง เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งตับ ดังนั้นถ้าทำให้เกิดความร่วมมือจากหลายๆ ภาคีในการรณรงค์ให้คนมาตรวจคัดกรอง จะเป็นประโยชน์ ช่วยป้องกันไม่ให้มีผู้ป่วยมะเร็งมากขึ้น
2.คุณภาพชีวิตผู้ป่วย ผู้ป่วยบางคนไม่อยากได้ยาราคาแพงแต่ต้องการคุณภาพชีวิตที่ดีมากกว่า ดังนั้นการพัฒนาสิทธิประโยชน์จึงอยากให้มองเรื่องคุณภาพชีวิตผู้ป่วยเป็นหลักและเปิดให้ผู้ป่วยมีสิทธิเลือกทางเดินของตัวเองในการรักษา ไม่ใช่พิจารณาแค่ความคุ้มค่าทางตัวเงินอย่างเดียว
3.การมีส่วนร่วมของผู้ป่วย การรวมพลังของเครือผู้ป่วยยังขาดความต่อเนื่อง แม้ สปสช.จะเปิดให้ผู้ป่วยมีส่วนร่วม แต่ส่วนมากเป็นการเปิดให้แสดงความเห็นของงานที่เสร็จแล้ว แต่เครือข่ายผู้ป่วยอยากเข้าไปมีส่วนร่วมตั้งแต่กระบวนการวางแผน การกำหนดทิศทาง และอยากให้สร้างเครือข่ายผู้ป่วยในเชิงรุกที่เป็นมากกว่าการทำกิจกรรมร่วมกัน
4.การพัฒนาเทคโนโลยี ปัจจุบันมีโครงการผู้ป่วยมะเร็งรักษาที่ไหนก็ได้ แต่ระบบเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยบริการที่ไม่ได้สังกัดกระทรวงสาธารณสุขยังมีปัญหา การเก็บข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ถ้าร่วมมือกันทั้งภาครัฐ เอกชน และเครือข่ายผู้ป่วย ฐานข้อมูลนี้จะเป็น evidence base ที่สำคัญของรัฐในการนำไปพิจารณากำหนดนโยบายและงบประมาณค่าใช้จ่ายต่างๆ ในอนาคต .-สำนักข่าวไทย