สธ.20 ต.ค.-อธิบดีกรมอนามัย เผยผลการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19 ที่ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ พบมาตรการที่ยังบกพร่อง คือ ความแออัดบริเวณศูนย์อาหาร
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แถลงว่า จากการกำหนดมาตรการ Covid Free Setting หรือยกระดับความปลอดภัย ให้สถานประกอบการ หรือมาตรการ ความปลอดภัย 3 ด้าน คือ
- ด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การเว้นระยะห่าง การใช้ระบบชำระเงินแบบดิจิตอล การทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วมเช่นห้องน้ำ
- ด้านพนักงาน ปลอดภัย Covid Free Personal ตามหลักการพนักงานทุกคนควรฉีดวัคซีนตามเกณฑ์ หรือได้รับการตรวจด้วยเอทีเคทุก7วัน ให้ความสำคัญกับกิจการเสี่ยง ไม่จำเป็นต้องตรวจทุกกิจการ เช่น ร้านสักอาจต้องตรวจทุก 3 วัน
- ความปลอดภัยด้านผู้ใช้บริการ Covid Free Customer เน้นคัดกรองความเสี่ยงผู้ใช้บริการทุกคนก่อนเข้าร้านหรือใช้แอปพลิเคชัน ไทยเซฟไทย เป็นเว็บที่กรมอนามัย ได้พัฒนาขึ้น เพื่อลงทะเบียนประเมินผล
โดยตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.ที่กรมอนามัยลงพื้นที่ให้ความรู้ตรวจประเมินห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ตามมาตรการความปลอดภัยสำหรับองค์กร มีการลงทะเบียนประเมิน 354 แห่ง ดำเนินการตามมาตรการผ่านร้อยละ 96.9 มีเพียง 3.1% ที่ประเมินไม่ผ่านบางข้อ ขณะที่ผลการประเมิน Covid Free Setting พบผ่านถึง 95% พบว่าประเด็นที่ปฏิบัติได้ค่อนข้างน้อยคือการจำกัดเวลาใช้บริการไม่เกิน 2 ชั่วโมง และการจัดหาชุดตรวจเอทีเคให้พนักงานตรวจทุก 7 วัน และที่เป็นประเด็นตามโซเชียลคือความแออัดที่ศูนย์อาหาร
สำหรับการสุ่มประเมินห้างสรรพสินค้า 15 แห่งตั้งแต่ 28 ก.ย.-18 ต.ค.64 พบมีการประเมินผ่านครบทุกข้อเพียง 3 แห่ง หรือเพียงร้อยละ 20 ประเด็นที่ไม่ผ่านการประเมิน คือความแออัดบริเวณศูนย์อาหาร การไม่เว้นระยะห่างเวลานั่งกินอาหาร ห้องน้ำบางจุดมีปัญหาการระบายอากาศ, ขาดการตรวจด้วยเอทีเค, ขาดความเข้มงวดกรณีฉีดวัคซีนให้พนักงาน สอดคล้องกับผลสำรวจอนามัยโพลจากผู้ใช้บริการกว่า 2,000 คน ผลสำรวจพบว่าผู้ใช้บริการตามห้างสวมหน้ากากถูกต้องร้อยละ 80 แต่สวมไม่ถูกต้องถึงร้อยละ 12
ขณะที่มาตรการที่ห้างสรรพสินค้าทำได้ดีคือการมีฉากกั้นการเว้นระยะห่าง ข้อแนะนำคือให้มีการปรับปรุง ให้กิจการที่มีความเสี่ยงเข้มงวดมากขึ้นเช่นให้มีหลักฐานแสดงการคัดกรองความเสี่ยงทั้งผู้ให้และผู้ใช้บริการ การเว้นระยะห่าง มีอุปกรณ์ทำความสะอาดให้เพียงพอทุกจุด
อธิบดีกรมอนามัย กล่าวด้วยว่า หากพบการฝ่าฝืนมาตรการต่างๆ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และท้องถิ่น สามารถออกบทควบคุม หรือลงโทษสถานที่ในความรับผิดชอบได้ ขณะที่ประชาชนยังสามารถร่วมประเมิน หรือร้องเรียน มายังกระทรวงสาธารณสุขในส่วนกลาง เพื่อตรวจสอบทันที .-สำนักข่าวไทย