กรุงเทพฯ 10 ก.ย.- กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือ พม. จัดทำ พม.โพล ” 60 พลัส ฝ่าวิกฤต COVID-19 สู่วิถีถัดไป (Next Normal)” เพื่อนำข้อมูลที่ทันเหตุการณ์ มาใช้จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย และออกมาตรการให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน และสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป
นางพัชรี อาระยะกุล ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานการแถลงข่าว พม.โพล “60 พลัส ฝ่าวิกฤต COVID-19 สู่วิถีถัดไป (Next Normal)” ผ่านระบบออนไลน์ Zoom Meeting ณ ห้องประชุมชั้น 8 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เนื่องจากเล็งเห็นถึงความสำคัญของและความจำเป็น ในการมีข้อมูลที่ทันกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อนำมาใช้ในการกำหนดนโยบาย และการให้บริการประชาชน จึงได้จัดทำกิจกรรมวัดอุณภูมิทางสังคม หรือ พม.โพล โดยสำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ 1-11 ร่วมกับ “นิด้าโพล” จัดทำเรื่อง “60 พลัส ฝ่าวิกฤติ COVID–19 สู่วิถีถัดไป (Next Normal)” เนื่องจากกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป มีมากถึง 11.8 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 17.90 ของประชากรทั้งประเทศ โดยเลือกสำรวจความคิดเห็นของผู้สูงอายุที่มีต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมทั้งผลกระทบ และความต้องการของผู้สูงอายุใน 5 มิติ ได้แก่ ด้านสุขภาพกาย-จิต เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยี
พบว่าผู้สูงอายุส่วนใหญ่ ได้รับกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยมากถึงร้อยละ 90.00 เกิดความเครียด วิตกกังวล ร้อยละ 59.32 รายได้ลดลง มีภาระค่าใช้จ่าย หนี้สินมากขึ้น ร้อยละ 47.86 การออกไปพบปะสังสรรค์ ทำกิจกรรมนอกบ้าน ลดน้อยลง
สิ่งที่ผู้สูงอายุวิตกกังวลในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 มากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ เกิดความเครียดและกังวลว่าจะติดเชื้อ ตามมาด้วยรายได้ รายจ่าย ภาระหนี้สิน และอันดับ 3 การทำมาหาเลี้ยงชีพ การประกอบอาชีพ
สำหรับวิธีการรับมือกับสถานการณ์ ร้อยละ 86.50 ติดตามข้อมูล ข่าวสาร เกี่ยวกับการแพร่ระบาด ร้อยละ 81.20 ปฏิบัติตนตามนโยบายมาตรการการควบคุมของรัฐ ร้อยละ 51.98 ฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อ COVID-19
สิ่งที่ผู้สูงอายุต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด 3 อันดับแรก คือฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส COVID-19 การช่วยเหลือฟื้นฟู เยียวยา เช่น การจ่ายเงินเยียวยาและชดเชย การสร้างงาน สร้างอาชีพ และเรื่องอาหาร ยารักษาโรค เครื่องนุ่งห่ม ที่พักอาศัยที่ถูกสุขลักษณะ หน้ากากอนามัย เจล ล้างมือตามลำดับ
สิ่งที่ผู้สูงอายุต้องการให้กระทรวง พม. ช่วยเหลือ เยียวยาหรือฟื้นฟูมากที่สุด คือสามารถติดต่อขอรับความช่วยเหลือได้สะดวก รวดเร็ว ทันเวลา ตามมาด้วยส่งเสริมการมีงานทำ พัฒนาทักษะอาชีพตามความถนัดและความสนใจ และเพิ่มวงเงินกู้ยืมเงินกองทุนประกอบอาชีพสำหรับผู้สูงอายุ นอกจากนี้ยังเสนอแนะให้เพิ่มสิทธิและสวัสดิการของผู้สูงอายุ ส่งเสริมการประกอบอาชีพเพื่อสร้างรายได้ และอำนวยความสะดวกในการรับบริการทางการแพทย์ที่รวดเร็วในการเข้ารับการรักษา
จะเห็นว่าผู้สูงอายุมีความเสี่ยงสูง แต่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 และวางแผนการปฏิบัติตัวไปสู่วิถีถัดไป (Next Normal) ที่มีการเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิตไปจากเดิม ใส่ใจป้องกัน ดูแลรักษาสุขภาพตัวเองมากขึ้น ซึ่ง กระทรวง พม. จะนำผลการสำรวจนี้ไปดำเนินการกำหนดเป็นนโยบายที่เหมาะสมกับกลุ่มผู้สูงอายุในอนาคตต่อไป
ด้านนางสุจิตรา พิทยานรเศรษฐ์ อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ กล่าวระหว่างการบรรยายเรื่อง “ทิศทางการกำหนดนโยบายจากผลการสำรวจ ถึงกรณีผู้สูงอายุที่เกษียณงานแล้ว แต่ยังมีความรู้ มีความสามารถ มีความพร้อมในการทำงาน ยังสามารถเข้าร่วมโครงการ “คลังปัญญาผู้สูงอายุ” เพื่อร่วมถ่ายทอดภูมิปัญญาและองค์ความรู้ของผู้สูงอายุที่มีประสบการณ์ในการทำงาน เปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง ผลักดันให้ผู้สูงอายุมีส่วนร่วม และส่งเสริมศักยภาพให้มีประโยชน์มากยิ่งขึ้น.-สำนักข่าวไทย