กรุงเทพฯ 23 ส.ค.-ผลวิจัยชี้นักเรียนเครียดเรียนออนไลน์ ศธ. สั่งแก้ปัญหาลดเวลาเรียนหน้าจอ-ลดการบ้าน-ลดการสอบ
จากกรณีผลการวิจัยของศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (TPAK) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล สำรวจข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมและผลกระทบจากการเรียนออนไลน์ พบว่า จำนวนการบ้านมากขึ้น, เด็กมีพฤติกรรมเนือยนิ่ง, เครียด วิตกกังวล โดยเฉพาะนักเรียนชั้น ป.6 เตรียมศึกษาต่อ ม.1 และ ม.6 เตรียมศึกษาต่อมหาวิทยาลัย เพราะกังวลว่าจะไม่มีโรงเรียนที่ดีรับเข้าเรียน
นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ระบุว่า ที่ผ่านมาสถานศึกษาบางแห่งปรับได้เร็ว แต่บางแห่งยังจัดตารางสอนออนไลน์เหมือนที่เรียนในโรงเรียน ไม่ลดเวลาเรียน ครูยังให้การบ้านนักเรียนจำนวนมาก ทางกระทรวงศึกษาธิการดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับการเรียนออนไลน์แล้ว เช่น มีนโยบายลดภาระผู้เรียน ทั้งสายสามัญศึกษา และอาชีวศึกษา ปรับเปลี่ยนตัวชี้วัดให้นักเรียนได้เรียนในสิ่งที่ต้องรู้ ลดเวลาเรียนหน้าจอ, ให้การบ้านเท่าที่จำเป็น โดยครูแต่ละวิชาร่วมบรูณาการในการให้การบ้าน, การวัดประเมินผลเน้นหลักฐานการเรียนรู้ มากกว่าการสอบ, เลิกใช้ผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) เป็นองค์ประกอบของผลการตัดสินจบการศึกษาและการเข้าศึกษาต่อทั้งในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและระดับอุดมศึกษา
ทั้งนี้ได้สั่งการสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ให้กำชับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาติดตามสถานศึกษาเป็นรายโรงเรียนปฏิบัติตามนโยบายลดภาระผู้เรียนหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมาทั้ง สพฐ. และ สอศ.ได้ประกาศแนวปฏิบัติการจัดการเรียนการสอนและการวัดประเมินผลที่ยืดหยุ่นในสถานการณ์โควิด-19 ไปแล้ว ย้ำหลังจากนี้เวลาเรียนหน้าจอและการบ้านของนักเรียนต้องลดลงอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม เตรียมเปิดช่องทางรับฟังปัญหาจากครูโดยตรงสะท้อนปัญหาการทำงานที่เกิดขึ้นจริงในบริบทที่แตกต่างกัน เพื่อปรับแนวทางช่วยเหลือให้มีประสิทธิภาพเหมาะสมกับแต่ละบริบทพื้นที่ต่อไป.-สำนักข่าวไทย