พม. เผยแนวทางช่วยเหลือเด็กได้รับผลกระทบโควิด

กทม. 21 ส.ค.-พม. เผยแนวทางช่วยเหลือเด็กกำพร้า เด็กขาดผู้ดูแลจากผลกระทบโควิด-19 ทั้งนี้พบเด็กติดเชื้อมากขึ้น เฉลี่ยกว่า 2,000 รายต่อวัน

นางสาวแรมรุ้ง วรวัธ รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รองปลัด พม.) ในฐานะโฆษกกระทรวง พม. เปิดเผยว่า ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ได้ส่งผลกระทบในวงกว้างทั่วประเทศอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น กระทรวง พม. มีความห่วงใยกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะกลุ่มเด็กซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่ได้รับผลกระทบโดยตรงและจำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือโดยด่วน ขณะนี้พบว่าเด็กติดเชื้อมีจำนวนมากขึ้น โดยเฉลี่ยติดเชื้อเพิ่มขึ้นกว่า 2,000 รายต่อวัน และเด็กติดเชื้อสะสมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-19 สิงหาคม 2564 มีจำนวน 104,392 คน ซึ่ง กทม. เป็นจังหวัดที่มีเด็กติดเชื้อมากที่สุดถึง 11,107 คน


นางสาวแรมรุ้ง กล่าวต่อไปว่า กระทรวง พม. ได้ดำเนินการช่วยเหลือเด็กที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ดังนี้ 1) คณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ โดยมี นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธาน มีมติเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 ให้มีการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานทุกระดับในกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้มีกลไก การกำกับติดตาม และประสานส่งต่อเด็กและครอบครัวที่ได้รับผลกระทบ และ 2) กระทรวง พม. ได้พัฒนาแนวทางการประสานงานส่งต่อการช่วยเหลือเด็กรวมถึงผู้ปกครอง โดยจัดกลุ่มเด็กที่ได้รับผลกระทบออกเป็น 5 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มที่ 1 เด็กพึงได้รับการสงเคราะห์และคุ้มครองสวัสดิภาพ เช่น ยากจน เลี้ยงดูมิชอบ ทารุณกรรม ผู้ปกครองไม่สามารถเลี้ยงดูได้ กลุ่มที่ 2 เด็ก พ่อแม่หรือผู้ปกครองติดเชื้อ และ กลุ่มที่ 3 เด็กติดเชื้อ พ่อแม่หรือผู้ปกครอง ไม่ติดเชื้อ กลุ่มที่ 4 เด็กไม่ติดเชื้อ พ่อแม่หรือผู้ปกครองติดเชื้อ และกลุ่มที่ 5 เด็กกำพร้า กรณีบิดามารดาหรือผู้ปกครองเสียชีวิตจากการติดเชื้อ มีจำนวน 234 คน ในพื้นที่ กทม. และ 48 จังหวัด แบ่งเป็นกำพร้าบิดา กำพร้ามารดา และกำพร้าบิดาและมารดา ทั้งนี้มีเด็กที่ได้รับการช่วยเหลือดูแลที่ครอบคลุม โดยเข้าสู่ระบบการจัดการรายกรณี ระหว่างวันที่ 27 กรกฎาคม-19 สิงหาคม 2564 รวมจำนวน 2,900 คน

นางสาวแรมรุ้ง กล่าวต่อไปอีกว่า กระทรวง พม. ยังมีกลไกการเข้าถึงกลุ่มเด็กและประชาชนที่ประสบปัญหาทางสังคมเชิงรุก ได้แก่ 1) อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) ทั่วประเทศ 195,360 คน แบ่งเป็น กทม. 5,119 คน และจังหวัด 190,241 คน 2) ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน พม. โทร. 1300 บริการ 24 ชั่วโมง และ “Mobile Application คุ้มครองเด็ก” เป็นช่องทางการแจ้งเหตุครอบคลุมทุกสภาพปัญหา รวมถึงเด็กและครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และ 3) การจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือเด็กโควิด-19 โดยความร่วมมือระหว่างกระทรวง พม. กองทุนความเสมอภาคเพื่อการศึกษา กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข และองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย และเปิดบริการ Line Official Account @savekidscovid19 เพื่อเป็นศูนย์กลางประสาน เชื่อมต่อบริการของหน่วยงาน องค์กรเอกชน ภาคประชาสังคม และอาสาสมัครในการช่วยเหลือเด็กและ ครอบครัวได้อย่างไร้รอยต่อ ทั้งเด็กติดเชื้อหรือผู้ปกครองติดเชื้อ หรือเด็กผู้ปกครอง และสมาชิกในครอบครัวติดเชื้อทั้งหมด รวมทั้งเด็กที่ไม่มีผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเสียชีวิตจากโควิด-19 ทั้งนี้ เมื่อข้อมูลจาก Line OA ที่แจ้งเหตุเข้ามาไม่ว่าจะที่ไหนในประเทศไทยจะถูกส่งต่อเข้าระบบระบบสารสนเทศเพื่อการคุ้มครองเด็ก Child Protection Information System (CPIS) แบบ Real Time โดยมีบ้านพักเด็กและครอบครัว 77 แห่ง เป็นผู้จัดการรายกรณี รับหน้าที่เป็นผู้ประสานการช่วยเหลือตามสภาพปัญหาและความต้องการของเด็กและครอบครัว สำหรับ กทม. แบ่งพื้นที่การทำงานเป็น 6 โซน ตามการแบ่งโซนของ กทม. ได้แก่ 1) กรุงเทพเหนือ 7 เขต 2) กรุงเทพตะวันออก 9 เขต 3) กรุงเทพกลาง 9 เขต 4) กรุงเทพใต้ 10 เขต 5) กรุงธนเหนือ 8 เขต และ 6) กรุงธนใต้ 7 เขต อีกทั้งมีรูปแบบการจัดบริการความช่วยเหลือด้านกาย จิต สังคม การศึกษา ที่มุ่งเน้นการป้องกันการแยกเด็กออกจากครอบครัว เพื่อลดผลกระทบเชิงลบทั้งระยะสั้นและระยะยาวต่อเด็กที่เกิดจากการพรากจากผู้ดูแล นอกจากนี้ กระทรวง พม. ยังได้เสริมสร้างความสามารถขององค์กรและแสวงหาความร่วมมือ เพื่อการให้บริการแบบไร้รอยต่อ ด้วยแนวปฏิบัติและการให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่กรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) โดยความร่วมมือกับองค์กรยูนิ เซฟ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเครือข่ายการเลี้ยงดูเด็กทดแทน (Alternative Care Network) ด้วยการจัดทำคู่มือและการฝึกอบรม


นางสาวแรมรุ้ง กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับนโยบายการให้ความช่วยเหลือเด็กในสถานการณ์โควิด-19 ที่พ่อแม่ ผู้ปกครองอยู่ระหว่างการรักษา หรือยังไม่มีความพร้อมในการรับเด็กกลับไปเลี้ยงดู รวมถึงกรณีที่พ่อแม่ ผู้ปกครองเสียชีวิต ผ่านระบบการเลี้ยงดูทดแทนรูปแบบต่าง ๆ แบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่ 1) ระยะแรก เป็นการเลี้ยงดูทดแทนแบบฉุกเฉินสำหรับเด็กกลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูงที่ต้องได้รับการดูแลในระยะกักตัว 14 วัน เพื่อติดตามอาการในสถานที่กักตัว (State Quarantine-SQ) กรณีไม่สามารถจัดหา SQ ได้ จะส่งเด็กให้อยู่ในการดูแลของบ้านพักเด็กและครอบครัว 77 แห่ง 2) ระยะที่สอง เป็นการเลี้ยงดูทดแทนแบบชั่วคราวสำหรับเด็กที่พ้นระยะกักตัว 14 วัน ที่พ่อแม่ ผู้ปกครองยังไม่มีความพร้อมในการรับเด็กกลับไปเลี้ยงดู หรือพ่อแม่ ผู้ปกครองเสียชีวิต แบ่งเป็น 2.1) ครอบครัวเครือญาติอุปถัมภ์ โดยญาติรับเลี้ยงดูเด็กทั้งในระยะสั้นและยาว 2.2) ครอบครัวอุปถัมภ์ โดยครอบครัวอาสาสมัครที่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติรับเลี้ยงดูเด็กตามระยะเวลาที่กำหนด 2.3) สถานสงเคราะห์ ซึ่งจะเป็นทางเลือกสุดท้าย โดยสงเคราะห์และคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กชั่วคราว ผ่านการจัดบริการด้านต่าง ๆ ในระยะยาว และ 3) ระยะที่สาม เป็นการเลี้ยงดูในครอบครัวทดแทนถาวร โดยครอบครัวบุญธรรมคนไทยและคนต่างชาติที่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติที่จะรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมตามกฎหมายที่กำหนด โดยมีสิทธิ หน้าที่ และความผิดชอบต่อเด็กตามกฎหมาย นอกจกานี้ ยังมีระบบอาสาสมัครดูแลเด็ก โดยร่วมมือกับกองทุนความเสมอภาคเพื่อการศึกษา (กสศ.) พัฒนาระบบการรับสมัครอาสาสมัครในการดูแลเด็กประเภทต่าง ๆ ซึ่งคาดว่าจะสามารถขับเคลื่อนได้เต็มรูปแบบในวันที่ 24 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป

นางสาวแรมรุ้ง กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า นอกจากนี้ กระทรวง พม.ได้มีการจัดตั้งศูนย์แรกรับเด็กและครอบครัว ณ อาคารธัญญารมย์สถาบันพระชาบดี อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี ตามมติเห็นชอบของคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติในการประชุมครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 ซึ่งมี นายจุติ ไกรฤฏษ์ รมว.พม. เป็นประธาน โดยมีกระทรวงสาธารณสุขช่วยดูแลจัดการระบบและดูแลทั้งในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัด ซึ่งศูนย์แห่งนี้จะให้การช่วยเหลือเด็กและครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ทั้งในจังหวัดปทุมธานี กทม. และปริมณฑล สามารถรองรับได้ 10 ครอบครัว (40 เตียง) โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณบางส่วนจากกองทุนเสริมสร้างสุขภาพแห่งชาติ (สสส.) คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในเดือนสิงหาคม 2564 ทั้งนี้ กระทรวง พม. ได้พยายามเสริมบริการดูแลเด็กและครอบครัวให้มากที่สุด โดยพร้อมทำงานอย่างเต็มที่ร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน เพื่อช่วยเหลือเด็กที่ได้รับผลกระทบอย่างครอบคลุมทั่วประเทศ อีกทั้งขอเชิญชวนประชาชนทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมเป็นเครือข่ายคุ้มครองเด็ก หากพบเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือ สามารถแจ้งเหตุได้ที่ ศูนย์ช่วยเหลือเด็กโควิด-19 ผ่าน Line OA @savekidscovid19 ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน พม. โทร. 1300 บริการ 24 ชั่วโมง และ Mobile Application คุ้มครองเด็ก.-สำนักข่าวไทย


ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

ค้นบ้านสามารถ

ดีเอสไอเข้าค้นบ้าน “สามารถ” คดีฟอกเงินดิไอคอน

ดีเอสไอเข้าค้นบ้าน “สามารถ เจนชัยจิตรวนิช” คดีฟอกเงินดิไอคอน หลังพบเงิน “บอสดิไอคอน” โอนเข้าบัญชีแม่ของนายสามารถ

หมอบุญ

THG แจงบริษัทไม่เกี่ยวข้องคดีต่างๆ ที่เกิดจาก “หมอบุญ”

THG แจงตลาดหลักทรัพย์ฯ ปัจจุบัน “หมอบุญ” ไม่ได้ดำรงตำแหน่งกรรมการและผู้บริหารใน THG คดีฉ้อโกงใดๆ ที่เกิดขึ้น บริษัทไม่เกี่ยวข้อง

คะแนนไม่เป็นทางการ เลือกตั้งนายก อบจ.นครฯ

ลุ้นผลคะแนนเลือกตั้งนายก อบจ.นครศรีธรรมราช นับเสร็จแล้วบางหน่วย ล่าสุด ณ เวลา 19.40 น. “วาริน ชิณวงศ์” เบอร์ 2 จากทีมนครเข้มแข็ง ชนะคู่แข่งขาดลอยในหลายหน่วย คะแนนทิ้งห่างแชมป์เก่า “กนกพร เดชเดโช” เบอร์ 1 จากพรรค ปชป.

“ทนายสายหยุด” จ่อถอนตัวคดีตั้ม หวั่นติดร่างแห

“ทนายสายหยุด” เตรียมถอนตัวเป็นทนายให้ “ตั้ม” เผยในมือมีแต่พยานเท็จ ปิดบังข้อเท็จจริง เสี่ยงเป็นผู้ร่วมกระทำผิด

ข่าวแนะนำ

วิเคราะห์การเมืองสนามใหญ่ หลังศึกเลือกตั้งนายก อบจ.

วิเคราะห์ผลการเลือกตั้งนายก อบจ. 4 สนามใหญ่ โดยเฉพาะอุดรธานี ที่สะท้อนถึงความนิยมในตัวของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

“บิ๊กเต่า” ลั่นเตรียมมอบกุญแจมือเป็นของขวัญปีใหม่ให้คนดัง ส่งนอนห้องขัง

“บิ๊กเต่า” ลั่นเตรียมมอบ “กุญแจมือ” เป็นของขวัญปีใหม่ให้อินฟลูฯ นักร้อง คนดัง ส่งนอนห้องขังวีไอพี เผยปม “ฟิล์ม รัฐภูมิ” คาดมีความชัดเจนภายในสัปดาห์นี้

หมอบุญ

THG แจงบริษัทไม่เกี่ยวข้องคดีต่างๆ ที่เกิดจาก “หมอบุญ”

THG แจงตลาดหลักทรัพย์ฯ ปัจจุบัน “หมอบุญ” ไม่ได้ดำรงตำแหน่งกรรมการและผู้บริหารใน THG คดีฉ้อโกงใดๆ ที่เกิดขึ้น บริษัทไม่เกี่ยวข้อง