สำนักข่าวไทย 20 ส.ค.-กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะพ่อแม่ ผู้ดูแลเด็กเล็ก 0-5 ปี เพิ่มจัดสรรเวลาให้ลูก หลีกเลี่ยงให้เด็กดูโทรทัศน์ ลดเล่นโทรศัพท์มือถือ เน้นส่งเสริมพัฒนาการให้รอบด้าน
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบกับทุกกลุ่มวัย โดยเฉพาะกลุ่มเด็กปฐมวัย 0-5 ปี ซึ่งเป็นช่วงการส่งเสริมกระตุ้นพัฒนาการสมวัย เนื่องจากศูนย์พัฒนาเด็กเล็กหรือโรงเรียน ปิดการเรียนการสอนตามมาตรการควบคุมการระบาด ที่ทางศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ประกาศอาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของเด็กที่เกิดจากความไม่พร้อมด้วยปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้ 1) ด้านสถานที่ บางครอบครัวต้องพาเด็กออกไปทำงานด้วย ซึ่งที่ทำงานบางสถานที่ไม่เหมาะสมสำหรับเด็กเล็ก เช่น งานเก็บขยะ งานตัดต้นไม้ งานก่อสร้าง เป็นต้น หรือบางครอบครัวต้องทิ้งเด็กเล็กไว้ตามลำพัง 2) ด้านโภชนาการ หากเด็กอยู่ศูนย์เด็กเล็กหรือโรงเรียนจะได้กินอาหารครบ 5 หมู่และดื่มนมตรงตามเวลา แต่เมื่อเด็กต้องอยู่บ้าน บางครั้งอาจกินอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการไม่ครบหมู่ หรือกินข้าวได้น้อยลง เพราะต้องกินอาหารเมนูเดิมซ้ำ ๆ มีส่วนทำให้เด็กได้รับสารอาหาร ไม่ครบถ้วนเช่นกัน 3) ด้านพัฒนาการของเด็ก พ่อแม่ผู้ปกครองบางรายมักให้เด็กอยู่ในห้องแคบ ๆ ใช้เวลาไปกับการดูโทรทัศน์หรือเล่นมือถือมากขึ้นโดยไม่สนใจบุคคลหรือสิ่งแวดล้อมรอบตัว ส่งผลให้มีพฤติกรรมก้าวร้าว เอาแต่ใจตัวเอง และขาดระเบียบวินัย
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า การกระตุ้นพัฒนาการเด็กในยุคโควิด-19 พ่อแม่ ผู้ปกครอง ต้องฝึกการเล่นกับลูกในหลาย ๆ รูปแบบ โดยการศึกษาผ่านคู่มือเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย (DSPM) ของกระทรวงสาธารณสุข ที่สามารถเข้าดูได้จากเว็บไซต์ของสถาบันพัฒนาอนามัยเด็กแห่งชาติ กรมอนามัย หรือสามารถปรึกษาสถานบริการสาธารณสุขทุกแห่งทั่วประเทศ รวมถึงคอยกำชับและดูแลเด็กเล็ก ให้หลีกเลี่ยงการดูโทรทัศน์หรือเล่นโทรศัพท์มือถือที่มากจนเกินไป จึงควรจัดสรรเวลาอยู่และเล่นกับลูกให้มากขึ้น และที่สำคัญต้องมีการป้องกันโควิด-19 ในเด็กอย่างเคร่งครัด ด้วยการลดการออกนอกบ้าน เพิ่มการสวมหน้ากาก ในบ้านให้มากขึ้น กำชับให้หมั่นล้างมือบ่อย ๆ หมั่นทำความสะอาดเครื่องเล่นหรือของเล่นด้วยน้ำยาทำความสะอาดทั่วไป
“ทั้งนี้ จากรายงานสถานการณ์ข้อมูลเฝ้าระวังด้านส่งเสริมสุขภาพด้านพัฒนาการปฐมวัยล่าสุด 11 สิงหาคม 2564 พบว่า เป้าหมายการคัดกรองพัฒนาการเด็กปฐมวัย จำนวน 1,515,545 ราย สามารถคัดกรองได้ 1,345,511 ราย คิดเป็นร้อยละ 88.8 พบพัฒนาการเด็กสมวัยจำนวน 968,253 ราย คิดเป็นร้อยละ 72 และสงสัยพัฒนาการล่าช้า จำนวน 377,253 ราย คิดเป็นร้อยละ 28 ซึ่งในจำนวนที่สงสัยล่าช้าได้มีการส่งต่อไปกระตุ้นพัฒนาการภายใน 30 วัน พบว่า มีพัฒนาการสมวัยร้อยละ 99” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว .-สำนักข่าวไทย