กรุงเทพฯ 12 ส.ค.-ความคืบหน้าวัคซีนใบยาของคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ล่าสุดนักวิจัยเตรียมทดสอบฉีดวัคซีนใบยาในคนกลุ่มแรกเดือนกันยายนนี้ และคาดพร้อมฉีดให้ประชาชนไทยกลางปีหน้า
ผู้ช่วยศาสตราจารย์เภสัชกรหญิง ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยถึงความคืบหน้าการผลิตวัคซีนใบยา สัญชาติไทย จากฝีมือนักวิจัยคนไทย ว่า บริษัท ใบยาไฟโตฟาร์ม จำกัด คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินการมาตั้งแต่ 3-4 ปี ที่แล้ว มีแพลตฟอร์มการผลิตโปรตีนด้วยพืชที่สามารถเอาไปออกฤทธิ์ทางยาได้ ซึ่งวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่เราผลิตเป็นการพัฒนาเทคนิคการนำไปรตีนจากใบยาสูบสายพันธุ์ดั้งเดิมจากออสเตรเลีย เพื่อใช้เป็นยาซึ่งเป็นชิ้นส่วนโปรตีนของไวรัสโควิด-19 ที่ไม่สามารถไปแพร่เชื้อต่อได้ เมื่อฉีดวัคซีนใบยาเข้าไปในร่างกายจะช่วยกระตุ้นสร้างภูมิคุ้มกันของเราขึ้นมา
การพัฒนาเทคนิคการได้ไปรตีนจากใบยาเป็นเทคโนโลยีที่มีมามากกว่า 15 ปีแล้ว และเคยทำสำเร็จในการรักษาโรคอีโบลา เมื่อในอดีตจะเห็นได้ว่าในตลาดวัคซีนมีรูปแบบหลากหลายนวัตกรรม เช่น mRNA แบบเทคนิคไวรัลแว็กเตอร์ (Viral Vector) แบบเชื้อตาย สำหรับวัคซีนใบยามีแพลตฟอร์มการผลิตที่เหมือนกับ วัคซีนโนวาแวกซ์ (Novavax) ของอเมริกาซึ่งใช้เซลล์แมลงในการผลิต แต่วัคซีนใบยาใช้ต้นพืชเป็นตัวผลิต
สำหรับไทม์ไลน์การทดสอบวัคซีนในคนระยะแรกจะเริ่มภายในเดือนกันยายนนี้ ขณะนี้โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และใบยาได้ร่วมพัฒนาวัคซีน รุ่นที่ 2 เพื่อบูสเตอร์โดสรับมือกับเชื้อกลายพันธุ์อย่างเดลตา คาดจะทดสอบในคนช่วงเดือนธันวาคม และเมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการทั้งหมด คาดฉีดให้ประชาชนทั่วไปประมาณกลางปี 2565
ทั้งนี้กระบวนการผลิตวัคชีนที่ใช้พืชสามารถผลิตเป็นจำนวนครั้งละมาก ๆ ได้ และสามารถยกระดับจากการผลิตวัคซีนในห้องทดลอง มาเป็นการผลิตวัคชีนระดับอุตสาหกรรมได้ทันที ซึ่งโรงงานแห่งนี้จะสามารถผลิตยาและวัคซีนด้วยพืชสำหรับมนุษย์ถือเป็นแห่งแรกของเอเชีย หาก อย. อนุมัติก็สามารถผลิตวัคซีนใบยาได้ทันที จึงนับเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคระบาด สำหรับวัคซีนจากใบยาครั้งนี้ คาดราคาประมาณ 300-500 บาทต่อโดส แต่ถ้าผลิตในปริมาณมากราคาก็จะลดลงไปอีกเนื่องจากต้นทุนราคาไม่สูง
ในอนาคตไทยจะไม่ได้มีเพียงวัคซีน แต่จะมีแพลตฟอร์มการวิจัยพัฒนาและผลิตวัคซีนโควิด-19 ได้เอง สร้างความมั่นคงด้านสาธารณสุขไทย ไม่ว่าไวรัสจะกลายพันธุ์ไปอย่างไรก็สามารถปรับวัคซีนสู้ได้ทันที.-สำนักข่าวไทย