3 ก.ค. – อธิบดี พช. กำชับทุกจังหวัดเร่งรัดการจัดซื้อจัดจ้างโครงการ “โคก หนอง นา โมเดล” ย้ำต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ และประโยชน์สูงสุดต่อพี่น้องประชาชน
เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2564 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เปิดเผยว่า จากที่มีการนำเสนอข่าวโครงการโคกหนองนาโมเดล ในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม พบการขุดปรับพื้นที่แปลงของเกษตรกร ตำบลแคน อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม ผู้รับเหมาขุดผิดแบบ จึงมีข้อสงสัยว่าเหตุใดทางอำเภอจึงเลือกผู้รับเหมาที่ไม่มีความสามารถมาทำโครงการ ซึ่งเป็นการจัดซื้อจัดจ้างวิธีเฉพาะเจาะจง ขณะที่ผู้รับเหมาโครงการระบุว่า ปัญหาการคิดคำนวณค่าจ้างขุด เป็นปัญหาสำคัญของโครงการนี้ พร้อมอ้างว่าเจ้าหน้าที่ขอร้องให้นำรถขนดิน มาถ่ายภาพกับแปลงที่ขุด เพื่อเบิกเงินค่าทอยดินเพิ่ม ทั้งที่การทำงานจริงบางพื้นที่ใช้รถขนดินไม่ได้ รวมทั้งการเบิกจ่ายที่มีความล่าช้า แม้จะมีการส่งมอบงานไปแล้วนั้น
กรมการพัฒนาชุมชนได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงจากจังหวัดมหาสารคามแล้ว พบว่า โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคกหนองนาโมเดล” (งบเงินกู้) จังหวัดมหาสารคาม ได้รับการจัดสรรงบประมาณดำเนินการในพื้นที่ 11 อำเภอ 85 ตำบล รวมทั้งสิ้น 635 แปลง (พื้นที่ 3 ไร่) ดำเนินการขุดปรับพื้นที่เรียบร้อยแล้ว 587 แปลง เบิกจ่ายเงินแล้ว 390 แปลง อยู่ระหว่างรวบรวมเอกสารส่งเบิก 197 แปลง กำลังดำเนินการขุดปรับพื้นที่ 12 แปลง และยังไม่ดำเนินการขุด 36 แปลง และโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 จังหวัดมหาสารคาม ได้รับการจัดสรรงบประมาณดำเนินการทั้งสิ้น 324 แปลง แยกเป็นพื้นที่ 3 ไร่ จำนวน 105 แปลง และพื้นที่ 1 ไร่ 219 แปลง ดำเนินการขุดปรับพื้นที่เรียบร้อยแล้ว 316 แปลง เบิกจ่ายเงินแล้ว 237 แปลง อยู่ระหว่างรวบรวมเอกสารส่งเบิก 79 แปลง กำลังดำเนินการขุดปรับพื้นที่ 4 แปลง และยังไม่ดำเนินการขุด 4 แปลง
การดำเนินงานโครงการดังกล่าว พบว่าได้มีการดำเนินการขุดปรับพื้นที่เสร็จเรียบร้อยแล้วเป็นจำนวนมาก แต่ผลจากการเบิกจ่ายงบประมาณยังน้อยและมีความล่าช้า ในขั้นตอนการรวบรวมเอกสารรายงานผลจากช่างผู้ควบคุมงาน ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม ได้สั่งการให้นายอำเภอดำเนินการติดตามเร่งรัดผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเบิกจ่ายงบประมาณให้กับผู้รับจ้างโดยเร็ว พร้อมทั้งชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้รับจ้างทุกราย โดยในเบื้องต้น ผู้รับจ้างมีความเข้าใจเป็นอย่างดีแล้ว
นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการตรวจสอบกับผู้เข้าร่วมโครงการที่ถูกนำมาอ้างในข่าว คือ นางหนูเกิด ศรีนนเรือง บ้านแวงชัย หมู่ 3 ตำบลแคน อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งได้ยืนยันแล้วว่าการดำเนินการเสร็จเรียบร้อย เป็นไปตามแบบที่ตนเองต้องการหรือตามหลักภูมิสังคมแล้ว และเมื่อมีการดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็สวยงามถูกใจตนเองมาก ที่สำคัญสามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ในการเพาะปลูกหรือเลี้ยงปลาได้เป็นอย่างดีอีกด้วย ทางคณะกรรมการก็ตรวจรับไปแล้ว ไม่ได้มีปัญหาตามที่ถูกนำไปอ้างถึงแต่อย่างใด
ส่วนกรณีที่นายโชคชาย โฆตะมะ ตัวแทนผู้รับเหมาโครงการโคก หนอง นา จังหวัดมหาสารคาม ที่ออกมาให้ข่าวว่า ตนได้รับเงินค่าขุดดินตามโครงการฯ น้อยจากงบประมาณที่ตั้งไว้นั้น ทางจังหวัดมหาสารคามก็ได้ตรวจสอบข้อมูลการขุดปรับพื้นที่แปลงที่ถูกกล่าวถึงแล้ว พบว่าแปลงดังกล่าวมีพื้นที่ขนาด 3 ไร่ เป็นของผู้สมัครเข้าร่วมโครงการฯ คือ นางบัวพัน ทัดวงษ์ บ้านโนนทอง หมู่ที่ 7 ตำบลสันป่าตอง อำเภอนาเชือก จังหวัดมหาสารคาม มีรายละเอียดงานขุดปรับพื้นที่ตามรูปแบบรายการ งบประมาณ 104,000 บาท มีปริมาตรดินขุด 4,000 ลูกบาศก์เมตร (งานขุดดินด้วยเครื่องจักร บ่อที่ 1 จำนวน 516 ลูกบาศก์เมตร งานขุดดินขนย้ายระยะทางไม่เกิน 1 กิโลเมตร พร้อมเปรียบปรับแต่งบ่อที่ 1 จำนวน 384 ลูกบาศก์เมตร และงานขุดดินด้วยเครื่องจักร บ่อที่ 2 จำนวน 503.25 ลูกบาศก์เมตร งานขุดดินขนย้ายระยะทางไม่เกิน 1 กิโลเมตร พร้อมเตรียมปรับแต่งบ่อที่ 2 จำนวน 396.75 ลูกบาศก์เมตร งานขุดดินด้วยเครื่องจักร ขุดร่องน้ำ คลองส่งน้ำ คลองไส้ไก่ ความยาว 1.100 เมตร จำนวน 2,200 ลูกบาศก์เมตร)
ซึ่งทางอำเภอนาเชือกได้ทำสัญญาจ้างกับห้างหุ้นส่วนจำกัด บางแก้ว 2009 โดยทางห้างหุ้นส่วนฯ มอบหมายให้ นายโชคชัย โฆตะมะ เป็นผู้นำเครื่องจักรเข้าไปขุดปรับพื้นที่ตามโครงการดังกล่าว และจากการตรวจสอบผลการดำเนินงานขุดปรับพื้นที่ พบว่าผู้รับจ้างได้ทำงานขุดดินตามโครงการ ได้ปริมาตรดินขุดรวมทั้งสิ้น 2,016 ลูกบาศก์เมตร โดยคิดคำนวณปริมาตรจากงานขุดดินด้วยเครื่องจักร บ่อที่ 1 และบ่อที่ 2 และงานขุดคลองไส้ไก่ โดยไม่มีปริมาตรดินจากงานดินขุดขนย้าย ระยะทางไม่เกิน 1 กิโลเมตร พร้อมเกลี่ยปรับแต่ง บ่อที่ 1 และบ่อที่ 2 ตามที่ระบุในรูปแบบรายการมาคิดคำนวณร่วมด้วย แต่เนื่องจากผู้รับจ้างไม่ได้มีการขุดขนย้ายดินดังกล่าวจริง และจากการตรวจแนะนำของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินจังหวัดมหาสารคาม (สตง.) ได้ระบุว่า การเบิกจ่ายค่าขนย้ายดินจะเบิกจ่ายได้ต่อเมื่อ ผู้รับจ้างบริการขนย้ายโดยมีรถบรรทุกมาขนย้ายดินในการทำงานจริงเท่านั้น และต้องมีภาพถ่ายขณะดำเนินการไว้เป็นหลักฐานสำหรับการตรวจสอบด้วย แต่ในแปลงนี้ ผู้รับจ้างไม่มีการขุดขนย้ายดินจริง จึงทำให้ไม่สามารถนำมาเบิกจ่ายเงินให้กับผู้รับจ้างได้ จึงเป็นเหตุให้ผู้รับจ้างไม่พอใจและออกมาเรียกร้องต่อสื่อมวลชนตามข่าวที่ปรากฏ
และเมื่อวันอาทิตย์ที่ 1 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม ได้เชิญประชุมหัวหน้าส่วนราชการและนายอำเภอ เพื่อหารือข้อราชการที่สำคัญ โดยได้ติดตามความคืบหน้าโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ โคกหนองนาโมเดล และโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง โดยเน้นย้ำให้เร่งรัด การเบิกจ่ายงบประมาณให้กับผู้รับจ้างโดยเร็ว และหากมีปัญหา อุปสรรค หรือข้อจำกัดใดๆ ให้รายงานจังหวัดทราบโดยด่วน เพื่อจะได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพต่อไปด้วย
นอกจากนี้ กรมการพัฒนาชุมชน ยังได้กำชับให้สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด เร่งรัดการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างให้เป็นไปตามขั้นตอนและระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด โปร่งใส ตรวจสอบได้ พร้อมทั้งให้ปฏิบัติตามกลไกเฝ้าระวังการใช้จ่ายงบประมาณตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐอย่างเคร่งครัด เพื่อให้การดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคกหนองนาโมเดล” มีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อพี่น้องประชาชนอย่างแท้จริง นายสุทธิพงษ์กล่าวย้ำในตอนท้าย . – สำนักข่าวไทย